Select Page

ลมแดด! ฮีตสโตรก มันมากับความร้อน

ลมแดด! ฮีตสโตรก มันมากับความร้อน

 “โรคลมแดด จะเห็นเป็นข่าวบ่อยๆกับชาวบังกลาเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งละมากๆ”  “ฮีต สโตรก…สำหรับคนไทยเป็นเพียงการเตือน ให้ระมัดระวังเท่านั้น เชื่อว่า…อากาศร้อนในประเทศไทยจะไม่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเหมือนต่างประเทศ”

 

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ว่า…ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป โดยเฉพาะระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในประเทศไทยตอนบน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยตลอดช่วง จะสูงกว่าค่าปกติ…และสูงกว่าปีที่ผ่านมา

          อากาศร้อน…อุณหภูมิการเมืองก็ร้อนแรงอย่างนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.cueid.org บอกว่า หน้าร้อนขณะนี้อุณหภูมิสูงขนาดที่ว่าต้มไข่สุก ด้วยกลางแดดปรอทขึ้นไปถึง 42 องศา

          “อุณหภูมิขนาดนี้ ร่างกายจะมีการสูญเสียเหงื่อ น้ำ เกลือแร่มหาศาล”

          คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า คนที่เป็น สว. (สูงวัย) และยังมีโรคประจำตัว เช่น ความดัน ต้องทานยาลดความดันโลหิตอยู่แล้ว มีเส้นเลือดหัวใจ สมองตีบ มีโรคไต การขาดน้ำ เกลือแร่ ทำให้เลือดข้น…เกิดการกำเริบของโรคเส้นเลือดตีบและโรคไต

          แม้แต่คนที่คิดว่าแข็งแรงยังหนุ่มสาว การขาดน้ำ เกลือแร่ เมื่อถึงจุดหนึ่งศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองจะแปรปรวน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศา

          แทนที่ตัวจะมีเหงื่อกลับแห้ง ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าถึงระดับนี้จะหมายถึงอาการ… “Heat stroke” หรือ “อุณหฆาต” คือถึงตาย ไม่ใช่แค่อุณหอัมพาต อ่อนแรงเฉยๆ อาการฮีต สโตรก (Heat stroke) คนไทยอาจจะคุ้นกันดีในชื่อ… โรคลมแดด

          “โรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤติของร่างกาย ที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เนื่องจากอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง 5-10 องศาเซลเซียสในระยะเวลาสั้นๆ”ภาวะนี้…จะทำให้สมองรู้สึกชินชากับความร้อนที่ได้รับ จนไม่รู้สึกกระหายน้ำ…ทั้งๆที่สมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียหาย

          ส่งผลให้ระดับความดันเลือดตก…เลือดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการไตวาย หากเป็นมากๆ เซลล์กล้ามเนื้อก็จะเริ่มแหลกสลาย มีของเสียตกตะกอนในไต ทำให้เกิด ไตวายซ้ำซ้อน และเสียชีวิตในที่สุด

          “โรคลมแดด จะเห็นเป็นข่าวบ่อยๆกับชาวบังกลาเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งละมากๆ” คุณหมอธีระวัฒน์ ว่า “ฮีต สโตรก…สำหรับคนไทยเป็นเพียงการเตือน ให้ระมัดระวังเท่านั้น เชื่อว่า…อากาศร้อนในประเทศไทยจะไม่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเหมือนต่างประเทศ”

          ที่ผ่านมา อุณหภูมิในบ้านเรา มักไต่ระดับทีละเล็กละน้อยครั้งละ 1-2 องศาเซลเซียส…จาก 35 องศาฯ เป็น 36 องศาฯ และจาก 36 องศาฯ เป็น 37 องศาฯ จะไม่เพิ่มขึ้นจาก 35 องศาฯ ทีเดียวไปเป็น 40 องศาฯ

          “การไต่ระดับสูงขึ้นทีละน้อย…ร่างกายคนไทยจะชิน ปรับสมดุลได้เอง ไม่ต้องกังวล”

          อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีความพิการทางสมอง จิตประสาทแปรปรวน เป็นโรคหัวใจ ความดัน คนเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือปรับตัวเองได้ไม่ดี

          อีกข้อที่สำคัญ…ความร้อนของอากาศ ยังขึ้นกับความชื้นในอากาศ ซึ่งป้องกันไม่ให้เหงื่อระเหย ระบายความร้อนออกไม่ได้ ทำให้ความร้อนจริงที่ร่างกายต้องเผชิญสูงมากขึ้น ยิ่งอยู่กลางแดดและมีลมร้อนจัด…

          สภาวะแวดล้อมแบบนี้จะอันตรายยิ่งขึ้น ที่ต้องระวัง…ช่วงสงกรานต์ ออกกำลังกายกลางแจ้ง ตีแบดฯ ตีเทนนิส ก็มีโอกาสเป็นลมแดดได้เช่นกัน

          ย้ำอีกครั้ง…ถึงอันตรายที่เกี่ยวกับแดดและความร้อน แบ่งระดับความรุนแรงได้ 4 ระดับ…

          ระดับแรก แดดเผา ผิวบวม แดง ลอก ระดับที่สอง… ตะคริวตามน่อง กล้ามท้อง ระดับที่สาม… เพลียรุนแรง ใกล้จะช็อก ตัวเย็นชืดชื้น ชีพจรเร็วเบา เป็นลม อาเจียน แต่อุณหภูมิร่างกายยังปกติ

          ระดับที่สี่… ฮีต สโตรก (Heat stroke) ถือเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวแห้ง ร้อน ชีพจรเร็ว แรง อาจหมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิต

          อาการฮีต สโตรก ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนในโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลขั้นต้น ให้ประคบเย็นตามซอกตัว เช็ดตัว พัดลมระบายความร้อน นอนราบ ยกเท้าสูง

          หลบแดด ผึ่งลม ประคบเย็น และจิบน้ำ ถ้าอาการหนักมาก การใช้น้ำเย็นอาจทำให้เกิดตะคริวท้อง ให้นอนราบหรือตะแคง  “หากอาเจียนร่วมด้วย จำไว้ว่า…การดื่มน้ำจะทำให้เกิดอันตรายในระดับ 3 และถ้ามีอาการในระดับ 4 ห้ามให้น้ำดื่มเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายรุนแรงได้”

          ระยะนี้การพยาบาลให้น้ำทางปากอาจเป็นอันตรายได้ ยิ่งถ้าคนสูงอายุมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับยาดังกล่าวข้างต้น ยิ่งมีอันตรายสูงเข้าไปอีก คุณหมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า คนอ้วน คนที่ดื่มสุรา เบียร์ ของหวาน จะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะความสามารถในการปรับตัวกับความร้อนจะไม่ด

          อาการก่อนหน้า…ที่จะถึงขั้นอุณหฆาต อาจนำมาด้วยตะคริว หรือ หน้ามืด เพลีย คลื่นไส้ จะเป็นลม เพราะฉะนั้น…ให้ดื่มน้ำบริสุทธิ์มหาศาล อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ข้อสำคัญ ให้หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำชา กาแฟ สุรา

          ถ้ายิ่งต้องออกไปกลางแดดนานๆ นอกจากความร้อน ยังมีเรื่องแสงสว่างจ้า ที่ควรระวัง คือ อาการปวดหัว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคปวดหัวประจำ ไมเกรน (migraine) อยู่แล้ว… “ไมเกรนเป็นสาเหตุสำคัญไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของปวดหัวทั้งหมด จะมีอาการปวดรุนแรงขึ้น…และถี่ขึ้น”

          เนื่องจากแสงจ้า มีรังสี Ultraviolet (UV) ทั้งชนิด UVA และ UVB จะกระตุ้นให้ไมเกรนปะทุขึ้นมาได้

          เชิงวิชาการ…อาจจะอธิบายจากการที่สมองส่วนท้ายทอย (Occipital Lobe) ซึ่งเป็นส่วนรับแสง…ภาพของผู้ป่วยไมเกรนจะมีความไวกว่าปกติ นอกจากนั้น ยิ่งคนที่มีความสุขต่อการบริโภคขนมนมเนย ข้าวเหนียวมะม่วง ทุเรียน จนอ้วน (โดยดูจากดัชนีมวลกาย หรือขนาดรอบพุง) …จะยิ่งมีโอกาสเป็นไมเกรนมากขึ้น

          จากการศึกษาล่าสุดในวารสารปวดหัวปี 2553 ในประชากรของประเทศสหรัฐฯ จำนวน 21,783 ราย พบว่า… คนอ้วนจะมีโอกาสเป็นไมเกรนได้มากกว่าคนปกติ ทั้งในผู้ชายผู้หญิง และคนที่เป็นไมเกรนยังถูกกระตุ้นด้วยอาหารบางชนิดอีกด้วย

          ข้อที่พึงปฏิบัติ คือ ระวังแสงจ้าจากดวงอาทิตย์ ทั้งที่สอดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง หรือเมื่อออกไปกลางแจ้ง ต้องสวมแว่นกันแดดไว้ตลอด

          แว่นกันแดดต้องมีคุณสมบัติตัดทั้งแสงจ้า รวมทั้งรังสี UVA และ UVB เนื่องจากถ้าตัดแสงอย่างเดียว รูม่านตาจะยิ่งขยายโตมากขึ้น เป็นโอกาสให้ได้รับรังสีมากขึ้นไปอีก ทำให้กระตุ้นไมเกรน รวมทั้งทำลายเยื่อประสาทตา…เลนส์ตาสำหรับในสถานที่ทำงาน จอคอมพิวเตอร์ต้องไม่จ้าจนเกินไป

          “ไฟฟลูออเรสเซนท์…เป็นอีกปัจจัยที่ต้องระวังไม่ให้กะพริบ เพราะการกะพริบ จะยิ่งกระตุ้นให้ปวดไมเกรนเข้าไปอีก”

          อย่างไรเสีย…ในคนที่อ้วนแล้ว ควรต้องลดน้ำหนัก ถึงแม้ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าลดน้ำหนักแล้วไมเกรนจะดีขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือลดโอกาสเป็นหัวใจวาย อัมพฤกษ์ เบาหวาน

          นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ปวดไมเกรนต้องทบทวนว่า ไปรับประทานอาหารอะไรเป็นพิเศษ…ซึ่งแต่ละคนจะมีอาหารที่กระตุ้นไมเกรนไม่เหมือนกัน จึงต้องคอยจดจำ หลีกเลี่ยง มิฉะนั้นต้องทานยาแก้ปวดอยู่ร่ำไป

          “โดยเฉพาะ…ยาแก้ปวดยิ่งแรงเท่าไหร่ หรือยาที่มีสาร Ergot เช่น Cafergot …ถ้าใช้บ่อยเกิน 3 ครั้งขึ้นไปต่ออาทิตย์ จะยิ่งกระตุ้นให้ยิ่งปวดเข่าไปอีก และทำให้ต้องใช้ยาป้องกันการปวด ซึ่งต้องรับประทานทุกวันเป็นเดือน”

          คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ทิ้งท้ายว่า อากาศที่ร้อนระอุทะลุองศาอย่างนี้ เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงต้องเผชิญไม่มากก็น้อย ข้อเตือนภัยต่อสุขภาพที่แฝงมากับความร้อนเหล่านี้…คงช่วยไม่ให้คุณเสี่ยงจนเกินไป

          “สุดท้ายนี้…สงกรานต์ปีนี้ ขอให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่กับความร้อนได้อย่างมีความสุขนะครับ”.–จบ–

 

 

 

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.