Select Page

V for Vendetta

V for Vendetta

เป็นอีกครั้งที่ “หน้ากาก กาย ฟอว์กส์” (Guy Fawkes mask)” ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงพลังแห่งความไม่เห็นด้วยกับระบบระบอบบางอย่างหน้ากากนี้ถูกทำขึ้นตามรูปหน้าของ“กาย ฟอว์กส์” ผู้วางแผนการลอบสังหารพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เนื่องจากต้องการให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้รับสิทธิเท่าเทียมกับโปรแตสแตน และเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ปกครองประเทศโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากเขาก็ถูกจับได้ และโดนประหารชีวิตในที่สุด 

                        จุดประสงค์แรกเริ่มของการใส่หน้ากากนี้ คือ เพื่อเฉลิมฉลองในวันกาย ฟอว์กส์ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ของทุกปี วันที่ฟอว์กส์มีแผนการจะระเบิดรัฐสภา แต่ในปี พ.ศ. 2525 เมื่อ “อลัน มัวร์”กับ”เดวิด ลอยด์” แต่งนิยายภาพเรื่อง “”V for Vendetta”” บอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษในอนาคตที่ล่มสลาย โดยมีชายลึกลับผู้สวมหน้ากากนี้ และเรียกตัวเองว่า “V” ออกมาเคลื่อนไหวทำลายระบอบการปกครองที่เผด็จการของรัฐบาล แล้ว”วอร์เนอร์ บราเธอร์ส” นำเรื่องดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “V for Vendetta” กำกับโดย “เจมส์ แมคเทียค” หน้ากาก กาย ฟอว์กส์ ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตัวของภาพยนตร์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องของกาย ฟอว์กส์ ที่เล่าเรื่องโดยมีแบ็คกราวน์เป็นประเทศอังกฤษที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หญิงสาวชนชั้นล่าง “อีวี่ย์” “(นาตาลี พอร์ตแมน)” ได้รับความช่วยเหลือจาก “วี” “(ฮิวโก้ วีฟวิ่ง)” ชายผู้สวมหน้ากากให้รอดพ้นจากความตาย อีวี่ย์กลายมาเป็นผู้ช่วยของวี ที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการจะต่อต้านรัฐบาลเผด็จการและปลดปล่อยประชาชนทุกคนให้มีอิสระเสรี เขาสังหารบุคคลสำคัญของรัฐไปมาก รวมถึงวางแผนระเบิดรัฐสภา เช่นเดียวกับ กาย ฟอว์กส์ตัวจริง ด้วยบทภาพยนตร์ที่มีชั้นเชิง คำพูดแฝงนัยยะต่างๆ มากมายให้ขบคิด จึงทำให้ความสนุกที่เกิดจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือการติดตามความคิดและการกระทำต่างๆ ของตัวละครที่น่าสนใจ

และถึงแม้ว่าหน้าหนังจะดูเหมือนกับเป็นแอ๊กชั่นก่อการร้าย หากแท้จริงแล้วกลับเป็นหนังที่เต็มไปด้วยความคิดและฉากอารมณ์มากมาย ซึ่งการได้นักแสดงนำชั้นยอดมาสวมบทบาทยิ่งออกมาสมจริงน่าติดตาม

ตัวหนังนอกจากจะมีเรื่องราวความสัมพันธ์อันคลุมเครือน่าค้นหาของวีและอีวี่ย์แล้ว ยังสะท้อนความคิดเรื่องศาสนา การต่อสู้ การก่อการร้าย รักร่วมเพศ รวมถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าของชายคนหนึ่งที่ต้องการต่อต้านความอยุติธรรม และมีอีกหลายคำพูดชวนแรงๆ ชวนคิดเกี่ยวกับการปกครองทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการอีกด้วย

“โดยเฉพาะประโยคจำอย่าง “ประชาชนไม่ควรกลัวรัฐบาลของตนเอง รัฐบาลต่างหากที่ควรกลัวประชาชน” นั่นล่ะ”

“วี” ผู้สวมหน้ากาก กาย ฟอว์กส์ ในหนังจึงเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของผู้นำทางความคิดและการต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม

ซึ่งหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ออกไปในปี 2549 ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในแง่ที่ตัวภาพยนตร์สื่อสารบางอย่างออกมาได้อย่างชัดเจน หากขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ออกมาประท้วงเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยใส่หน้ากากกาย ฟอว์กส์ เช่นกัน

ตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนว่า หน้ากากกาย ฟอว์กส์ จะถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบที่ฉ้อฉลและกดขี่

อย่างในปี 2552 ที่หน้ารัฐสภา อังกฤษ ได้มีกลุ่มผู้ประท้วงใส่หน้ากากนี้แล้วระเบิดถังดินปืนปลอมเพื่อประท้วงกรณีค่าใช้จ่ายของสมาชิกรัฐสภา

ในระหว่างการประท้วงที่วิสคอนซิน ในปี 2554 หรือเหตุการณ์ Occupy Wall Street ก็มีการนำหน้ากากนี้มาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก่อกบฏ ปี 2555 ก็ถูกใช้อีกครั้งในการประท้วงต่อต้านโปแลนด์เซ็นสัญญาเข้าร่วม ACTA

 

หรือจะที่มุมไบ อินเดีย ปี 2555 ที่สมาชิกกว่า 100 คนของกลุ่ม Anonymous และนักเรียน แต่ชุดดำและสวมหน้ากากนี้มารวมตัวกันที่ Azad Maidan เพื่อต่อต้านการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตของรัฐบาลอินเดียก็มี

บ้านเราเองเมื่อต้นปีก็มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งใช้หน้ากากนี้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อประท้วงในกรณีการแบนละครเรื่อง””เหนือเมฆ2″” และตอนนี้ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งในทางการเมือง โดยฝั่งหน้าใช้หน้ากากสีขาว ขณะอีกฝั่งตอบโต้ด้วยหน้ากากสีแดง“เป็นการแย่งชิงสัญลักษณ์ “V for Vendetta” แบบไม่มีใครยอมใคร”

 

ผลพลอยได้

เพราะช่วงชิงทั้งพื้นที่่ข่าวกระแสหลักและตามเฟซบุ๊ก ตอนนี้ “หน้ากากขาว” จากหนัง “V for Vendetta” เลยฮิตสุดสุด จนมีแต่คนตามหากันให้ควั่ก  หลายร้านที่มีจำหน่าย ทั้งในรูปของ”ของเล่น” และ”ของสะสม” โดยผู้ขายรายหนึ่งเล่าว่า ก่อนหน้านี้เดือนหนึ่งถ้าขายได้สัก 10 อันก็หรูแล้ว ทั้งนี้ คนที่มาซื้อส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่อยากได้ไปสะสม แต่ ณ วันนี้คนซื้อกลับเป็นคนอายุมากขึ้น แถมสั่งทีนึงก็ 300-500 อัน ล่าสุดมีออเดอร์มา5,000 อัน ให้ไปส่งที่สนามหลวง  แต่เขาไม่มีให้ เพราะหลายชิ้นเกิน หากยังอุตส่าห์แนะนำว่าถ้าใครอยากได้จริงๆ ก็ให้ไปร้านขายหน้ากากแฟนซีในย่านสำเพ็ง ซึ่งน่าจะหาได้ในราคา 70-80 บาทต่อชิ้น  แต่ช่วงนี้อาจจะแพงขึ้นอีกนิด “ก็ตามกระแสนั่นละ”

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2556 หน้า 24

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.