Select Page

คิดถึงผู้พิการทางสายตาเมื่อคิดพัฒนาเว็บไซต์

คิดถึงผู้พิการทางสายตาเมื่อคิดพัฒนาเว็บไซต์

ในปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและเนื้อหา แต่กลับพบว่ามีเว็บไซต์จำนวนไม่มากนักที่จะพัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงได้ เช่น ผู้พิการทางสายตา เป็นต้น ทั้งที่บุคคลเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคม และมีศักยภาพในการเรียนรู้ เพียงแต่นักพัฒนาเว็บไซต์จะตระหนักรู้และออกแบบเว็บไซต์โดยคำนึงถึงบุคคลกลุ่มนี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ดีในโลกอินเทอร์เน็ทได้มากขึ้น

เรื่อง/ภาพ: อนุสรณ์ มีบุญ  นิสิตฝึกงาน

                ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเว็บไซต์ สื่อมวลชนตลอดจนนิสิต นักศึกษาและตัวแทนจากผู้พิการทางสายตาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการเปิดตัว www.saisawankhayanying.com เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ศูนย์การค้าพาร์คเลน เอกมัย สุขุมวิท 63 

                “ดิฉันยังจะขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้เกิดเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้มากขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าท่านจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ที่มีกำลังทรัพย์มีเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หรือท่านจะเป็นบุคคลธรรมดาอย่างดิฉัน ขอเพียงเรามีความสนใจใคร่รู้ และลองหันกลับมามองผู้พิการทางสายตาบ้าง ก็จะค้นพบว่าเราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขาได้ ตามกำลังที่เรามี และบางทีสิ่งที่เราทำ ด้วยสมองและสองมือเล็กๆนี้ อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็ได้นะคะ” เป็นคำพูดสั้นๆแต่ถ้าหากคิดตามแล้วหลายท่านอาจทึ่งกับคำพูดของผู้ประกาศข่าวมากความสามารถคนนี้ เป็นการจุดประกายให้สื่อในหลายๆแขนงให้ความสนใจและร่วมรณรงค์กับเธอ

               ถ้าพูดถึงเว็บไซต์สายสวรรค์ขยันยิ่งดอทคอม สิ่งแรกที่หลายคนจะนึกถึงคงหนีไม่พ้น  สายสวรรค์ ขยันยิ่ง หรือ พี่หนิง คุณหนิง น้องหนิง ที่รู้จักกันดีในนามผู้ประกาศข่าวที่อยู่ในวงการมากกว่า 10 ปี ที่ลุกขึ้นมาสร้างเว็บไซต์ข่าวสร้างสรรค์ ดี มีประโยชน์ เพื่อหวังให้ทุกคนเข้าถึงได้  และโฟกัสไปที่ผู้พิการทางสายตาหรือการมองเห็นที่ตอนนี้ยังขาดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลทางโลกอินเตอร์เน็ตอยู่

                ด้วยเหตุนี้เองพี่หนิง จึงเล็งเห็นว่าเราควรหันมาให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างทั่วถึงได้แล้ว และอาสาเป็นเว็บไซต์ส่วนบุคคลในภาคเอกชนรายแรกๆของไทยที่จะร่วมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนคิดถึงผู้พิการทางสายตาเมื่อคิดพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ภายในงานเปิดตัวเว็บไซต์ยังได้จัดการเสวนาเล็กๆเพื่อสะท้อนความต้องการของผู้พิการและความเคลื่อนไหวของการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกคนเข้าถึงได้  

                 โดยผู้เข้าร่วมเสวนามี คุณจตุพล หนูท่าทอง (พี่โจ้) ผู้พิการทางสายตาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ ร่วมพูดคุยกับนักพัฒนาเว็บไซต์ คุณชไลเวท พิพัฒพรรณวงศ์  ซึ่งเป็นวิทยากรในโครงการของกระทรวงไอซีที   และได้รับเกียรติจาก คุณสมศรี หอกันยา  ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาคลังความรู้  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย  เปรียบเสมือนเป็นเวทีสื่อกลางให้ผู้ทำเว็บไซต์มาพบกับผู้ใช้เว็บไซต์ตัวจริง แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ตลอดจนช่วยกันวางแนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างตรงจุด

                 จากรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจคนพิการเมื่อปี 2550 พบว่า มีคนพิการจำนวนประมาณ1,871,860 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด จำนวน 65,566,359 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้พิการทางสายตาราว 300,000 คน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ได้เข้าถึงสื่อโดยเฉพาะสื่อสาธารณะ หากไม่ได้รับการรณรงค์จากสื่อกระแสหลักก็อาจทำให้ เจ้าของเว็บไซต์ต่างๆไม่ตื่นตัวหันมาพัฒนาเว็บของตัวเองเพื่อรองรับผู้พิการทางสายตา แม้ว่าขณะนี้จะมีผู้ที่เริ่มรณรงค์กับสื่อบางส่วนอยู่แล้วก็นับได้ว่าเป็นการจุดประกายเล็กๆให้ทุกคนช่วยกันในสังคม ได้มาร่วมมือกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.