Select Page

ตัวจริง! นักสะสมหนังสือเก่า เล่มเดียว 73,000 ซื้อ! ลอกเกร็ดอดีตจากหนังสืองานศพ เรื่องลับที่เขารู้

ตัวจริง! นักสะสมหนังสือเก่า เล่มเดียว 73,000 ซื้อ! ลอกเกร็ดอดีตจากหนังสืองานศพ เรื่องลับที่เขารู้

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ นักสะสมหนังสือเก่าตัวยงของประเทศไทย โชว์ “GRAMMATICA LINGUE THAI” หนังสือสอนภาษาไทยให้ชาวตะวันตกที่ซื้อมาในราคา 73,000 บาท พร้อมเปิดเกร็ดจากหนังสืองานศพ เรื่องลับที่เขารู้ จิ๊กซอว์แห่งอดีตที่เขาเก็บรวมไว้ ทั้งบอกเล่าเสน่ห์ ความน่าสนใจ ความภาคภูมิใจ ของการเก็บหนังสือเก่า และพลาดไม่ได้เปิดโฉมหน้า “หนอนหนังสือ” ตัวจริงเสียงจริง….อูย หยอง

        “หนังสือเก่า ที่หายาก คือความภูมิใจของเรา” นี่คือข้อความที่ปรากฏบนนามบัตรของ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ หรือพี่อ้วน กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ต้นฉบับ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ไทย และเป็นนักเก็บสะสมหนังสือเก่าตัวยงของประเทศไทย

        ประชาชาติธุรกิจออนไลน์แวะเวียนไปนั่งคุยกับคุณธงชัย ที่บ้าน…สำนักพิมพ์…ห้องสมุด ย่านงามวงศ์วาน 23 เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับหนังสือเก่า เสน่ห์ ความน่าสนใจ ความภาคภูมิใจ ของการเก็บหนังสือคืออะไร….

        คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว 

@คุณค่าของหนังสืองานศพ
       คุณธงชัยเล่าให้ฟังว่าเสน่ห์ของหนังสือเก่าอยู่ที่ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในหนังสือเก่าเหล่านี้ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องที่ out of print ไปนานแล้ว หลายเรื่องไม่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ เช่นนี้แล้วหนังสือก็หายสาปสูญไป เพราะฉะนั้นหนังสือเก่า โดยเฉพาะหนังสือที่ระลึกงานศพจึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่า มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้เราได้รู้เพิ่มขึ้น คล้ายเป็นการต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ การได้ค้นเจอมิติใหม่ๆ หรือสิ่งที่ไม่มีใครเคยรู้จึงเกิดความรู้สึกสนุปไปกับประวัติศาสตร์
      แหล่งของหนังสืองานศพที่สำคัญในเวลานี้ คุณธงชัยบอกว่า มีที่จตุจักร ยูเนี่ยนมอลล์ และคลองถม(คืนวันเสาร์) แล้วก็งานสัปดาห์หนังสือก็จะมีบูธหนังสือเก่า โดยในงานสัปดาห์หนังสือจะมีราคาสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง
       มูลค่าของหนังสือเก่านั้นขึ้นกับความพึงพอใจของผู้ขาย และผู้ซื้อ
       “อย่างบางเล่ม บางๆ ไม่มีรูปไม่มีอะไร คิดเรา 500 ผมไปงานสัปดาห์หนังสือมา ซื้อมาทั้งหมด 5 เล่ม 700 บาท เขาตั้งราคาให้เราต่อ มูลค่ามันขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นคุณซื้อแล้วเอาไปเขียนหากินได้ ก็คุ้ม หรือหนังสือใหม่ก็ได้ความรู้ไปคุย อย่างน้อยก็เป็นฐานข้อมูลที่ทำให้เขาไม่กล้าดูถูกเรา โดยเฉพาะถ้าทำเรื่องเกี่ยวกับงานการเมือง”
       ที่คุณธงชัยซื้อมานั้นมี “ประวัติ ตระกูลโปษยานนท์” ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ แตกสาแหรกเป็นหลายสายในปัจจุบัน หรือหนังสือเรื่อง “สุบิน สำนวนเองชาวใต้” ซึ่งคุณธงชัยยอมรับว่า ไม่รู้จะซื้อมาทำไม แต่ด้วยความที่ราคาไม่แพง เฉลี่ยแล้ว 5 เล่ม ตกเล่มละ 100 กว่าบาท
       คุณธงชัยบอกต่อว่า หนังสืองานศพที่ซื้อมานั้น ส่วนใหญ่ดูที่เนื้อหา ไม่ได้เน้นเฉพาะว่าต้องเป็นเรื่องของชนชั้นนำ
       นอกจากนี้ อีกเหตุหนึ่งที่ซื้อหนังสือเก่าก็เพราะรูปประกอบ เช่น “หนังสือที่ระลึกในงานหัตถกรรมของนักเรียนยุค 2498” คุณธงชัยบอกว่า เล่มนี้ซื้อมา 200 บาท ซึ่งถ้ามีโอกาสพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ก็จะต้องมีภาพประกอบ ยิ่งถ้าเป็นภาพเก่าด้วยแล้ว อย่างเล่มนี้มีภาพโรงเรียนสวนกุหลาบยุคเก่า  สำหรับคนสะสมหนังสือ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

@โชว์เกร็ดประวัติศาสตร์จากหนังสืองานศพ
        คุณธงชัยเก็บรวบรวมเกร็ดต่างๆ ที่อ่านพบในหนังสืองานศพไว้ ซึ่งถ้าบันทึกเสร็จแล้ว และมีจำนวนมากพอ คงจะได้อ่านเกร็ดเหล่านี้ในหนังสือรวมเล่มจากสำนักพิมพ์ต้นฉบับ
       เกร็ดสนุกที่คุณธงชัยหยิบยกมาเล่าก็ไว้ เป็นโน๊ตๆ ไว้ อย่าง
        “พระราชธรรมโสภณ เผื่อน เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ บันทึกไว้ว่าเมื่อ 6 กรกฎาคม 2492 พลเรือเอกหลวงชลธารพฤติไกร ได้ไปสนทนากับท่าน และมีฝรั่งกับล่ามมาดูกุฏิพระสองสามหลัง กล่าวทำนองจะขอซื้อกุฏิพระนั้นไปปลูกเป็นบ้านพัก แล้วแต่ทางวัดจะคิดราคาเท่าไร ฝรั่งคนนั้นปรากฏชื่อว่า มิสเตอร์ทอมป์สัน เจ้าของกิจการผ้าไหม จิม ทอมป์สัน แต่เจ้าอาวาสบอกว่า ได้ปรึกษากับโยมวัดแล้ว ปฏิเสธไปว่า เสียใจ ไม่อาจตกลงกันได้”
         คุณธงชัยบอกว่า ที่เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2492 สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็มีสปายสายลับมาแล้ว และนายจิม ทอมป์สัน เริ่มซื้อของเก่าแล้ว ด้วยประสงค์จะซื้อกุฏิวัดเครือวัลย์ที่สวยงาม โดยเรื่องนี้มาจากหนังสือที่ระลึกงานศพพระราชธรรมโสภณ เผื่อน สุมโน ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2519 
         อีกเรื่องหนึ่งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เรื่อง คำว่าปล่อยพระพุทธบาท 
         “พบในสำนวนของรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ 2 หน้า 446 ผมก็อธิบายว่า เป็นคำแผลงจากข้อมูลซึ่งพบว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำช้างต้นบรมจักรพาน ซึ่งไส้งาทะลุ เกรงจะล้ม ให้เอาไปปล่อยถวายเป็นพุทธบูชาที่พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี”

@หนังสือ “แพง” ที่สุดที่เคยซื้อ
         คุณธงชัยเล่าว่า แต่ละเดือนนั้นใช้เงินซื้อหนังสือแบบไม่มีจำกัด บางเดือนใช้เป็นหมื่น บางเดือนใช้ในหลัก 4-5 พัน บางเดือนไม่ได้ซื้อเลย โดยส่วนตัวนั้นคุณธงชัยบอกว่า ไม่ได้ร่ำรวยเงินทองมากมาย เป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้จากการค้าขายพระเป็นหลัก ขายเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ 5 หนังสือจึงเป็นเหมือนธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้มากกว่า
        ในวงการหนังสือเก่าตอนนี้ คุณธงชัยเป็นที่รู้จักกันในนาม “อ้วนต้นฉบับ” ซึ่งจัดว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ในวงการหนังสือเก่า หนังสือหายาก
         แต่ถ้าหยิบยกชื่ออื่น คุณธงชัยเสนอชื่อ คุณไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค ต่างคนต่างก็มีหนังสือดีอยู่กับตัว
         สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่คุณธงชัยบอกเล่าให้ฟังนั้น คือหนังสืองานศพพวกนี้ได้เข้าไปอยู่ในห้องสมุดชั้นนำของต่างประเทศ
         “ต่างชาติเขาเก็บมานาน หนังสือสำคัญๆ ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมยุโรปเป็นวัฒนธรรมที่สะสมข้อมูล เขาไม่เหมือนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทิ้งอย่างเดียว ได้หน้าลืมหลัง แล้วไม่เคยรื้อว่าหลังเป็นยังไงมีแต่เอาตัวรอดไปวันๆ”
         ไฮไลท์ในชีวิตการสะสมหนังสือเก่าของคุณธงชัยคงหนีไม่พ้น “GRAMMATICA LINGUE THAI” ซึ่งเป็นเล่มที่แพงที่สุด ประมูลมาในงาน Bangkok auction ที่ราคา 73,000 บาท ที่ว่าเป็นไฮไลท์นั้นเพราะคุณธงชัยบอกว่า ทราบจำนวนพิมพ์จากบันทึกของครูสมิธว่า พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ จำนวน 60 ก็อปปี้เท่านั้น
         GRAMMATICA LINGUE THAI เป็นตำราเรียนภาษาไทยของชาวตะวันตก พิมพ์ครั้งรัชกาลที่ 3 ปีสุดท้าย 2393 โดยสังฆราชปาเลอกัว เพื่อที่จะสอนภาษาไทยให้ชาวตะวันตกพูดภาษาไทยได้
         แต่ก่อนหน้าสังฆราชปาเลอกัว มีอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ GRAMMATICA THAI โดย เจมส์ โลว์ พิมพ์ปี 2371 ที่กาลากัตต้า ประเทศอินเดีย เล่มนี้ตอนนี้ยังพอหาได้ มูลค่า 3 แสนบาท ด้วยจำนวนพิมพ์เยอะพอสมควร
         GRAMMATICA LINGUE THAI พาทต้นเป็นพาทว่าด้วยตำราเรียนภาษาไทย ชื่อจินดามณี แต่ที่สังฆราชปาเลอกัว เพิ่มเติมข้างหลังคือ สำนวนการพูดจาระหว่างชนชั้นต่างๆ ลูกศิษย์พูดกับพระสงฆ์ ทาสพูดกับเจ้า บ่าวพูดกับนาย ขุนนางชั้นผู้น้อยพูดกับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พาทที่สำคัญที่สุดสำหรับนักเลงหนังสือคือหน้า 172 เพราะมีรายชื่อหนังสือ ของหอหลวงที่ในหลวงทรงเก็บรักษาไว้อยู่ในห้องสมุดหลวง
        “ความสนุกก็คือ ได้รู้ว่าเขาศึกษาอะไรกันอยู่ เขาพูดถึงบัญชีหนังสือไทยมีอะไรบ้าง พงศาวดารเมืองเหนือ พงศาวดารสยาม กฎหมายจินดามณี ดูหน้า 173 บรรทัดที่ 5-6 ขุนช้างขุนแผนว่าด้วยสหายเป็นทหารสองคนแย่งเมียกัน เห็นไหม เรื่องย่อคร่าวๆ ของวัฒนธรรมไทยที่จะให้ชาวยุโรปในขณะนั้นเข้าใจแบบง่ายๆ เล่มนี้ถามว่าทำไมซื้อ ก็เพราะเรารู้ว่าพิมพ์แค่ 60 เล่ม”

@หนังสือเก่าจำเป็นต้องได้รับการต่ออายุ
        เมื่อมีหนังสือดีอยู่กับตัว สิ่งหนึ่งที่คุณธงชัยทำคือ ต่ออายุให้กับหนังสือ เพื่อให้สังคมไทยได้รู้เรื่องประวัติความเป็นมาของตัวเอง โดยเล่ม  GRAMMATICA LINGUE THAI นี้ คุณธงชัยมอบให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ เอาไปพิมพ์ต่อายุโดยไม่คิดมูลค่า ออกมาเป็นเล่มปกแข็งสีแดงในราคาเพียง 650 บาท
         การฟื้นคืนชีพหนังสือเก่าจึงเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ต้นฉบับของคุรธงชัยทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ต่ออายุหนังสือไปแล้วประมาณ 30 รายชื่อ เช่น ตำราแม่ครังหัวป่าก์ สาระบัญชีว่าด้วยรายชื่อคนในกรุงเทพมหานครเมื่อ 2426 จดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทร์เจ้าพ่อวัดโพ
         ปัจจุบันคุณธงชัยเรีบกตัวเองว่า นักวิชาการอิสระ เพราะไม่ได้จบประวัติศาสตร์ แต่ก็ได้รับเกียรติ ได้รับการเชิดชูในด้านประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะจากอาจารย์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือแม้กระทั่งส่วนราชการ
         นอกจากนี้คุณอ้วยยังเป็นเอกชนเพียงรายเดียว ในอนุกรรมการชำระพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 และเป็นหนึ่งในอนุกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยที่มี ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ด้วยส่วนใหญ่คณะอนุกรรมการเหล่านี้เป้นอดีตข้าราชการ เป็นครู เป็นอาจารย์ ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคุณธงชัย

@เกร็ดความรู้เกี่ยวกับหนอนหนังสือ
        คุณธงชัยเล่าว่า หนอนหนังสือ คือหนอนที่กินหนังสือเป็นอาหาร ลักษณะคล้ายเม็ดถั่วเล็กๆ สีใส บีบแล้วจะเป็นน้ำ
         ลักษณะการกินหนังสือของหนอนพวกนี้นั้นตะกละตะกลามมาก จะทิ้งไว้เพียงฝุ่นผง เพียงเอามือดันสันหนังสือ ถ้าเล่มไหนมีฝุ่นหนังสือออกมาเป็นกระจุกแล้วละก็ สงสัยได้เลยว่า หนอนได้กินหนังสือเล่มนั้นแล้ว
         พวกหนอนจะเริ่มกินจากสันหนังสือ ปกแข็งนี่จะเป็นอาหารอันโอชะ เจาะทะลุไปเรื่อยจนถึงหน้าข้างใน เห็นเป็นรอยปรุประน่าขยะแขยง กระจัดกระจายเต็มหน้า หรือหนักหน่อยก็ทั้งเล่ม
         พี่อ้วนจึงบอกว่า ถ้ายังอยู่ในช่วงเริ่ม คือเคาะสันแล้วมีฝุ่นร่วงออกมา แต่ในตัวเนื้อกระดาษยังไม่เป็นไร ต้องยอมทิ้งปกไป เพื่อให้เนื้อในอยู่รอด
         ทั้งที่ “ปก” ถือเป็นหน้าเป็นตาและมีแรงดึงดูดนักอ่านขนาดนั้น แต่เจอหนอนหนังสือโจมตีเมื่อไร จำต้องเสียเอกราชทุกครั้งไป

ที่มา :วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.