Select Page

กระทรวงวิทย์ปั้น “เมืองวิทยาศาสตร์” ปฏิรูปวงการอุตสาหกรรมไทย

กระทรวงวิทย์ปั้น “เมืองวิทยาศาสตร์” ปฏิรูปวงการอุตสาหกรรมไทย

เมืองวิทยาศาสตร์เอกชนแห่งแรกของไทย ที่อมตะนคร ถือเป็นหนึ่งแนวคิดที่เข้าข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทย จากการเป็นฐานด้านการผลิตไปสู่ประเทศที่เป็นฐานด้านการค้นคว้าวิจัยในระดับสากล ซึ่งโครงการเมืองวิทยาศาสตร์จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตได้อย่างพอเพียง

          เป็นเพราะนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ต้องการเน้นดึงชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทย หรือให้ขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาในไทย

          จึงทำให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีหญิงอย่าง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ต้องหาแนวทางนำวิทยาศาสตร์เข้าไปสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยการบรรจงสร้าง “เมืองวิทยาศาสตร์” ขึ้นโดยใช้พื้นที่ของ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ที่ในอนาคตจะกลายเป็นเมืองวิทยาศาสตร์เอกชนแห่งแรกของไทย

  เรื่องนี้ “คุณหญิงกัลยา กล่าวเล่ารายละเอียดว่า โครงการเมืองวิทยาศาสตร์ที่อมตะนคร ถือเป็นหนึ่งแนวคิดที่เข้าข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทย จากการเป็นฐานด้านการผลิตไปสู่ประเทศที่เป็นฐานด้านการค้นคว้าวิจัยในระดับสากล ซึ่งโครงการเมืองวิทยาศาสตร์จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตได้อย่างพอเพียง

          “พูดง่ายๆ คือลักษณะของเมืองวิทยาศาสตร์เป็นการต่อยอดจากอุทยานวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ ที่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ริเริ่มมาและประสบความสำเร็จอย่างดี จึงต้องการขยายพื้นที่บ่มเพาะความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น เมืองวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นเมืองที่มีทั้งคนมาอยู่อาศัย และมาทำงานวิจัยให้โรงงานอุตสาหกรรม” คุณหญิงกัลยากล่าว และว่าโครงการนี้จะอยู่ภายใต้การผลักดันของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.)

          ที่สำคัญการตั้งเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ยังส่งผลต่อนโยบายด้านการศึกษาของประเทศด้วย เพราะล่าสุดมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน คือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ มหาวิทยาลัย 8 แห่งของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (MIT) เพื่อร่วมมือกันในการผลิตบุคลากรและสร้างห้องปฏิบัติการในการวิจัยไปเรียบร้อยแล้ว

          คุณหญิงกัลยาย้ำว่า เมืองวิทยาศาสตร์นี้ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน จึงนับเป็นครั้งแรกที่วงการวิทยาศาสตร์ วงการศึกษา และวงการอุตสาหกรรมมารวมกันได้มากขนาดนี้ โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเป็นตัวกลาง

          ทางฝั่งภาคเอกชนผู้ลงทุนในโครงการ สมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพร้อมของอมตะนครว่าจะเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของที่ดินและสาธารณูปโภคของโครงการทั้งหมด และมีหน้าที่หาลูกค้าหรือโรงงานที่จะเข้ามาลงทุน

          “เมืองวิทยาศาสตร์นี้จะยกระดับประเทศไทยจากประเทศที่เป็นเพียงฐานการผลิต ไปเป็นประเทศที่เป็นฐานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งผลให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถที่ไปทำงานอยู่ต่างประเทศได้กลับมาประกอบอาชีพในประเทศไทย โดยหวังให้ที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาของเอเชีย” สมหะทัยกล่าว

          สำหรับแผนการดำเนินงานของโครงการนั้นสมหะทัยชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อศึกษาร่างรายงานนโยบายรัฐและประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ส่วนการก่อสร้างจะเริ่มก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางภายในพื้นที่โครงการก่อน ประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนพฤศจิกายนและสามารถรองรับนักลงทุนเข้ามาได้

          “ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้า 2554 จะได้เห็นโรงงานอย่างน้อย 5-10 โรงงานที่เข้ามาเปิดในพื้นที่นี้” ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจอมตะนครกล่าว

          โครงการเมืองวิทยาศาสตร์กำหนดดำเนินการบนพื้นที่ 1,000 ไร่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ซึ่งมีมูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยในปีแรกทางอมตะนครจะเป็นผู้ลงทูนเองทั้งหมด หลังจากนั้น จะมีการเพิ่มส่วนการวิจัยเข้าไปในการผลิต เพื่อขยายตลาดสินค้าไปสู่ระดับสากลตามที่วางนโยบายไว้ เรียกว่า วิน วิน ด้วยกันทุกฝ่าย

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.