Select Page

วัดไทยลุมพินี

วัดไทยลุมพินี

ที่ใดมีชาวพุทธที่นั่นย่อมต้องมีวัดเป็นที่อยู่ของสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และประกอบกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา ด้วยวัดนั้นผูกพันกับชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นอกจากวัดในเมืองไทยจะต้องทำหน้าที่เป็นสถาบันสำคัญของสังคมอย่างเข้มแข็งแล้ว วัดในต่างประเทศก็ยิ่งต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน และยังถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยพุทธศาสนาเฉกเช่น วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งเดียวในแดนประสูติแห่งพระพุทธเจ้า

เรื่อง/ภาพ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

           พระอุโบสถจตุรมุขสีขาว โดดเด่นเป็นสง่า งดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติและราชบัณฑิต ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นสัญลักษณ์สำ คัญของวัดไทยลุมพินี ในพุทธอุทยานลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ห่างจากสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าเดินเท้าก็ใช้เวลาเพียง 20 นาที หรือจะเดินทางเข้าไปเป็นหมู่คณะโดยรถบัสก็สะดวกสบาย

           วัดไทยลุมพินีสร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ.2538 และเพื่อรองรับชาวไทยที่เดินทางมาแสวงบุญยังลุมพินีวันอย่างไม่ขาดสาย โดยได้เช่าพื้นที่ 13 ไร่เศษ จากรัฐบาลเนปาล เป็นระยะเวลา 99 ปี

            พระราชรัตนรังษี พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างวัดไทยในดินแดนพุทธภูมิว่า ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นชนชาติที่มีความเจริญทางจิตใจ ด้วยมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทางอย่างสำคัญ เมื่อชาวต่างชาติต่างภาษาได้เห็นวัตรปฏิบัติที่งดงามของพระสงฆ์ไทย เห็นความดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทยที่เดินทางมาเนปาล ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความดีความงามของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยรวมด้วย

           ท่านได้บันทึกการเริ่มต้นของวัดไทยลุมพินีไว้ในหนังสือ “จาริก..เนปาล” ว่า “…สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาประกอบพิธีทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2538…และได้ประทานพระโอวาทในวันวางศิลาฤกษ์ ความตอนหนึ่งว่า ……การที่อาตมาได้เดินทางมาในครั้งนี้ โดยที่พระมหากษัตริย์และรัฐบาลไทย กำหนดที่จะสร้างวัดไทยขึ้นในตำบลที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือลุมพินี โดยที่รัฐบาลเนปาล จัดแบ่งที่ในตำ บลนั้น เพื่อให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ซึ่งมีเมืองไทย เป็นต้น ได้สร้างวัดของตนขึ้น ทางด้านประเทศไทย พร้อมทั้งประชาชนชาวไทย จึงได้รับที่จะสร้างวัดของตนขึ้นในตำ บลนี้…….จึงขอให้เราทั้งหลายซึ่งเป็นชาวไทย จงอนุโมทนาสาธุการแด่พระมหากษัตริย์และรัฐบาล พร้อมกับประชานชาวเนปาล ที่อำนวยให้มีการสร้างวัดไทยขึ้นในถิ่นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมานี้โดยทั่วกัน”

            หลังจากนั้นวัดไทยลุมพินีก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง นับตั้งแต่การปรับระดับพื้นดิน สร้างกำแพงรอบวัด หอฉัน หอสวดมนต์ และกุฏิสงฆ์ ระบบสาธารณูปโภคทุกอย่างให้เกิดความสะดวกพอเหมาะพอควร นอกจากนี้ยังมีการปรับตกแต่งภูมิทัศน์บริเวณวัดให้สวยงาม ปลูกดอกไม้ ต้นไม้สำคัญตามพุทธประวัติ สร้างความร่มรื่นเป็นอย่างมาก ที่สำคัญเริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่ทั้งที่อยู่ประจำ และที่สลับสับเปลี่ยนกันมาเป็นวาระ ทำให้วัดไทยสมบูรณ์พร้อมในความเป็นวัดมากยิ่งขึ้น
            โดยนอกจากวัดไทยลุมพินีจะทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้เป็นศูนย์กลางแห่งการเอื้อเฟื้อแบ่งปันในชุมชนโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา อีกด้วย
 

 

             สิ่งที่ดิฉันได้เห็นกับตาคือ มีเด็กๆเนปาลี มานั่งสวดมนต์บริเวณทางเข้าวัดทุกเช้าและเวลาที่มีผู้มาเยือน เสียงท่อง “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต ฯลฯ ไปจนอิติปิโสฯลฯ” เจื้อยแจ้ว ดูก็รู้ว่าไม่ได้มีสมาธิอะไรมากมายท่องๆไปตามประสาเด็ก แต่เนื้อตัวที่มอมแมมและแววตาร้องขอความเห็นใจ ก็มักทำให้ผู้ใหญ่อดให้เงินรูปีเล็กๆน้อยๆ ไม่ได้ นั่นก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของเด็กๆแล้ว ส่วนหลวงพ่อที่วัดก็ไม่ได้ดุอะไร ดีเสียอีกที่อย่างน้อยพวกเขาก็เรียนรู้การสวดมนต์ไหว้พระแบบชาวพุทธเถรวาท ทั้งๆ ที่บางครอบครัวก็นับถือศาสนาฮินดูและบางครอบครัวที่นับถือพุทธก็จะเป็นพุทธแบบมหายาน

             ชาวเนปาลีที่อยู่รอบๆ วัดมีฐานะยากจน เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเล็กๆน้อยๆ ดังนั้น วัดไทยลุมพินี จึงมีส่วนช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้พวกผู้ใหญ่ ด้วยการจ้างแรงงานมาทำความสะอาด งานครัว งานดูแลต้นไม้ และปลูกผัก ค่าจ้างขั้นต่ำก็อยู่ทึ 70-80 บาทต่อวัน ถ้าแรงงานฝีมือขึ้นมาหน่อยประเภทช่างไม้ ช่างไฟ ก็จะได้ค่าจ้าง 150-160 บาทต่อวันค่ะ

            ที่สำคัญเคยมีชาวเนปาลีมาบรรพชาและอุปสมบทในวัดไทยอีกด้วยเพียงแต่บวชแล้วต้องส่งไปเรียนที่ศรีลังกาหรืออินเดียก่อนเพราะการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ตลอดจนการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมและภาษาที่ใกล้เคียงกันจะทำให้บรรลุผลมากกว่า จากนั้นเมื่อต้องการจะมาจำพรรษาที่วัดไทยลุมพินีในภายหลังก็สามารถทำได้

             ในแต่ละปีมีคนไทยเดินทางมาแสวงบุญยังสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจำนวนมาก โดยระหว่างปีพ.ศ. 2552-2553 มีประมาณ 50,000 คน และในจำนวนนี้มีถึง18,000 กว่าคนที่มาพำนักอยู่ที่วัดไทยลุมพินี รวมทั้งดิฉันที่มีโอกาสไปพักที่นั่นถึง 2 คืน ได้กินข้าววัด ได้นอนวัด ซึ่งห้องพักมีลักษณะคล้ายเป็นกุฏิ มีเตียงนอน 2 เตียง ห้องน้ำ ในตัว ช่วงที่ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอากาศยังหนาวอยู่ ก็มีน้ำอุ่นให้อาบด้วยนะคะ ถึงแม้จะอุ่นบ้างเย็นบ้างแบบบังคับเครื่องทำ น้ำอุ่นไม่ได้ดั่งใจเท่าไร แต่ก็จัดว่าเป็นวัดที่ฆราวาสผู้ยังละกิเลสไม่ได้อยู่กันอย่างสบายเลยล่ะค่ะ

   

           นี่คือภารกิจอันหลากหลายตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ของวัดไทยลุมพินี ที่ได้สร้างชื่อเสียงรับใช้ประเทศชาติ และรับใช้พระบรมศาสดาในดินแดนกำเนิดแห่งพุทธองค์

คลิกชมคลิปวีดีโอ
 
 

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.