Select Page

อาวุธชีวภาพมหันตภัยเงียบรูปแบบใหม่

อาวุธชีวภาพมหันตภัยเงียบรูปแบบใหม่

การชุมนุมของกลุ่มม็อบเสื้อแดงที่พยายามกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยุบสภา ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้นับได้เกือบ 20 วันแล้ว ท่ามกลางการทำสงครามจิตวิทยาระหว่างสองฝ่ายยังมีการปาอึ การเทเลือด ฯลฯ ไม่เพียงสร้างความสะอิดสะเอียด ยังฉาวโฉ่ไปทั่วโลกผ่านทางสื่อที่รายงานข่าวอย่างใกล้ชิด หลายต่อหลายคนมองหาอารมณ์ขันผ่านสถานการณ์อันขึ้งเครียด น่าเบื่อหน่าย

          เมื่อครั้งที่ฝ่ายม็อบนำรถอึมาขู่ฝ่ายตรงข้าม มีเสียงวิพากษ์เป็นทีเล่นทีจริงว่า “นี่เล่นอาวุธชีวภาพกันเลยทีเดียว”เพราะจะว่าไป ไม่ว่า “อึ” หรือ “เลือด” สามารถแปรเป็นอาวุธชีวภาพได้ทั้งนั้น

          แล้วอาวุธชีวภาพคืออะไร?”อาวุธชีวภาพ” (biological weapon) ก็คืออาวุธที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซึ่งครอบคลุมถึงตัวสิ่งมีชีวิตเอง สารพิษจากสิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนหรือสารอื่นใดที่สิ่งมีชีวิตผลิตขึ้นมา หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คืออาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธสารพิษที่สกัดจากจุลินทรีย์นั่นเอง อาวุธ

          ชีวภาพนี้เป็นอาวุธที่ผลิตได้ง่าย แม้โรงนาเล็กๆ สักหลังก็ยังสามารถดัดแปลงมาใช้เป็นแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพได้

          มนุษย์รู้จักผลิตอาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธชีวภาพนี้โดยเลียนแบบจากการสังหารหมู่ตามธรรมชาติ นั่นคือการเกิดโรคระบาด เช่น การระบาดของโรคไข้ทรพิษในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตไปถึง 75 ล้านคน หรือการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.1918-1919 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 22 ล้านคน

          ด้วยเหตุนี้จึงมีการเลียนแบบธรรมชาติ เพาะโรคร้ายบางชนิดไว้ใช้เพื่อการสงคราม โดยอาจใช้ตัวจุลินทรีย์เองหรืออาจสกัดเอาเฉพาะสารสำคัญที่เป็นพิษต่อมนุษย์ก็ได้

          เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ การใช้อาวุธชีวภาพเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอาณาจักรโรมันเมื่อพันกว่าปีมาแล้วโดยชาวโรมันนำสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคตายไปทิ้งไว้ที่แหล่งน้ำของข้าศึก เมื่อข้าศึกบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำนั้นก็เกิดอาการป่วย เป็นการตัดกำลังรบและทำลายขวัญของ ฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี

          ส่วนอาวุธชีวภาพในยุคปัจจุบันนั้นก็ยังเป็นหลักการเดิม เพียงแต่พัฒนาวิธีการให้ใช้งานสะดวกและได้ผลมากขึ้น โดยมีการเลี้ยงเชื้อโรคที่ต้องการเป็นจำนวนมาก จากนั้นเก็บรักษาไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องใช้งานวิธีการใช้นั้นก็อาจโปรยลงมาจากเครื่องบินหรือนำไป

          ทำเป็นหัวรบของขีปนาวุธยิงสู่พื้นที่เป้าหมาย

          เช่น การตรวจพบแหล่งอาวุธชีวภาพในอิรักเมื่อปีค.ศ.1985 ซึ่งมีทั้งอาวุธเชื้อโรคและอาวุธสารพิษที่ผลิตจากเชื้อโรค ได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ (anthrax) อันเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง, พิษบอตทูลินัม (botulinum toxin)อันเป็นสารพิษที่ได้จากแบคทีเรีย, พิษอะฟลาทอกซิน

          (aflatoxin) อันเป็นสารพิษที่ได้จากรา และไรซิน(ricin) อันเป็นสารพิษที่ได้จากเมล็ดละหุ่ง

          เมื่ออิรักเคยผลิตอาวุธเหล่านี้มาแล้ว การจะผลิตขึ้นมาใหม่อีกจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

          ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่เป้าหมายของภัยคุกคามนี้แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีแผนจัดการ และมีความรู้

          ความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพ ภาควิชาเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาป้องกันประเทศ และสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย โดยพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานเปิด การประชุมวิชาการเรื่อง “อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction) : ภัยจากอาวุธชีวภาพ”  เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา

          ดร.วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์อาจารย์ภาควิชาชีวเคมีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเกี่ยวกับอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงนี้ว่า อาวุธที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงมีอยู่ 3 ประเภท คือ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี ซึ่งในบรรดาอาวุธทั้งหมด อาวุธชีวภาพนับว่าน่ากลัวที่สุด เพราะมีต้นทุนต่ำ แต่กระจายไปได้ไกล มีความคงทน ป้องกันได้ยากที่สุดแล้วยังสร้างความเสียหายในมุมกว้างอีกด้วย

          ลักษณะการแพร่กระจายของอาวุธชีวภาพจะแพร่ทางการหายใจ รับประทาน หรือจากการกัดของสัตว์พาหนะ โดยการแพร่กระจายจะขึ้นกับสภาวะแวดล้อม

          “การก่อการร้ายนั้นมีวิธีนานาประการ โดยนิยมแพร่กระจายไปยังอากาศ ปนเปื้อนไปกับอาหารและน้ำสถานที่ที่มีคนมากๆ อย่างกรณีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. มีการปาระเบิดอึ ระเบิดปลาร้านั้น ยังไม่น่ากลัว แต่หากมีใครนำสิ่งแปลกปลอม เช่น หมามุ่ยฯลฯ มาใช้ จะสร้างอาการคันขึ้นในกลุ่มผู้ชุมนุม และในบางรายที่มีอาการแพ้มากๆ จะเกิดเป็นผื่นบวมแดงเห็นได้ชัดเจนเหล่านี้ถือเป็นภัยจากอาวุธชีวภาพทั้งสิ้น”

          ดร.วิเชษฐ์อธิบายต่อไปว่า หนึ่งในเชื้อโรคที่มีศักยภาพสูงและมีการนำมาผลิตเป็นอาวุธได้แก่ เชื้อแอนแทรกซ์ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า แบซิลลัสแอนทราซิส สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบเลือด และทางเดินหายใจเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินหายใจจะมีอาการเริ่มแรกคล้ายเป็นไข้หวัด มีน้ำมูกไหล หลังจากนั้นไม่นานอาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

          เชื้อแอนแทรกซ์สามารถนำไปบรรจุในหัวรบของขีปนาวุธ เพื่อใช้โจมตีเป้าหมายในระยะไกลได้

          หันกลับมาดูทางด้าน “ยา” กันบ้าง รศ.ดร.อ้อมบุญวัลลิสุตอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า การใช้ไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพมีความเป็นไปได้สูง และการแสวงหายาจากสมุนไพรเพื่อเป็นยาต้านจุลชีพก็ได้รับความสนใจมาตลอด ในพระคัมภีร์ตักกสิลามีบันทึกเกี่ยวกับไข้ชนิดต่างๆ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับไวรัส และมีตำรับยารักษาไข้ โดยมีวิธีการรักษาคือให้รับประทานยาและมียาพ่นผสมสมุนไพรเพื่อลดความร้อน

          “สมุนไพรไทยนั้นปกติมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ ฆ่าเชื้อราอยู่แล้ว ในการแพทย์แผนไทยบอกว่าระบบที่ก่อให้เกิดโรคในร่างกายคนเราคือ อาพาธ 5 ประการ คือ ดีลม เลือด เสมหะ และกำเดา”

          ตำรับยาที่มีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณในการรักษาสุขภาพได้อย่างน่าสนใจ โบราณใช้เป็นยาแปรไข้ คือถ้าไข้สูงกินแล้วไข้จะน้อยลง ถ้าไข้น้อยก็จะช่วยให้หายไข้คือ “ยาแก้วห้าดวง”ประกอบด้วย รากคนทา รากไม้เท้ายายม่อม รากชิงชี่ รากมะเดื่อ รากย่านาง อย่างละส่วนใช้ต้มรับประทาน

          รศ.ดร.อ้อมบุญย้ำว่า ประเทศไทยน่าจะมีการนำ”ยาแก้วห้าดวง” นี้มาใช้แทนพาราเซตามอล เพราะสมุนไพรนั้นเป็นยาที่ไม่ให้ผลข้างเคียงเหมือนยาฝรั่งจึงใช้ได้ปลอดภัยกว่า

          นอกจากนี้ ก็ยังมีสมุนไพรอีกหลายๆ ชนิดที่ให้ฤทธิ์เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น ข่าใหญ่ ฟ้าทลายโจรบอระเพ็ด ขิงบัวบก มะขามป้อม

          สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัส อาทิ มะรุม องุ่นส้ม ว่านหางจระเข้

          “อย่างไวรัส เอช 1 เอ็น 1 ก็มีนักวิจัยชาวไต้หวันค้นพบตัวยาที่ช่วยยับยั้งไวรัสชนิดนี้ โดยแยกสารสำคัญนี้จาก ‘มหาหิงคุ์’ ซึ่งตั้งแต่สมัยโบราณคนเก่าแก่ก็ใช้รักษาโรคหวัดให้กับเด็กเล็ก โดยใช้ทาที่ฝ่ามือฝ่าเท้า กระหม่อม และท้องให้กับเด็ก ปรากฏว่าในการทดลองผ่านหลอดแก้วพบว่า มหาหิงคุ์ให้ผลดีในการยับยั้งไวรัส เอช 1 เอ็น 1 ดีกว่า ‘อะแมนตาดีน’ ยาต้านไวรัสที่ผ่านการอนุมัติของเอฟดีเอให้ใช้ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้เสียอีก”

          รศ.ดร.อ้อมบุญบอกอีกว่า ยังมีสมุนไพรไทยอีกมากที่ควรนำมาศึกษาวิจัยต่อ เพราะหลายๆ ชนิดมีสรรพคุณในการแก้ไข้ได้อยู่แล้ว

          ทางด้าน ม.ล.กิติบดี ประวิตรนายกสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความพร้อมในการป้องกันภัยที่เกิดเหตุ หรือที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยจากอาวุธชีวภาพ ว่า ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศแคนาดา ภายใต้โครงการพัฒนาสมรรถนะของประเทศไทยในการต่อต้านการก่อการร้าย ในด้านการฝึกอบรม เครื่องมือ อุปกรณ์เทคนิคเพื่อการป้องกันและตอบโต้การก่อการร้ายรูปแบบต่างๆ

          ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมพร้อมรับกับภัยจากอาวุธทำลายล้างสูง โดยมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่หลัก มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการโดยตรง มีแผนงานระดับชาติ มีการฝึกอบรม และเฝ้าระวังเป็นอย่างดีผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีการประสานงานในระดับท้องถิ่นและระดับชาติเป็นอย่างดีระบบสื่อสารต้องมีความพร้อม หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

          ฟังว่าเช่นนี้แล้ว ใครที่ยังคิดว่าอาวุธชีวภาพเป็นเรื่องขำๆ เป็นเรื่องไกลตัว คงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่เพื่อความไม่ประมาท เพราะตราบใดที่อาวุธทำลายล้างสูงยังสามารถผลิตได้ง่าย คงต้องอาศัยความร่วมมือในหลายๆ ฝ่าย ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายด้วยกัน

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.