Select Page

คลิปเด็กตบกันสัญญาณความล่มสลาย”สถาบันครอบครัว”?

คลิปเด็กตบกันสัญญาณความล่มสลาย”สถาบันครอบครัว”?

2-3 ปีมานี้ ดูเหมือนคำว่า “คลิป” จะกลายเป็นคำที่มีความหมายไปในแง่ลบเสียแล้ว นับตั้งแต่ “คลิปโป๊” “คลิปฉาว” ล่าสุดกระแสใหม่ที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้สังคมไทยก็คือ “คลิปเด็กตบกัน””คลิปเด็กตบกัน” จึงระบาดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แล้วแพร่ต่อไปทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ยุคที่การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว ยิ่ง โทรศัพท์มือถือ ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ด้วยแล้ว ยิ่งส่งผ่านข้อมูลได้ง่าย เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโทรศัพท์ที่นอกจากจะส่งข้อความตัวอักษรได้ ยังสามารถถ่ายและส่งภาพเคลื่อนไหวไปให้อีกฝ่ายได้ดูภายในเวลาไม่กี่วินาที ราคาของโทรศัพท์มือถือก็ไม่แพง หลายรุ่นที่ส่งภาพเคลื่อนไหวได้ราคาอยู่ที่หลักพันต้นๆ เท่านั้น คนส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือกันไม่ยากเย็น

          “คลิปเด็กตบกัน” จึงระบาดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แล้วแพร่ต่อไปทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

          ผลการวิจัยเรื่อง “การกระทำความรุนแรงผ่านเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ : ภัยมืด ภัยร้ายของวัยรุ่นไทย” โดย รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์ เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ สัมภาษณ์เยาวชนทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จำนวน 2,000 คน เกี่ยวกับรูปแบบ และพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของวัยรุ่นไทย ผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

          พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า กลุ่มเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมข่มเหงรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ โดยพฤติกรรมมีทั้งส่งข้อความด่าทอผู้อื่นผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต การส่งข้อความหรือข้อมูลที่เป็นความลับของบุคคลให้ผู้อื่น และการคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์!!

          กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา เป็นกลุ่มที่พบการกระทำความรุนแรงในโลกไซเบอร์มากที่สุด โดย 25% มาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คือ พ่อแม่แยกกันอยู่ และอีก 48% ที่แยกอยู่ลำพังตามหอพัก โดยส่วนมากล้วนเคยเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถทำได้ ซึ่งถ้ามีใครกระทำความรุนแรงมาก็จะใช้วิธีโต้ตอบกลับทันทีเช่นกัน

          แค่เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวคลิปเด็กตบกัน “ฉาว” ออกมาให้เห็นต่อเนื่องหลายคลิป

          หนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งใน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่นักเรียนหญิงชั้น ม.3 จำนวน 2 คู่ ตบตีทำร้ายร่างกายกันในโรงเรียน คู่แรกเพราะชอบนักเรียนชายชั้น ม.2 คนเดียวกัน จึงนัดกันมาตบตีเพื่อระบายความโกรธ มีบรรดาเพื่อนๆ ของแต่ละฝ่ายนับสิบคนยืนส่งเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน ส่วนอีกคู่มีสาเหตุจากเดินสวนกันแล้วมองหน้า เกิดความหมั่นไส้จึงนัดตบ กระโดดถีบจนอีกฝ่ายล้มคว่ำแล้วขึ้นคร่อมรัวหมัดใส่ไม่ยั้ง

          เหตุการณ์ต่อมาเป็นคลิปของ 2 นักเรียนสาวโรงเรียนเทคนิคและโรงเรียนอาชีวะใน จ.สงขลา นัดตบกันอย่างดุเดือดกลางถนนในหมู่บ้านท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยไม่สนสายตาใคร มีเพื่อนของทั้ง 2 ฝ่าย มาคอยเชียร์และยืนคุมเชิงไม่ให้มีการยกพวกเข้าทำร้ายฝ่ายตนเอง สาเหตุการตบมาจากทั้งคู่มีแฟนเป็นทอมคนเดียวกัน

          ตบตีกันได้ราว 5 นาที ก็แยกย้ายโดยไม่มีผลว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ปรากฏว่าเพื่อนชายของทั้งคู่เกิดเขม่นกัน มีการใช้อาวุธปืนลูกซองไล่ยิงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่หน้าอกขวา

          ย้ำว่าที่ยกมาเป็นเพียงคลิปเด็กตบกันที่เกิดขึ้นแค่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น ไม่นับรวมคลิปเด็กตบกันที่เกิดในเดือนที่ผ่านๆ มาที่ว่ากันว่ามีด้วยกันนับร้อยคลิป

          พฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมปกติของคนทุกคน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและการเอาใจใส่ของพ่อแม่

          คุณหมอบอกว่า ในช่วง 2 ขวบปีแรก จะเห็นว่าเด็กแย่งของกันแล้วตีคนอื่นทันทีโดยไม่มีการสอน หรือเด็กเล่นอยู่ด้วยกันในห้าง เมื่อมีการแย่งของกันก็จะตีกันทันที เหล่านี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่เป็นสัญชาตญาณของเด็ก ถ้าพ่อแม่ควบคุมและจัดการพฤติกรรมตรงนี้ดีก็จะไม่เป็นอะไร นอกจากนี้พฤติกรรมเหล่านี้จะหายไปเอง จากพฤติกรรมการทำร้ายด้านร่างกาย อาจเหลือแค่การพูดคุยกัน ด่ากันโดยใช้คำหยาบคาย

          คุณหมอบอกอีกว่า แต่ความรุนแรงจะแสดงออกมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความรุนแรงสูงที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

          “ช่วงอายุ 17-20 ปี จะเป็นช่วงที่มีพฤติกรรมความรุนแรงสูงที่สุด โดยปัจจัยมีทั้งตัวเด็กเอง การเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อน สังคม สิ่งแวดล้อม และสื่อต่างๆ ที่มีอยู่

          “ในหมู่เพื่อนถ้ามีการตบตีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ถ้าไม่ตบตีกับใครจะเข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้ จุดนี้ก็อาจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นมาได้เช่นกัน” คุณหมอทวีศิลป์บอก

          ส่วนเหตุการณ์การตบตีกันแล้วมีการถ่ายคลิปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ความเห็นว่า เกิดจากอิทธิพลของสื่อต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ที่มีฉากนางเอกตบตีกัน สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีภาพข่าวการกระทำความรุนแรงของผู้หญิง นอกจากนี้การที่ได้เห็นคลิปเด็กตบกันมาก่อนก็อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดการถ่ายคลิปเก็บไว้

          “ต้องเข้าใจเรื่องกลุ่มของวัยรุ่นเสียก่อน คนที่เป็นผู้นำกลุ่มอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จะขยายอิทธิพลที่แสดงให้เห็นว่าตัวเองมีพลัง เช่น ผู้ชายใช้วิธีพ่นสีตามกำแพง หรือใช้กำลังชกต่อยกัน

          “แต่วัยรุ่นที่เป็นผู้หญิง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีด้วยวิธีการถ่ายคลิปและส่งต่อๆ กันไป เป็นการสื่อสารทางหนึ่ง ซึ่งเด็กอาจตั้งใจทำเพื่อขยายขอบข่ายการสื่อสารให้คนอื่นๆ รู้ว่าใครจะมายิ่งใหญ่กว่าฉันไม่ได้ เรื่องเพศและความรุนแรงสามารถดึงคนดูได้ทั้งหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ถ้ามีการเห็นภาพบ่อยๆ ก็จะเร่งเร้าให้มีการทำเร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม หรือทำอะไรที่แปลกไปกว่าเดิม” คุณหมอบอก

          แล้วทิ้งท้ายเป็นข้อคิดว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยดูแลลูกหลานตั้งแต่วัยก่อนเข้าอนุบาล และต้องทำต่อเนื่องกันไปจนถึงวัยรุ่นก่อนที่จะมีความรุนแรง อาจใช้วิธีพูดคุยกับเด็กหรือใช้การสังเกต เพื่อดูทัศนคติหรือมุมมองของเด็กที่มีต่อความรุนแรง

          “ถ้าเด็กมีปัญหาก็แก้ที่ตัวเด็ก ถ้าพ่อแม่มีปัญหาก็แก้ที่ตัวพ่อแม่ เอาพ่อแม่และเด็กมานั่งพูดคุยกัน แต่ถ้าเป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม ก็จะมีการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนเปลี่ยนห้องเรียน” คุณหมอบอกไว้

          ส่วน ฉวีวรรณ พินิจ ครูแนะแนวโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ที่คลุกคลีและให้คำปรึกษากับนักเรียนมาแล้ว 17 ปี ให้ความเห็นต่อเรื่องพฤติกรรมของวัยรุ่นว่า

          พฤติกรรมของนักเรียนสมัยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันมาก เมื่อก่อนเด็กมีสัมมาคารวะ ช่วยเหลือการงานดี ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานดีจนแทบไม่ต้องมาพบครูเลย ปัญหาที่เจอในยุคนั้นมีอยู่ไม่กี่เรื่อง อย่างเรื่องการเรียน ที่ถ้าเด็กมีปัญหาก็จะรีบมาปรึกษาอาจารย์ และปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาทเพราะไม่ชอบหน้ากัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มนักเรียนชาย

          ส่วนสมัยนี้ปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาและเป็นปัญหาที่รุนแรงคือ ปัญหาชู้สาว คบกันแล้วก็เลิกกัน เปลี่ยนคู่ใหม่ มีปัญหาทะเลาะกันระหว่างแฟนเก่ากับแฟนใหม่ ผู้ปกครองรู้เข้าก็ไม่สบายใจ มาระบายและร้องไห้ให้ครูฟังว่า ลูกไม่เชื่อฟัง ซึ่งก็บอกผู้ปกครองไปว่าต้องพยายามทำตัวให้เป็นเพื่อนของลูกหลาน ให้เด็กไว้ใจและเล่าปัญหาให้ฟัง ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้ระบายออกลดพฤติกรรมความรุนแรงที่จะไปกระทำต่อผู้อื่นได้

          ส่วนครูเองต้องปรับตัวเข้าหาเด็กให้มากที่สุด คุยกับเด็กเหมือนเป็นเพื่อนของเขา และสิ่งสำคัญในการเป็นครูแนะแนวคือ ต้องรู้จักเก็บความลับของเด็ก ถ้าเก็บความลับไม่ได้ เด็กจะไม่ไว้ใจ เวลาเกิดปัญหาเด็กก็จะไม่มาเล่าให้ฟัง

          “ปัญหาความรุนแรงอย่างนักเรียนหญิงใช้กำลังตบตีและถ่ายคลิปเก็บไว้ เท่าที่รู้ทางโรงเรียนไม่มีปัญหานี้ เพราะส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เพื่อนของแต่ละฝ่ายก็จะมาบอกครู พอครูทราบก็จะเข้าไปช่วยพูดจาไกล่เกลี่ยช่วยแก้ปัญหา” อาจารย์ฉวีวรรณบอก

          ด้านนักเรียนอย่าง ภูริชยา เพ็ญจำรัส อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ พูดถึงกรณีคลิปนักเรียนหญิงตบกันว่า ไม่เคยดูคลิปแบบนี้มาก่อน แต่รู้ข่าวเรื่องคลิปจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ “เหตุการณ์ที่นักเรียนมาตบตีกันเป็นการกระทำที่เกิดกว่าเหตุ น่าจะแก้ปัญหากันด้วยการพูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้กำลัง

          “มองว่าละครทีวีที่มีฉากตบตีกันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ พอนักเรียนมาตบกันตีกันก็ถ่ายคลิปเอาไว้ อาจเพื่อเก็บไว้ขู่อีกฝ่าย หรือถ่ายเก็บไว้อวดกัน ซึ่งคนที่ถ่ายเก็บไว้ก็ไม่น่าจะทำแบบนั้น ควรจะเข้าไปห้ามมากกว่า

          “ที่น่ากลัวตอนนี้คือว่า เพื่อนๆ หลายคนมองว่าการตบตีแล้วถ่ายคลิปกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว”

          ขณะที่ข่าว “คลิปเด็กตบกัน” ยังอยู่ในกระแส หลายหน่วยงานเหมือนจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา เพียงแต่อย่าให้กลายเป็นไฟไหม้ฟาง กระแสจางแล้วก็ไม่สนใจ

          “คลิปเด็กตบกัน” ในทรรศนะของ “ผู้ปกครอง”

          นฤมล อัษฎาเดช   อายุ 60 ปี อาชีพแม่บ้าน

          ทุกวันนี้สื่อที่ทำให้เด็กเหลวไหลมีเยอะ จะไปโทษพ่อแม่หรือยกภาระไปให้โรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ พ่อแม่และครูทุกอย่างอยากจะให้ลูกหลานหรือลูกศิษย์เป็นคนดี พร่ำสอนลูกแต่ลูกไม่ทำตามที่พ่อแม่สั่งสอน เพราะอิทธิพลของสื่อ ตรงนี้มีส่วนถ้าเด็กยุคนี้จิตใจไม่เข้มแข็งพอ เด็กก็จะตกเป็นเหยื่อได้

          ส่วนเรื่องเหตุการณ์ที่เด็กตบตีกันแล้วถ่ายคลิปไว้อาจเป็นแฟชั่น ทำตามๆ กันไป อาจจะเพราะอยากอวดเพื่อนก็เป็นได้

          ดวงใจ เพ็ญจำรัส  อายุ 48 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว

          คิดว่าปัญหาครอบครัวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ถ่ายคลิปเด็กตบตีกัน อย่างเช่น การที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองทะเลาะกันถึงขั้นลงไม้ลงมือ แล้วลูกหลานไปเห็นเข้า เด็กอาจมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ปกติที่ไม่ได้รุนแรง หรือมีความผิดอะไร หรือบางทีพี่น้องตีกันพ่อแม่ก็นิ่งเฉย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พี่น้องจะทะเลาะกัน เด็กเลยคิดว่าที่ทำอยู่เป็นเรื่องปกติ

          เทคโนโลยีสมัยนี้ก็ก้าวหน้ามากขึ้น มีการถ่ายคลิปภาพเคลื่อนไหว เมื่อเด็กได้ดูคลิปตามสื่อต่างๆ ก็อยากจะถ่ายเก็บไว้บ้าง เกิดเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อเหมือนดาบ 2 คม คือสื่ออาจต้องการบอกว่า การกระทำในคลิปเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง แต่เด็กอาจเข้าใจผิดคิดว่าการตบตีกันแล้วถ่ายคลิปไว้เป็นเรื่องที่น่าทำ เพราะใครๆ ก็ทำกัน

          พ่อแม่ผู้ปกครองควรช่วยแนะนำเด็กว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี แต่ที่สำคัญมากที่สุดคือ ครอบครัวต้องเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรักความเข้าใจกับเด็ก ก็จะช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรงได้

ที่มา : นสพ.มติชน วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.