Select Page

เปิดแสดง’โขนนางลอย’ สร้างสมานฉันท์ด้วยศิลปะ สืบสานงานช่างไทย

เปิดแสดง’โขนนางลอย’ สร้างสมานฉันท์ด้วยศิลปะ สืบสานงานช่างไทย

รอบการแสดงที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ชมที่หลั่งไหลมาอย่างมากมายทั่วสารทิศ เพื่อมาชมการแสดง “โขนพระราชินี” ตอนศึกพรหมมาศเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ปีนี้ (2553) ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องจัดการแสดงขึ้นอีกครั้ง
          แต่เป็นตอนใหม่ที่ชื่อ “นางลอย”หรือ “เบญกายแปลง”ตอนหนึ่งในวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ โขน”นางลอย” ปีนี้ไม่ธรรมดา!!
          เพราะนอกจากตัวแสดงทั้งตัวพระ ตัวนาง พระรองและพลพรรคเหล่าเสนาทั้งหลายจะเปิดโอกาสคัดเลือกนักแสดงสายเลือดใหม่ให้มาอวดฝีมือการร่ายรำ เพื่อสืบทอดศิลปะโขนไทยให้ยั่งยืนแล้ว สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจแก่คนดู และถือเป็นการสืบสานงานศิลปะ งานช่างของไทยมิให้เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องของ”ฉาก” ประกอบการแสดง ซึ่งมีถึง 5 ฉากด้วยกัน สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์คลุกเคล้าให้เข้ากันกับศิลปะประเพณีไทย กลายเป็นความตื่นตาตื่นใจที่จะได้เห็นในการแสดง


          อาทิ เทคนิคการแปลงกายของนางเบญกาย หรือการเปลี่ยนฉากที่ไม่ต้องวิ่งเข้า-วิ่งออกเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ด้วยการปิดไฟมืด เพราะสามารถเปลี่ยนฉากได้ด้วยรีโมต ที่มักจะเห็นในเวทีคอนเสิร์ตมากกว่าจะเป็นเวทีการแสดงโขน
          ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดีรองประธานอำนวยการจัดการแสดงโขน ชุดนางลอย กล่าวถึงงานแสดงว่าปรับปรุงจากบทคอนเสิร์ต พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ การแสดงโขนในครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พัสตราภรณ์ และจัดสร้างอุปกรณ์ประกอบฉากขึ้นใหม่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือและสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามประเพณีไทยโบราณ โดยมี อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดง
          ขณะที่ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างการแสดงโขน ชุดนางลอย กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่ในระยะหลังทรงเห็นถึงความซบเซาของนาฏกรรมตามแบบประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน เพื่อให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงพระราชทาน เพื่อเป็นการสืบสานฝีมือเชิงช่างทั้งช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม และช่างเงินช่างทอง รวมทั้งศิลปะการแต่งหน้าโขน
          “การแสดงโขนชุดพรหมมาศ เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีผู้ชมจำนวนมากเรียกร้องให้จัดแสดงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด จึงมีพระราชดำริให้จัดแสดงโขนต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์โขนเพราะโขนถือเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย ทรงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ โดยปีนี้ทรงเลือกบทรามเกียรติ์ ตอนนางลอย มาจัดแสดง ซึ่งเป็นตอนที่มีความสนุกสนานน่าชมและเป็นที่นิยมมาโดยตลอด”
          สำหรับครั้งนี้ผู้ที่มารับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ประกอบด้วย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทยผู้ออกแบบควบคุมการสร้างพัสตราภรณ์และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ) อาจารย์สุรัตน์ จงดาควบคุมการจัดสร้างหัวโขนและศิราภรณ์ อาจารย์สุดสาคร ชายเสมออกแบบและควบคุมการจัดสร้างฉากและสิ่งของประกอบการแสดง
          ซึ่งในส่วนของฉากนั้นได้มีการเนรมิตรฉากใหญ่ซึ่งเป็นฉากสำคัญขึ้นใหม่ 5 ฉาก โดยการระดมช่างฝีมือทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ หรือวิทยาลัยเพาะช่าง โดย 2 ใน 5 ฉากนั้นเป็นการเขียนฉากแบบ 3 มิติ ภายใต้การควบคุมของ อาจารย์วิชัย รักชาติ จากวิทยาลัยเพาะช่าง ฉากสามมิติเป็นเช่นไร อาจารย์วิชัยอธิบายว่า ที่รับผิดชอบมี 2 ฉาก คือ ฉากพลับพลาป่าพระรามกับฉากท้องพระโรงใน จะใช้การเขียนแบบเปอร์สเปคทีฟโดยอาศัยรูปแบบที่เป็นภาพเขียนรอบระเบียงคดวัดพระแก้วที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มาเป็นต้นแบบเขียนให้มีแสงเงาเพิ่มมาจากเดิม 2 มิติ ซึ่งภาพจะดูแบนๆ มาเป็นภาพ 3 มิติ
          “งานนี้ผมรับเอาแบบสเก๊ตช์ไอเดียของอาจารย์สุดสาครมาแล้วไปขยายเป็นภาพใหญ่แล้วนำไปเพนท์มีการปรับแบบด้วย เพราะในแบบภาพสเก๊ตช์จะให้มุมมอง 45 องศา แต่พอเปลี่ยนมาเป็นดูข้างหน้าตรงจะแสดงความรู้สึกได้ดีกว่า และง่ายต่อการทำพลับพลาให้หลุดออกมาเป็น 3 มิติ ก็เลยปรับแบบให้เป็นพลับพลาด้านตรง เพื่อการแกะโฟมในส่วนที่ต้องหลุดลอยออกมาจะได้สวมกันได้พอดี”อาจารย์วิชัยอธิบาย อาจารย์วิชัยบอกว่า งานนี้ค่อนข้างใหญ่ และเร่งด่วนและเป็นงานระดับประเทศ จึงระดมช่างฝีมือที่เป็นศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันจากเพาะช่างมาช่วยกันอย่างเต็มที่ และทำกันสุดฝีมือ
          ด้าน อาจารย์สุดสาคร ชายเสมผู้รับผิดชอบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมด กล่าวเพิ่มเติม ว่าโขนตอนนางลอยเป็นโขนสมัยใหม่ที่ดูสนุกสนานขึ้น มีตัวฉากที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ดูแล้วตื่นเต้น เพื่อขยายการร่ายรำในแต่ละตอน และฉากก็สร้างขึ้นมาอย่างมีข้อมูลมีหลักวิชาการ เช่น จำลองท้องพระโรงของกษัตริย์ไทยเข้ามาในฉากด้วย จึงมีความอลังการอย่างมาก เช่นฉากท้องพระโรงกรุงลงกา จะมีฉัตร มีเครื่องสูงรายสองข้าง เหมือนกับท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วมีคชสีห์ กับ ราชสีห์ ซึ่งทำขึ้นใหม่ขนาดใหญ่กว่าที่เคยเห็นในตอนศึกพรหมมาศ
          อาจารย์สุดสาครบอกว่า นอกจากนี้ ยังเพิ่มซุ้มภายในพระที่นั่ง ทั้งซุ้มหน้าต่าง ซุ้มพระโรง เพิ่มเสาให้ดูอลังการขึ้น เพียงแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าการแสดงโขนครั้งนี้ให้อะไรมากกว่าที่เราจะดูเฉพาะการร่ายรำ
          “สำหรับฉากฟินาเล่ จะเป็นฉากท้องพระโรงฝ่ายในมีเทคนิคในการเปลี่ยนฉากตอนนั้นเลย เมื่อไปดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่าเหมือนเราเข้าไปอยู่ในท้องพระโรงจริงๆ ตอนเปลี่ยนฉากจะควบคุมโดยรีโมต ทุกอย่างจะสวย ถ้าเห็นฉากพลับพลาป่าพระราม ที่แม่น้ำโคธาวารีจะต้องชอบ เพราะว่าตัวพลับพลาเป็นเพนติ้ง แล้วมีตัวมุขยื่นออกมาเป็นตัวจริง อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูจากวิทยาลัยเพาะช่างท่านมาดูบ่อยๆ ยังบอกว่าคนดูน่าจะนำกล้องส่องทางไกลมาด้วย เพราะว่ามันไม่ได้เป็นฉากโขนธรรมดา แต่มันเป็นของจริง แค่ยอดบุษบกก็เต็มไปด้วยลวดลายน่าศึกษาสำหรับศิลปกรรมไทยเช่น มีชั้นเหม มีหน้าพรหม ฯลฯ”
          ส่วนอุปกรณ์เด่นอีกอย่าง “วอสีวิกากาญจน์” สำหรับครั้งนี้สร้างใหม่อย่างวิจิตรงดงาม เสมือนของจริง
          “แต่ถ้าดูไกลๆ จะไม่เห็นความละเอียดประณีตของลวดลาย ถึงบอกว่าต้องพกกล้องส่องทางไกลมาดูด้วย”เสียงอาจารย์สุดสาครย้ำ และว่า เหตุที่ต้องสร้างอย่างละเอียดประณีต เพราะไม่ต้องการทิ้งรายละเอียดแม้แต่น้อย “เพราะรายละเอียดของศิลปะไทยช่วยให้งานเป็นทิพยภาวะ คือสวยเกินกว่าปกติ ดังนั้น จะทิ้งรายละเอียดไม่ได้เลย”
          นอกเหนือจากความงดงามประณีตในอุปกรณ์และฉากแล้ว ผู้ชมยังจะได้เรียนรู้งานด้านศิลปกรรมไทยอย่างน้อย 5 แขนง รวมอยู่ในโขนตอนนี้ทั้งหมด ตั้งแต่จิตรกรรม, ปฏิมากรรม, สถาปัตยกรรม, นาฏศิลป์,ดนตรี และวรรณกรรม ติดตามมาด้วยเรื่องการจัดกระบวน เช่น ตำรวจหวาย คือขบวนที่แต่งตัวเป็นยักษ์พนมมือถือหวาย คอยไล่คนไม่ให้มาจุ้นจ้านทางเสด็จฯตามด้วยขบวนโคมโบราณ ใช้เทียนจุดส่องทางไปจากนั้น มีนางพระกำนัลอัญเชิญเครื่องสูงไปในขบวนด้วยเครื่องราชูปโภคก็มี อย่างพวกหีบหมาก พานพระศรีอะไรต่างๆ เหล่านี้ จัดตามโบราณราชประเพณีอย่างถูกต้อง
          “ที่ตั้งใจทำมากมายขนาดนี้ เพราะเราสำนึกในความเป็นโขนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศที่จะต้องทำเป็นตัวอย่าง ต้องเป็นหลักให้กับบ้านเมือง เป็นต้นแบบให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย ความรับผิดชอบนี้ทำให้เราต้องทำให้ดีที่สุด ให้คนได้เห็นว่าศิลปะไทยก็ไม่ได้ไร้ค่า ยังมีของดีๆ ให้ดูอีกเยอะ”
          งานดีๆ ปีหนึ่งมีไม่กี่หน หากพลาดก็น่าเสียดาย ที่สำคัญหน้างานมีกระจังปิดทองลงยาทำขึ้นพิเศษจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหาทุนเข้ามูลนิธิศิลปาชีพ ฝีมืออาจารย์สุดสาคร จำนวนไม่มากแค่ 24 ชิ้นเท่านั้น
          สภาวะงานบ้านการเมืองที่ยังต้องการความสมานฉันท์ ความปรองดอง “ศิลปะ” อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสมานรอยร้าวนั้น ให้ขยับใกล้เข้ามาเป็นเนื้อเดียว เพราะแต่ไหนแต่ไร คนไทยเราก็เชื่อ ว่า…ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย จำเริญตาพาใจให้สบาย อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ
          เมื่อร่างกายจิตใจสุขสำราญแล้ว ความขุ่นข้องหมองใจก็ย่อมลดน้อยลงไป

 เรื่องย่อตอน’นางลอย’
         
          ทศกัณฐ์หาทางคิดจะตัดศึก พระรามจึงหาแผนการที่จะทำให้พระรามยกทัพกลับ โดยใช้ให้นางเบญกายลูกสาวของ พิเภกแปลงกายเป็นนางสีดาทำตายลอยน้ำไปที่หน้ากองทัพพระรามเบญกายกลัวพระอาญาของทศกัณฐ์ผู้เป็นปิตุลาไม่อาจทัดทานได้ จึงทูลว่า ยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของนางสีดามาก่อน จะขอดูรูปร่างนางสีดาจะได้แปลงกายให้ถูกต้อง ทศกัณฐ์จึงจัดให้ขบวนวอช่อฟ้าแห่นางเบญกายเพื่อไปดูรูปโฉมนางสีดา ณสวนขวัญ
          ครั้นถึงสวนขวัญนางเบญกายจึงเข้าไปหานางตรีชฎาผู้เป็นมารดา ซึ่งถูกถอดยศให้มาคอยรับใช้นางสีดา นางตรีชฎาครั้นรู้ว่าทศกัณฐ์ใช้นางเบญกายมาด้วยจะทำกล จึงเสียใจเป็นยิ่งนัก ด้วยพิเภกผู้สามี ได้ไปอยู่กองทัพพระราม นางเบญกายจึงขอเข้าไปดูตัวนางสีดา ครั้นถึงจึงเข้าไปเฝ้านางสีดาทูลถวายตัวว่าเป็นบุตรของพิเภกและตรีชฎาพร้อมทั้งลอบดูโฉมนางสีดา ครั้นจำได้มั่นคงจึงทูลลานางสีดากลับ
          นางเบญกายจึงแปลงเป็นนางสีดาเข้าไปเฝ้าทศกัณฐ์ ขณะนั้นทศกัณฐ์กำลังสำราญอยู่ในปราสาทครั้นเห็นเบญกายจำแลงมาเข้าใจว่าเป็นนางสีดาเข้ามาหาจึงออกไปเกี้ยวพาราสี จนเป็นที่ขบขันของเหล่านางกำนัล นางเบญกายอับอายเป็นยิ่งนักจึงแปลงกายคืนเช่นเดิม ทศกัณฐ์ครั้นเห็นเป็นนางเบญกายตกใจนัก จึงแก้เก้อ สั่งให้นางเบญกายรีบไปที่กองทัพพระราม นางเบญกายจึงเหาะข้ามมหาสมุทรไปจนถึงเขาเหมติรัน แล้วแปลงกายเป็นนางสีดาทำตายลอยน้ำ ไปวนอยู่ที่หน้ากองทัพพระราม
          ครั้นรุ่งเช้าพระรามตื่นบรรทมพร้อมพระลักษมณ์จึงตรัสชวนพระลักษมณ์ และเหล่าวานร ไปสรงน้ำริมฝั่งแม่น้ำ ครั้นเห็นนางเบญกายแปลง ตายลอยน้ำมาพระรามเข้าใจว่าเป็นนางสีดา จึงวิ่งเข้าไปอุ้มมาบนฝั่ง และทรงพระกรรแสง ด้วยคิดว่าเป็นนางสีดาจริงเมื่อพระรามทอดพระเนตรเห็น หนุมานจึงกริ้วโกรธด้วยคิดว่าหนุมานไปหักสวนขวา และฆ่า สหัสกุมารบุตรทศกัณฐ์ตาย ทศกัณฐ์จึงฆ่านางสีดาทิ้ง  น้ำมาหนุมานจึงทูลว่า นางสีดานี้อาจเป็นยักษ์แปลงมาด้วยศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย และลอยทวนน้ำมาจนถึงหน้าพลับพลา หนุมานจึงขอพิสูจน์โดยการนำศพมาเผาไฟ แม้เป็นนางสีดาจริง หนุมานยอมถูกประหารชีวิต
          พระรามเห็นด้วย จึงสั่งให้สุครีพคุมวานรทำเชิงตะกอนเพื่อเผาศพนางสีดาแปลง เมื่อเชิงตะกอนเสร็จจึงให้นำศพนางสีดาวางบนเชิงตะกอน แล้วจุดไฟเผาให้เหล่าทหารวานรล้อมไว้ เบญกายครั้นโดนไฟเผาทนไม่ได้จึงเหาะขึ้นตามเปลวควันหนีไป หนุมานจึงเหาะตามจับนางเบญกาย เพื่อนำตัวมาถวายพระรามเพื่อให้รับโทษ


          
          ‘นางลอย’เปิดแสดงแล้ว 23 กรกฎาคม 2553 การแสดงโขน ชุดนางลอย เปิดแสดงจำนวน 7 รอบ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจองบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โทร.0-2247-0013 บัตรราคา 400 บาท/600 บาท/800 บาท/1,000 บาท และราคาพิเศษ 100 บาท สำหรับนักเรียน-นักศึกษา
          วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น. (รอบเสด็จพระราชดำเนิน)
          วันที่ 23 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น. และวันที่ 24-25 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. และ 19.30 น.(รอบประชาชน)
          วันที่ 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 น. และ15.00 น. (รอบนักเรียน-นักศึกษา)
 
 
          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

(ชมคลิปวีดีโอ)

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.