Select Page

ชายแดนใต้ ฟ้าใส และความหวัง

ชายแดนใต้ ฟ้าใส และความหวัง

fasaigroup
เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องอยู่ในสถานที่ที่มีแต่ความสูญเสีย ผู้คนหวาดระแวงกัน ไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้แค่ไหน อยู่ในที่ที่ไม่ค่อยได้ยินเสียงหัวเราะ ไม่มีงานรื่นเริง และแม้แต่การออกนอกบ้านในชีวิตประจำวัน ก็ยังต้องรีบไปรีบกลับ ร้ายที่สุดคือไม่รู้ว่าวันนั้นจะได้กลับบ้านหรือไม่

เรื่อง: สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ภาพ: อิศเรศ จันทรวดี

ภาพคอนเสิร์ต 96.5 สานรักปันน้ำใจ

          ฉันได้พูดคุยกับสาวน้อย 2-3 คนที่เดินทางมาจากจ.ยะลาเพื่อมาร่วมกิจกรรมในงาน “96.5 สานรักปันน้ำใจ สู่พี่น้องชายแดนใต้” เมื่อคืนวันที่ 16 มกราคม 2553 ที่อสมท. ทำให้ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้มากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นคำบอกเล่าของเยาวชนในครอบครัวที่ถูกผลกระทบจากความรุนแรงโดยตรง

          ภาพสองสาวตั้งใจชมคอนเสิร์ต“สุพัตรา คงเจริญ” อายุ 16 ปี ตอนนี้เรียนอยู่ ปวช.ปี 2 แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา ย้อนความหลังให้ฟังว่า เมื่อปี 2547 พ่อของเธอซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา ต้องเดินทางไปยัง อ.มายอ จ.ปัตตานี ติดๆกันหลายวัน เพื่อไปจัดงานศพคุณตาของเธอ และวันหนึ่ง พ่อก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตกลางทาง สุพัตราซึ่งเป็นลูกคนเดียวต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่มีอาชีพรับจ้างเย็บผ้าเพียงลำพัง

          นอกจากจะต้องทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สองแม่ลูกยังต้องปรับตัวเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ทั้งช่วยกันทำงาน และต้องประหยัด อดออมทุกอย่าง เพื่อไม่ให้การศึกษาของเธอมีอุปสรรค

          สุพัตรา เข้าฝึกอบรมวิชาชีพกับ “ศูนย์ฟ้าใส” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับเด็กๆที่ถูกผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน จ.ยะลา เข้ามาฝึกทำงานศิลปะ งานฝีมือเล็กๆน้อยๆ ที่สามารถนำไปจำหน่ายหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นกลุ่มเยาวชนที่มารวมตัวกัน ดูแลเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกันอย่างเข้าใจเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม

          “จิณณพัต อรุณรัตน์” วัย 17 ปี เพื่อนสนิทของสุพัตรา ที่ร่ำเรียนอยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน ก็ได้รับการชักชวนมาเข้ากลุ่มด้วย แม้ว่าเธอจะเสียพ่อไปจากความเจ็บป่วย ไม่ได้ถูกทำร้ายจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีเหมือนกับเพื่อน แต่ด้วยความที่มีจิตสาธารณะ เธอจึงเข้าร่วมกิจกรรมและได้ฝึกอาชีพเป็นความรู้ติดตัว แม้จิณณพัต จะขาดพ่อ แต่แม่ซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ที่ จ.ปัตตานี ก็ยังสามารถส่งเสียเลี้ยงดูเธอกับน้องอีก 2 คนได้อย่างดี และความอบอุ่นที่เธอได้รับจากญาติๆในครอบครัว จัดว่าเธอเป็นเด็กคนหนึ่งในกลุ่มที่สามารถแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ ที่เศร้ากว่าได้DSC09731

          ขณะที่คุยกับ 2 สาวอยู่สักพัก “นิสา กอและ” ก็เข้ามาสมทบ ปรากฏว่านิสา เป็นประธานกลุ่ม “เกี่ยวก้อย” ในศูนย์ฟ้าใส ซึ่งสุพัตรากับจิณณพัต เป็นสมาชิกอยู่นั่นเอง ครอบครัวของนิสา มีประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก เพราะพ่อของเธอถูกคนร้ายยิงตายคาร้านขายของอย่างอุกอาจกลางตลาดที่มีคนพลุกพล่าน แม่ของเธอถึงกับช็อกเพราะเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา และไม่กล้ากลับไปขายของที่ตลาดนั้นอีกเลย นิสา มีพี่ชายคนหนึ่งซึ่งต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวดูแลแม่และน้อง ซึ่งพี่ชายบอกกับเธอว่า “ไม่ต้องกลัว ยังมีพี่อยู่ทั้งคน พี่จะดูแลแม่กับน้องให้ดีที่สุด ที่นี่เป็นบ้านเรา เราจะไม่ไปไหน เราจะอยู่ด้วยกัน” นิสาเล่าให้ฉันฟังด้วยเสียงเข้ม

          เด็กทั้ง 3 คนตัดพ้อเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนให้ฟังว่า หลายครั้งที่ข่าวจะดูรุนแรงเกินความเป็นจริง เพราะเมื่อพวกเธอไปดูสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริง กลับไม่พบว่ารุนแรงหรือเสียหายหนักเหมือนที่ฟังข่าวมา บางครั้งดูข่าวโทรทัศน์กันคนละช่องแล้วมาคุยกัน ก็ได้ข้อมูลไม่ตรงกันเสียอีก จึงอยากให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวให้ถูกต้องตรงกันและตรงกับข้อเท็จจริงด้วย

          นอกจากเรื่องสื่อ ฉันอยากฟังข้อเสนออื่นๆ จากพวกเธอบ้าง จึงได้คำตอบว่า คนในพื้นที่เองก็ต้องพูดคุยกันมากขึ้นกว่านี้ค่ะ เพราะที่ผ่านมา ความหวาดระแวงหยั่งรากฝังลึก จนคนในชุมชนเดียวกันแท้ๆ ก็ไม่กล้าเปิดใจคุยกัน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

          เด็กๆ อยากเห็นการหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันให้มากๆ เพื่อลดความหวาดระแวง เวลามีข่าวอะไรเกิดขึ้น ก็ควรเล่าสู่กันฟัง จะได้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าอันไหนข่าวจริง ข่าวลวง ข้อมูลใดน่าเชื่อถือ ข้อมูลไหนเป็นสิ่งที่ผู้ไม่หวังดีพยายามทำให้เชื่อเพื่อหวังให้เกิดความแตกแยกกัน พวกเธอมั่นใจว่าถ้ามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ สถานการณ์ก็จะดีขึ้นได้

          เด็กทั้งสามยอมรับว่า กลุ่มวัยรุ่นในภาคใต้ที่หลงผิด ติดยาเสพติด และเข้าไปร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรงนั้นมีอยู่จริง และกิจกรรมกลุ่มของพวกเธอก็พยายามสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องดีงามและช่วยกันสอดส่องว่ามีใครที่พอจะชักจูงให้กลับตัวกลับใจได้ ก็จะพยายามอย่างที่สุดที่จะให้วัยรุ่นเหล่านั้นหันมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ส่วนข้อสันนิษฐานว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับศาสนานั้นพวกเธอปฏิเสธกันเสียงดังฟังชัด ว่าการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันไม่ได้เป็นเหตุให้แตกแยกเลยแม้แต่น้อย

DSC09753          อีกข้อเสนอหนึ่งมาจาก “มาเรียม ชัยสันทนะ” ผู้ประสานงานของศูนย์ฟ้าใส ที่นำเยาวชน 51 คนเดินทางมาร่วมงานนี้ค่ะ พี่มาเรียมบอกว่ารัฐต้องลดเงื่อนไขที่จะทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีนำไปสร้างความรุนแรง ต้องดำเนินคดีทุกคดีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และส่วนกลางต้องระมัดระวังในการไปคิดแทนคนในพื้นที่ แต่ต้องสอบถามความเห็นและความต้องการของพวกเขาจึงจะถูกต้องเหมาะสมกว่า ส่วนเรื่องโครงสร้างการบริหารราชการในพื้นที่นั้น พี่มาเรียมมีความเห็นว่า “ทหารควรอยู่ข้างหลัง” แต่ให้ราชการส่วนอื่นๆที่มีความเข้าใจเรื่องมวลชนและมีวิธีดำเนินการที่นุ่มนวลเป็นฝ่ายออกหน้ามากกว่า

          คุยกันพอหอมปากหอมคอแล้วเด็กๆ ก็พาฉันไปที่บูธจำหน่ายสินค้าของศูนย์ฟ้าใส จึงช่วยอุดหนุนผลงานของเด็กๆ มาหลายชิ้นDSC09761

DSC09717DSC09720

          ส่วนที่บูธของฉันเองก็สั่งทำแก้วกาแฟเซรามิคมาขายรวมกับนำกระเป๋า Bally ที่ไม่ค่อยได้ใช้แล้วแต่ยังสภาพดีมากมาประมูลหารายได้สมทบทุนช่วยพี่น้องชาวใต้ร่วมกับของรักของหวงจากบรรดาผู้จัดรายการคลื่นความคิดด้วย 

DSC09639DSC09709

          นอกจากนี้เว็บไซต์ www.saisawankhayanying.com ก็มีเว็บบอร์ดสำหรับโพสท์ข้อความให้กำลังใจพี่น้องชายแดนใต้ ซึ่งก็มีหลายท่านกรุณามาโพสท์ข้อความดีๆ เอาไว้อย่างน่าชื่นใจค่ะ

ภาพประชาชนร่วมทดลองใช้ www.saisawankhayanying.com

DSC09699ภาพประชาชนทดลองใช้ www.saisawankhayanying.com 

ภาพประชาชนทดลองใช้ www.saisawankhayanying.comDSC09770          งาน “96.5 สานรักปันน้ำใจ สู่พี่น้องชายแดนใต้” โดย วิทยุ FM 96.5 คลื่นความคิด อสมท.จบลงไปอย่างสวยงามและได้รับความสนใจจากแฟนรายการวิทยุมาร่วมงานอย่างอบอุ่น ได้รับเงินบริจาคมากมาย เห็นได้ชัดว่าคนไทยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และยังพร้อมที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน และสถานการณ์ที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ปัญหาจะยังไม่หมดไปในวันนี้ แต่ขอเพียงเรามีความหวัง ความตั้งใจ และช่วยกันทุกส่วนคนละไม้คนละมือเท่าที่จะช่วยได้ สักวันหนึ่งฟ้าจะใสที่ชายแดนใต้อย่างแน่นอน@

ศูนย์ฟ้าใส:เครือข่ายเยาวชน จ.ยะลา
www.fasaicenter.org

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.