เมืองแห่งศรัทธา
จะมีสักกี่แห่งในโลกนี้ ที่พุทธศาสนิกชนพากันมุ่งหน้าเดินทางไปแสวงบุญให้ได้สักครั้ง หรือหลายๆ ครั้งในชีวิตเมื่อมีโอกาส และจะมีสักกี่แห่งในโลกนี้ ที่เราจะได้เห็นการแสดงออกซึ่งความนับถือศรัทธา ด้วยลักษณะที่แปลกตาไปจากที่เราเคยเห็นและสัมผัสได้ในประเทศไทย แต่ที่เนปาลดิฉันได้เห็น..ได้ยิน และได้สัมผัสกับแรงศรัทธาเหล่านี้ ตามศาสนสถานสำคัญหลายต่อหลายแห่ง จนต้องเรียกขานเนปาล ว่า”เมืองแห่งศรัทธา”ค่ะ
อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วในเนปาลตอนที่ 1 ว่า เมืองหลวงของเนปาล คือ กาฐมาณฑุ นั้น เป็นที่ตั้งของอดีตราชธานีถึง 3 ยุค 3 สมัย ก็คือ ปาฏาน ภัคตาปุร์ และขันติปุร์ ค่ะ พาไปเที่ยวจตุรัสดูบาร์และเมืองปาฏานไปแล้ว ตอนนี้จะเล่าให้ฟังเรื่องเมือง “ภักตาปุร์” ซึ่งมีความหมายว่า The City of Devotes หรือ เมืองแห่งผู้มีจิตศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าอานันแห่งราชวงศ์มัลละสร้างเมืองนี้ขึ้นในศตวรรษที่ 9 เป็นนครหลวงในอดีตกาล และเป็นเส้นทางการค้าสู่ทิเบต ที่ปัจจุบันก็ยังมีมนต์ขลังอยู่ค่ะ
จากลานจอดรถบัส เราต้องเดินขึ้นเนินเขาไปสักพักกว่าจะถึงเขตพระราชวังซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองโบราณ แต่ไม่เหนื่อยหรอกค่ะ เพราะตามประสาคนไทย เดินไป ถ่ายรูปไป ดูร้านรวงขายของที่ระลึกไปเพลินๆ บริเวณทางขึ้นเลยเราจะเห็นบ่อน้ำ แห้งๆ อยู่ มัคคุเทศก์บอกว่า มันคือบ่อน้ำ สำหรับคนในวรรณะ “จัณฑาล” ค่ะ เป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีหญิงเนปาลี นำ ภาชนะมารองน้ำใช้ได้อยู่ ทั้งๆ ที่แห้งขนาดนั้น เข้าใจว่าจะมีการเปิดปิดน้ำ ส่งมาตามท่อให้ใช้ได้อยู่ ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่มีค่านิยมเรื่องวรรณะเหมือนสมัยโบราณแล้วก็ตาม พอสูงขึ้นไปหน่อยก็จะมีบ่อน้ำสำหรับคนในวรรณะอื่นๆ สูงขึ้นไปตามลำดับด้วยค่ะ
เมื่อถึงลานกว้างก่อนเข้าไปในพระราชวัง ก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกตา สวยงามมากเลยค่ะ คนเนปาลเองและนักท่องเที่ยวเดินไปมาปะปนกันอยู่เต็มไปหมด บ้างก็นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจอยู่ตามบันไดหรือฐานของอาคารต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งก็เป็นบรรยากาศที่เห็นได้ตามโบราณสถานแทบทุกแห่งของเขา เพราะคนเนปาลเขาใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างผูกพันใกล้ชิด ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของที่ต้องมีระยะห่าง หรือยกไว้สูงสุด ห้ามเข้าใกล้ ห้ามเข้าไปนั่งๆนอนๆ ซึ่งถ้าเป็นคนไทยจะรู้สึกว่าเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
มัคคุเทศก์ พาเราเดินผ่านประตูทองคำ ซึ่งเป็น ประตูที่มีการแกะสลักงดงามและสมบูรณ์ที่สุด หนึ่งในไม่กี่แห่งในโลก ซึ่งนอกจากจะนำ เข้าไปสู่ลานพระราชวัง 55 พระแกล ซึ่งกษัตริย์ภูบดินทร์มัลละ สร้างขึ้นโดยให้มีหน้าต่าง 55 บานตามจำนวนพระมเหสีแล้ว ยังเชื่อกันว่า ใครได้ลอดประตูทองคำนี้แล้ว เสมือนได้ชำระล้างบาปอีกด้วย พระราชวังที่งดงามวิจิตรนี้สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีแล้ว และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ค่ะ
ภายในเขตพระราชวังนี้มีบางจุดที่อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะผู้นับถือศาสนาฮินดูค่ะ นั่นก็คือ วังประตูทอง ซึ่งเป็นที่ประทับของ “เจ้าแม่ตาลีจู” ที่ชาวเนปาลถือว่าศักดิ์สิทธิ์เหนือสิ่งใด พระราชรัตนรังษี เล่าไว้ในหนังสือ “จาริก..เนปาล” ว่า “… เมื่อถึงเทศกาลบูชาเจ้าแม่ทุรคา จะนำ มหิงสะ คือควายที่มีชีวิตจำนวน108 ตัว เข้าไปตัดคอบูชายัญ…”ด้วย จุดนี้เราก็ได้แต่เมียงๆมองๆ อยู่หน้าประตูทองเท่านั้น ยกกล้องขึ้นมาสูงๆ ยังไม่ได้เลยค่ะ ทหารที่เฝ้าอยู่หน้าประตูจะทำท่าห้ามอย่างแข็งขันทันที แทบจะเดินเข้ามาดึงกล้องไปจากมือเลยด้วยซ้ำ ดิฉันก็เลยต้องรีบๆ เดินผ่านไปดูที่อื่นที่สบายๆ ดีกว่า(เดี๋ยวอดคันไม้คันมือยกกล้องขึ้นมาปุ๊บ ก็คงจะหมดเครื่องมือทำมาหากินกันพอดี) นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อความศรัทธาที่ศาสนิกชนมีต่อศาสนาที่ตัวเองนับถือ ไม่ว่าจะแสดงออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับ และเป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้ทั้งสิ้นค่ะ ก่อนกลับก็หาร้านเครื่องดื่มและของว่าง รองท้องกันเล็กน้อย ก่อนจะลาจากมาด้วยความสุขใจ
ภายในกรุงกาฐมาณฑุ ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่ง สมเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม และอีกหนึ่งในศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ที่ดิฉันได้ไปสัมผัสความศรัทธา ก็คือ สถูปโบฏนาถ หรือ สถูปพุทธนาถ นั่นเองค่ะ
สถูปโบฏนาถ ที่มีความสูงจากฐานถึงยอด 36 เมตรนี้ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล มีฐานลักษณะครึ่งวงกลมค่อยๆ ลาดลงเป็น 3 ระดับ ล้อมรอบฐานสถูปด้วยพระพุทธรูป 108 องค์ ซุ้มคูหา 147 คูหา ชาวพุทธนิยมไปสวดมนต์ ภาวนา หรือเดินประทักษิณไปโดยรอบอย่างสงบนิ่ง แม้แสงแดดจะร้อนเพียงใด ก็ไม่สามารถทำลายสมาธิแห่งชาวพุทธได้ แม้แต่คณะของเราซึ่งมีเวลาอยู่ที่นั่นน้อยนิด ก็ยังตั้งจิตสำรวมกายวาจา และเดินสวดมนต์อธิษฐานไป 3 รอบ ได้เกือบทุกคน เขาบอกว่าถ้ามีสมาธิมากๆ อธิษฐานอะไรก็จะสัมฤทธิ์ผลค่ะ ดิฉันก็ตั้งใจเต็มที่ แต่ไม่บอกหรอกว่าอธิษฐานขอพรอะไรไปบ้าง ไว้ประสบผลจริงๆ แล้วจะมาเฉลยนะคะ
บริเวณสถูปโบฏนาถ เป็นแหล่งชุมนุมของชาวพุทธทิเบต ที่อพยพเข้ามาในปี 2502 มีสถาบันการศึกษาของพระลามะทิเบต สายท่านริมโปเช ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้กลับชาติมาเกิด ระลึกชาติได้ และสืบสานพระพุทธศาสนาแบบวัชรยานอย่างเข้มแข็งที่นี่ แต่นอกจากพระลามะทิเบต แล้ว จะเห็นนักบวช จากภูฏาน และอินเดีย ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทุกชาติทุกภาษามาแสวงบุญกันอย่างไม่ขาดสาย
การแสดงออกซึ่งความศรัทธาอีกอย่างหนึ่ง คือ การเดินหมุน Prayer Wheel หรือกงล้อใหญ่น้อยที่อยู่รายรอบฐานของมหาสถูป ซึ่งมีทั้งหมด 658 กงล้อค่ะ ทำ จากวัสดุต่างกัน ทั้ง กระดาษ ไม้ และโลหะ ใครเดินหมุนไปรอบๆตามเข็มนาฬิกาได้ครบ อย่างมีสมาธิ ก็นับว่าน่าทึ่งมาก ในวงล้อบรรจุคาถา “โอม มณี ปัดเม ฮุม” เห็นผู้ปฏิบัติเขาอเาจริงเอาจังมาก เดินสาธยายพระคาถาศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับหมุนกงล้อแบบไม่สนใจใคร ดิฉันเองก็พยายามบ้าง แต่พอเห็นเวลาจวนเจียน แล้วยังต้องทำสกู้ปข่าวแข่งกับเวลาด้วยแล้ว ก็เลยได้หมุนอยู่ไม่กี่กงล้อเองค่ะ
สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฎอยู่บนยอดสถูปทั้ง สถูปโบฏนาถนีและปูชนียสถานสำคัญอื่นๆ ทั่วเนปาล ก็คือสัญลักษณ์รูปดวงตาเห็นธรรม หรือ Wisdom Eyes ของพระพุทธเจ้าอยู่โดยรอบทั้ง 4 ด้าน ในหนังสือ “จาริก..เนปาล” พระราชรัตนรังษีอธิบายไว้ว่า “..ตานี้ เรียกว่า สมันตจักษุ ซึ่งหมายถึงตาที่เห็นได้โดยรอบ รู้แจ้งเห็นจริงไม่ติดขัด ไม่ว่าจะไปที่ใดในเนปาล หากมีเจดีย์จะต้องมีตาทั้ง 4 ด้าน รวมจักษุ 8 ดวงทุกแห่งไป โดยมีความเชื่อในพุทธเนตรว่า พระพุทธเจ้าทรงคอยตรวจดูสุขทุกข์ของสัตว์โลกอยู่เสมอด้วยแผ่พลังพระกรุณาคุณต่อปวงสัตว์ทุกชาติชั้น…”
ดิฉันเดินทางออกจาก สถูปโบฏนาถ มาด้วยความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก เสียงสวดมนต์ภาวนาดังอยู่ตลอดเวลา วงล้อแห่งมนตราหมุนไม่เคยหยุด กลิ่นธูป กำยาน น้ำมันเนย จุดสว่างตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน พิสูจน์ให้เห็นแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา และดวงตาที่สถิตรอบจตุรทิศ ยังคงส่องโลกให้สว่างเห็นทางแห่งสัจธรรม
คลิกชมคลิป วีดีโอ