Select Page

เนปาล พิพิธภัณฑ์ชีวิต

เนปาล พิพิธภัณฑ์ชีวิต

ประเทศเนปาล ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย  นอกจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว  ความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม  โดยเฉพาะการเป็นประเทศต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนา  ทำให้ มรดกโลกทางวัฒนธรรมหลายแหล่งอยู่ในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ และเป็นจุดมุ่งหมายที่นักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต้องการมาเยือน  แต่สิ่งที่ชาวเนปาลเองยังอดเป็นห่วงไม่ได้  คือการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเนปาล อนุรักษ์ความเป็นมรดกโลกนี้ไว้ ให้คงอยู่ไปอย่างยาวนาน  

เรื่อง/ภาพ : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

           หุบเขากาฏมาณฑุ เป็นที่ตั้งของราชธานีเก่าของเนปาล 3 ยุคสมัย ได้แก่ ปาฏาน  ภัคตาปุร์ และขันติปุร์ ค่ะ  ใครไปครั้งแรกเหมือนกับดิฉันก็คงจะงงอยู่บ้าง เพราะไม่สามารถแยกเมืองหลวงเก่าทั้ง 3 เมือง ซึ่งมีพื้นที่ซ้อนทับกันอยู่ออกจากกันอย่างชัดเจนได้  และที่แน่ๆ ก็คือ แต่ละเมืองล้วนมีความเก่าแก่ และวิจิตรงดงามไม่แพ้กัน  อาศัยว่าเดินตามมัคคุเทศก์และฟังเขาบรรยายไปอย่างรวดเร็ว และรีบมองหาจุดสำคัญ เพื่อใช้เป็นฉากหลังยืนรายงานข่าวก่อน แล้วค่อยมาเก็บรายละเอียดด้วยการสอบถามหรือค้นคว้าหนังสือเพิ่มในภายหลัง

          

            ปาฏาน หรือ ปาทัน เป็นเมืองหลวงในสมัยโบราณ ซึ่งยังเต็มไปด้วยร่องรอยความยิ่งใหญ่ ของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ  ที่นี่มีวัดพุทธนับร้อยแห่ง จนถูกขนานนามว่า CITY OF THE THOUSAND GOLDEN ROOFS หรือ “เมืองพันหลังคาทอง” ค่ะ

             พระราชรัตนรังษี พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เล่าไว้ในหนังสือ ” จาริก…เนปาล” ว่า “….ปาฏาน นั้น ตามภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ลลิตปุร์ เป็นนครอันบ่งบอกถึงยุคทองของพระพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองมาในหิมวันตประเทศ ซึ่งก็ได้แก่ เขตหุบเขากาฐมาณฑุ นี้เอง ชาวเนวารีเชื่ออย่างสนิทว่าพระเจ้าอโศกมหาราช จอมจักรพรรดิแห่งชมพูทวีป เคยเสด็จมาที่นี่เมื่อศตวรรษที่3  แล้วสถาปนาเมืองปาฏานนี้เป็นมหานคร  ทรงตั้งราชาขึ้นปกครอง และส่งสมณฑูต คือ พระมัชฌิมเถระ มาประกาศพระพุทธศาสนา หลังจากสังคายนาครั้งที่ 3 ณ นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ  ปาฏาน จึง

           …..อาศัยยุคสมัยที่ความเจริญจากชมพูทวีป เข้มาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนา จึงทำให้เมืองปาฏาน สง่างามด้วยศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมเชิงพุทธเป็นจำนวนมาก  แม้จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันแน่นอน แต่สถูปอโศก ทั้ง 4 สถูป ซึ่งตั้งอยู่ 4 มุมนคร ก็พอจะเป็นเส้นนำสายตาไปสู่ประวัติศาสตร์ที่มองเห็นต้นเค้าไม่ยากนัก….”

           นอกจากจตุรัสดูบาร์ หรือดูบาร์สแควร์  อันเลื่องชื่อ รายรอบไปด้วยเทวสถานใหญ่น้อย ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนแล้ว  ชาวพุทธยังนิยมไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดทอง  ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางขึ้นสู่สรวงสวรรค์อีกด้วยค่ะ  วัดทองนี้ต้องเดินลึกเข้าไปจากจตุรัสดูบาร์จนเกือบสุดทาง ทำให้เหลือเวลาชื่นชมความงดงามเพียงนิดเดียว แต่มาถึงทั้งที ดิฉันก็ต้องไหว้พระองค์ใหญ่ในวัดทองให้เป็นศิริมงคลก่อนจะรีบทำงานแข่งกับเวลาต่อไป 

         วิถีชีวิตของชาวเนปาลดำเนินไปอย่างเรียบง่าย  และผูกพันใกล้ชิดกับมรดกโลก    ทั้งในแง่ของการมากราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธา  มาทำมาค้าขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว  และมาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ  ใครมาเที่ยวเนปาล แล้วได้มาเดินทอดน่องดูวิถีของคนเนปาลในเมืองเก่าเช่นนี้แล้ว จะรู้สึกราวกับได้ย้อนเวลาไปอยู่ในยุคโบราณเลยค่ะ ชาวเนปาลทั้งชายและหญิงทุกเพศทุกวัยนิยมมาชุมนุมกันที่นี่ ผู้สูงอายุหลายคนนั่งนิ่งๆ พูดคุยกันเบาๆ จนรู้สึกว่าเวลาเดินไปอย่างเชื่องช้า  พวกเขายังคงแต่งกายตามวัฒนธรรมดั้งเดิมมากกว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบตะวันตก  ภาษาพูด  และงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ กลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ แต่นักท่องเที่ยวก็มักระวังตัวกันแจ เพราะกิติศัพท์ของพ่อค้าแม่ค้าชาวเนปาล ทั้งเรื่องการตื๊อประชิดตัวจนหนีไม่ออก หรือการบอกราคาสูงกว่าความเป็นจริงลิบลิ่ว  จนต้องต่อราคาลงมาให้เกินครึ่งไว้ก่อน เหล่านี้ก็ทำ ให้ต้องคิดแล้วคิดอีก  และดูจังหวะที่เหมาะสมจริงๆในการช้อปปิ้ง 

          สุชิน คัดกิ  มัคคุเทศก์ชาวเนปาล  ที่เคยมาอุปสมบท และจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ถึง 12 ปี  จนพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว  บอกถึงความภูมิใจ ที่ประเทศบ้านเกิดของเขา ได้รับยกย่อง เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ  แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า มรดกโลกในประเทศเนปาล ยังขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะสร้างชื่อเสียง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว  สุชินเล่าให้ฟังว่า เมื่อยูเนสโก้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณในเนปาลเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม  ก็มีการห้ามสร้างตึกสูงเกิน 5 ชั้น ใกล้กับพื้นที่สำคัญดังกล่าว  แต่พอเวลาผ่านไป การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะกาฏมาณฑุ ซึ่งเป็นเมืองหลวงก็ทำ ให้ข้อห้ามต่างๆ ย่อหย่อนไปตามสภาพ  และไม่เพียงแต่เรื่องสิ่งปลูกสร้างที่อาจส่งผลกระทบกับมรดกโลกเท่านั้น  หากแต่การปลูกจิตสำ นึกให้แก่คนเนปาล โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่  ให้รู้คุณค่าและช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ไว้ให้คงสภาพดี เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต  เขาก็บอกว่าไม่เห็นรัฐบาลเนปาลจะทำ เรื่องเหล่านี้เลย  ในฐานะที่เคยอยู่เมืองไทยมานาน สุชินยังเปรียบเทียบว่า ประเทศไทย ดูแลมรดกโลกได้ดีกว่าพวกเขามาก (นี่บ้านเราก็ยังเห็นมีปัญหาอยู่ไม่ใช่น้อย  พอไปเจอที่แย่กว่า ก็เลยได้แต่ถอนหายใจ)   

           ในสายตาของดิฉัน เนปาล เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ชีวิต ให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับร่องรอยของอารยธรรมค่ะ  ว่าเราจะเลือกอดีต  เลือกปัจจุบัน หรืออยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

คลิกชมคลิปวีดีโอ

 


About The Author

aof

1 Comment

  1. Chai

    ชมคลิปไม่ได้เลยครับ

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.