Select Page

โอกาสที่ยิ่งใหญ่ของข้าทูลละอองธุลีพระบาท

โอกาสที่ยิ่งใหญ่ของข้าทูลละอองธุลีพระบาท

king60
งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2549 เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยังติดตรึงใจคนไทยทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ บทความนี้เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งของข้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่ได้มีโอกาสเป็นผู้บรรยายการถ่ายทอดสดที่ยิ่งใหญ่ในวันนั้น

เรื่อง: สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
บันทึกเบื้องหลังการทำงานไว้เมื่อปี 2549

          แม้จะหายเหนื่อยกันไปแล้ว สำหรับการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นก็คือการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชและเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 9 มิถุนายน และถ่ายทอดสดการเสด็จออกทรงรับพระประมุขและผู้แทนพระองค์ จาก 25 ประเทศ ที่เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จมาทรงร่วมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2549 แต่เชื่อเหลือเกินค่ะว่า หัวใจของคนทำงานทุกคนยังพองโตด้วยความภาคภูมิใจ และปลาบปลื้มใจไม่หายที่ได้ถวายงานใหญ่เช่นนี้ ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย เพราะเราเพิ่งจะได้รับความไว้วางใจให้ร่วมถ่ายทอดสดงานต่างๆ ในนามของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

at anantasamakom throne hall  june 2006 007         ในฐานะที่ฉันมักได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายในการถ่ายทอดสดของไอทีวีอยู่เป็นประจำ แม้จะดูเหมือนว่ามีประสบการณ์มาบ้างแล้ว แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีครั้งใดเทียบเท่ากับครั้งนี้ ทันทีที่รู้ตัวว่าจะต้องบรรยายการถ่ายทอดสดครั้งนี้ ก็รู้สึกเลยว่า “ไม่ง่าย” และต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของพวกเราทุกคน จึงพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับงานนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อความพร้อมในการบรรยาย แต่ข้อมูลเหล่านี้ใช่ว่าจะหาได้ง่ายไปเสียทั้งหมด

         ผู้บรรยายทุกคนในงานนี้ ทั้งช่องเราและช่องอื่นๆ จะได้รับ CD ข้อมูลจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยคนละ 1 ชุด ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่มาของการจัดงาน รายละเอียดการจัดงานในส่วนต่างๆ และข้อมูลของพระประมุขหรือผู้แทนพระองค์ 25 ประเทศ เนื้อหาเหล่านี้ค่อนข้างเป็นทางการและสรุปมาสั้นๆ จึงต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากมาย โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ค่ะ ถ้าเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ราชอาณาจักรต่างๆ ที่พระประมุขหรือผู้แทนพระองค์เสด็จฯมา ก็มีอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเว็บไซต์อื่นๆ ที่พอมีรวบรวมไว้ เนื้อหาเหล่านี้พอจะสืบค้นได้ค่อนข้างง่ายค่ะ

         แต่เมื่อสืบค้นแล้วก็ต้องพยายามดูภาพถ่ายเพื่อให้จำพระพักตร์ของแต่ละพระองค์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งพอเอาเข้าจริงก็ยังจำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง บางท่านก็ไม่ได้เหมือนในภาพถ่ายเสียทีเดียว ต้องอาศัยการจำลำดับที่จะเสด็จเข้าเสด็จออกช่วยด้วย แต่วินาทีที่ถ่ายทอดอยู่นั้นก็เกิดการผิดคิวเหมือนกัน คือพระองค์ที่เสด็จลงบันไดจะถึงช้ากว่าที่เสด็จลงลิฟท์ ทำให้พระองค์ที่เสด็จลงลิฟท์ถึงหน้าโถงก่อน ทั้งๆ ที่ท่านจะต้องกลับทีหลัง แบบนี้ต้องใช้ไหวพริบเข้าช่วยค่ะ ถ้าเอ่ยพระนามไปตามคิวก็อาจจะไม่ตรงกับภาพที่ผู้ชมเห็น เป็นต้น ต้องจ้องให้ดีก่อนว่าใครเป็นใคร

royal news and anantasamakom throne hall  june 2006 043

         ส่วนชื่อประเทศและพระนามของแต่ละพระองค์ ฉันก็ขอความรู้จากราชบัณฑิตให้ช่วยถอดเสียงให้ตามหลักวิชาการค่ะ ถึงได้ความรู้ที่ถูกต้องมาหลายเรื่อง เช่น ประเทศ “ภูฏาน” ราชบัณฑิตให้อ่านว่า “พู-ตาน” ไม่ใช่ “พู-ถาน” ทางราชบัณฑิตยังกล่าวชมเชยไอทีวีมาด้วยนะคะ ว่าเป็นผู้รณรงค์การอ่านออกเสียงอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยไปตามผิดอย่างที่แพร่หลายกันมานาน

         ต่อมาก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธี ซึ่งหินที่สุด เพราะถามใครก็ไม่ค่อยจะทราบ แถมยังไม่ค่อยจะมีเอกสารบันทึกไว้อีกด้วย ที่สำคัญคือพระราชพิธีในครั้งนี้ก็มีรายละเอียดเฉพาะ ไม่สามารถเทียบเคียงกับพระราชพิธีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้ ยกตัวอย่างเช่น พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ฟังชื่อแล้วอาจจะคิดว่า ตอนที่มีพระราชพิธีรัชดาภิเษก ครั้งที่ทรงครองราชย์ ครบ 25 ปี หรือพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ครั้งที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี กระทั่งพระราชพิธีบวงสรวงเมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ก็น่าจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว การบวงสรวงแต่ละครั้งล้วนมีความแตกต่าง ตั้งแต่ พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาประดิษฐานในพิธี เครื่องบวงสรวง หรือขั้นตอนบางอย่าง เรียกว่าต้องทำการบ้านละเอียดยิบเพื่อมาต่อจิ๊กซอว์จนเห็นภาพชัดเจน เมื่อถึงวันจริงก่อนจะถึงเวลาถ่ายทอดดิฉันก็ไปดูสถานที่เพิ่มเติมอีกว่าอะไรอยู่ตรงไหน ทางเสด็จ ที่ประทับ เป็นอย่างไร เมื่อเกิดความเข้าใจทั้งหมดจึงจะเกิดความมั่นใจที่จะบรรยาย เป็นต้น

royal news and anantasamakom throne hall  june 2006 064         สุดท้ายที่จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าเตรียมตัวมาก่อนก็จะมั่นใจ นั่นก็คือ การใช้คำราชาศัพท์ค่ะของแบบนี้เราไม่ได้ใช้บ่อยจนคล่องปาก ถ้าไม่ซ้อมเสียบ้างก็อาจตะกุกตะกักหรือใช้ผิดได้ ดิฉันก็กลัวเหมือนกัน จึงพยายามตั้งโจทย์ อย่างเช่น ถ้าเห็นกริยาแบบนี้เราจะใช้คำว่าอะไร ถ้าเราเห็นของสิ่งนี้ เราจะเรียกว่าอะไรเป็นต้น และพยายามหาข้อผิดพลาดของการใช้ราชาศัพท์ในโอกาสต่างๆ ตามที่มีผู้รู้ได้ตำหนิและอธิบายเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ทำตาม อย่างเช่น คำว่า “ประทับ” ใช้กับการนั่ง หรือการอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เท่านั้น ถ้าพูดว่า “ประทับยืน”แบบนี้จะผิด ต้องใช้ว่า “ทรงยืน” คำว่า ไปหรือมา ใช้ “เสด็จพระราชดำเนิน” สำหรับในหลวง พระราชินี สมเด็จพระบรมฯ สมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือพระประมุขต่างประเทศเท่านั้น นอกนั้นใช้ “เสด็จ” เฉยๆ แต่ถ้าใช้ “เสด็จพระดำเนิน”แบบนี้ผิด เพราะไม่มีศัพท์นี้ มีแต่ “ทรงพระดำเนิน” ซึ่งแปลว่า “เดิน”
         นี่คือเบื้องหลังการทำการบ้านส่วนหนึ่งค่ะ แต่อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดสดทุกงานล้วนมีความเสี่ยง และเกิดสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมอยู่เสมอ ทั้งเรื่องของเสียง ที่วันแรก (วันที่ 9 ) ผู้บรรยายจะมีปัญหาเรื่องหูฟังเป็นอย่างมาก ทั้งไม่ได้ยินเสียงโปรแกรมที่ออกอากาศ ไม่ได้ยินสิ่งที่ตัวเองหรือผู้บรรยายคู่พูด จึงต้องคอยเงี่ยหูฟังกัน เล่นเอาขาดความมั่นใจไปไม่ใช่น้อย (เรื่องเสียงนี้วันที่ 12 จึงจะสมบูรณ์) นอกจากนี้ฉันก็มีบทเรียนเรื่องคิวในการบรรยายด้วย ที่ถูกตำหนิเรื่องบรรยายทับเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีท่อนแรก และทับเสียงถวายพระพรของนายกรัฐมนตรีไปประโยคหนึ่ง เรื่องแบบนี้เกิดจากจังหวะพูดยังไม่แม่นพอ ไม่รู้ว่าจะมีช่วงเงียบเกิดขึ้นนานแค่ไหน พอพูดขึ้นมาก็เป็นจังหวะพร้อมกับเพลงหรือพิธีการพอดี แม้จะรีบม้วนหางลงไปอย่างรวดเร็วแล้วก็ยังทับไปจนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่บังควรค่ะ รับรองว่าคราวหน้าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกแน่นอน

DSC_0027

          สุดท้ายที่จะพูดถึง ก็คือ การทำงานเป็นทีมของพวกเรานำโดยผู้กำกับรายการถ่ายทอดสดที่ยิ่งใหญ่ครั้งนั้น คือคุณอิทธิศักดิ์ พลอยตระกูลชล หรือ”พี่อิทธิ”ที่ออกแบบและควบคุมการถ่ายทอดได้อย่างปราณีต  พวกเรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างมาก ทุกคนทุ่มเทสุดชีวิตในหน้าที่ของตัวเอง ทั้งฝ่ายรายการ ฝ่ายผลิต ฝ่ายวิศวกรรม รวมถึงทุกแผนก ทุกฝ่ายที่มีส่วนสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จลุล่วง และฝ่ายข่าวซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้บรรยายทั้งทีม (ฉัน,คุณกิตติ สิงหาปัด,คุณธีรัตถ์ รัตนเสวี,คุณรุ่งทิพย์ โชตินภาลัย และคุณชัยรัตน์ ถมยา) เท่านั้น แต่หมายถึงฝ่ายข่าวทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการรายงานข่าวทุกๆภาค ในช่วงระยะเวลาอันสำคัญนั้นด้วย ทุกคนกุลีกุจอ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมภาคภูมิ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อศักดิ์ศรีของสถานีเราด้วยค่ะ

5490000088280151[1]

         การถ่ายทอดสดพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีครั้งนี้ ให้ความรู้สึกรักสามัคคีกัน ในไอทีวี ให้ทั้งความสุข และบทเรียนต่างๆ มากมาย เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของข้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่ไม่มีวันลืม

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.