Select Page

ก้าวแรกแห่งพุทธประวัติ

ก้าวแรกแห่งพุทธประวัติ

ครั้งแรกในชีวิตที่ดิฉันได้ไปเยือนสถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า  แสงแดดอ่อนๆ สายลมพัดเย็น และมีเสียงสวดมนต์ภาวนาดังลอยลมมาจากผู้นั่งปฏิบัติธรรมอยู่ใต้ต้นโพธิ์อายุนับร้อยปี ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งสงฆ์และฆราวาสที่มาแสวงบุญ ต่างเดินศึกษาร่อยรอยแห่งพุทธประวัติกันอย่างตั้งใจ  ทำให้บริเวณวิหารมายาเทวีและสถานที่สำคัญบริเวณโดยรอบ ภายในอุทยานลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

 

 เรื่อง/ภาพ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

          “ดูก่อนอานนท์  โพธิสัตว์คลอดแล้วเช่นนี้  เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ  ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ  ก้าวไปเจ็ดก้าว มีฉัตรขาวกั้นอยู่เบื้องบน ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย  และกล่าววาจา ประกาศความสูงสุดว่า  เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก  เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก   เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย  ภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว”

          พุทธวาจาเรื่องการประสูติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 2,500 ปี ภายในพุทธอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งชาวพุทธอย่างดิฉัน ก็ได้ร่ำเรียนจากตำราวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วก็เคยคิดแบบเด็กๆ ว่าเรื่องราวในพุทธตำนานนั้นช่างเต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์น่าสนุกเหลือเกิน

          วันนี้เมื่อมีโอกาสมาถึงสถานที่สำคัญที่ได้รับการยืนยันว่า เป็นสถานที่กำเนิดแห่งมหาบุรุษ ผู้เป็นพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา  และค่อยๆซึมซับกระแสแห่งศรัทธาจากผู้คนที่หลั่งไหลมาแสวงบุญกันไม่ขาดสาย   ได้เห็นร่องรอยแห่งการขุดค้นทางโบราณคดี ที่เป็นเครื่องหมายแห่งความศักดิ์สิทธิ์ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย  อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจเกิดความสงบ  และเกิดความตระหนักรู้มากขึ้นว่า เราชาวพุทธ ควรเรียนรู้และร่วมกันบันทึกเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์นี้ต่อไปอย่างไรบ้าง 

            ภายในบริเวณวิหารมายาเทวี  ประกอบไปด้วยตัววิหาร ภายนอกมีลานโล่งกว้าง มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งมีคนนั่งสวดมนต์ หรือนั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่โดยรอบฐานต้นโพธิ์   เมื่อเดินไปถึงด้านทิศตะวันตกของวิหาร จะเห็นเสาศิลาอันน่าเกรงขาม สูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 7 ฟุต 3 นิ้ว และหยั่งรากลึกลงดินประมาณ 10 ฟุต  ตั้งขึ้นตามบัญชาของพระเจ้าอโศกมหาราช  หลังพุทธปรินิพพานได้ 236 ปี ตามคำยืนยันของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ  เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า  แต่ภายหลังนักโบราณคดีที่ศึกษาค้นคว้าพุทธประวัติมาเป็นเวลานานค้นพบหลักฐานใหม่ว่า  แผ่นศิลาขนาด 5 คูณ 5 นิ้ว ภายในบริเวณวิหารมายาเทวี น่าจะเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าประสูติมากกว่า  ส่วนเสาอโศกภายนอก นั้นเป็นเพียงอนุสรณ์ในการเสด็จมาของพระเจ้าอโศกเท่านั้น  

            เหตุผลอย่างหนึ่งที่ได้รับการอธิบายก็คือ คำแปลจากอักษรโบราณที่จารึกไว้ที่เสาอโศกว่า “ทรงโปรดให้ประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย” ซึ่งเข้าใจกันว่าคือเสาศิลานั้น  อาจจะคลาดเคลื่อนไป  เพราะในเวลาต่อมา ได้มีการอนุรักษ์วิหารมายาเทวี  โดยถอนต้นโพธิ์ที่ขึ้นอยู่บนวิหาร เนื่องจากรากได้เข้าไปชอนไชทำลายโบราณสถานดังกล่าว ปรากฏพบว่าในศูนย์กลางแห่งวิหารมายาเทวี มีห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ 15 ห้อง สร้างอยู่โดยรอบ โดยมีศูนย์กลางของห้องกลางสุด มีหินขนาดย่อมก้อนหนึ่ง ซึ่งลักษณะของการวางนั้น เป็นการวางไว้โดยตั้งใจไว้บนที่ตั้ง และเป็นชนิดของหินที่ไม่มีในละแวกนี้   และยังพบว่าโครงสร้างของวิหารแห่งนี้ในแต่ละยุคสมัย ก็จะถือจุดนี้เป็นศูนย์กลางอย่างสำคัญ  นอกจากนี้ยังพบว่า รอบนอกของห้องทั้ง 15 ห้อง มีทางเดินโดยรอบ น่าจะเป็นทางประทักษิณ จึงเป็นข้อสันนิษฐานใหม่ว่า แท้จริงแล้ว ศิลาที่พระเจ้าอโศกมหาราชมีบัญชาให้ทำสัญลักษณ์สถานที่ประสูติไว้  น่าจะเป็นศิลาขนาด 5 คูณ 5 นิ้วนี่เอง

            มายาเทวีวิหารมีอายุประมาณ 1,000 ปี ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ตามแผนพัฒนาลุมพินีเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยสร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมสีขาว ความยาว 28.4 เมตร สูง 5.3 เมตร ใช้งบก่อสร้างประมาณ  63 ล้านรูปี หรือประมาณ 40 ล้านบาท ส่วนบนมีอาคารขนาดเล็กตั้งซ้อนขึ้น บนยอดเป็นเจดีย์แบบเนปาล   ดิฉันและชาวคณะที่เข้าไปภายในวิหาร ต่างก็ไปยืนสงบนิ่งมองสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ  นอกจากแผ่นศิลาที่เขาทำตู้กระจกมาครอบรักษาไว้อย่างดีและติดตั้งไฟส่องสว่างแล้ว ยังมีรูปสลักบนแผ่นหิน เป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดายืนเหนี่ยวกิ่งสาละ โดยมีเจ้าชายสิทธัตถะกุมาร ย่างพระบาทไปบนดอกบัวอยู่ข้างๆ เป็นรูปแกะสลักเรื่องราวพุทธกำเนิดที่ชาวพุทธรับรู้เรื่องราวเป็นอย่างดี

            ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ก่อนที่ชาวคณะจะออกจากวิหาร ต่างคนต่างก็ลงนั่งทำสมาธิกันชั่วขณะ โดยมิได้นัดหมาย ราวกับว่าจะซึมซับเอาพลังแห่งพุทธคุณซึ่งแผ่ซ่านอยู่ภายในวิหารศักดิ์สิทธิ์นี้กันให้เต็มที่นั่นเอง

             ออกมาภายนอก ยังมีสระน้ำโบราณอีกแห่งหนึ่งอยู่ข้างวิหาร คือสระโบกขรณี ที่ตรงกับเรื่องราวในพุทธประวัติว่าพระนางสิริมหามายาได้สรงน้ำก่อนถวายการประสูติพระราชกุมาร ชาวบ้านมักนำน้ำในสระนี้มาลูบใบหน้า ลูบศีรษะ หรือนำกลับไปดื่ม ไปบูชาที่บ้านด้วยความศรัทธายิ่ง

            วิหารมายาเทวีนี้อยู่ภายในพุทธอุทยานลุมพินินีวัน  1 ในสังเวชนียสถาน คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน แต่หากไม่มีก้าวแรกแห่งพระบรมศาสนาที่ลุมพินี ก็คงไม่มีสถานที่อื่นๆ ตามมา ปัจจุบันมีชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางไปแสวงบุญที่ลุมพินีอย่างไม่ขาดสาย ด้วยหวังจะตามรอยพระพุทธบาทพระศาสดาอย่างใกล้ชิด แต่แม้ไม่อาจเดินทางไปถึง  หากพุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ตามคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ก็นับได้ว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้ดำรงอยู่อย่างงดงาม  สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลกนี้ตลอดกาลนาน 
คลิกชมคลิปวีดีโอ

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.