Select Page

รู้ทัน’นิวเคลียร์”กัมมันตรังสี’หมดแรงก่อนถึงไทย?

รู้ทัน’นิวเคลียร์”กัมมันตรังสี’หมดแรงก่อนถึงไทย?

เหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดในญี่ปุ่น หลังแผ่นดินไหวจนเกิดสึนามิมีคนตายนับหมื่น ทั่วโลกเกาะติดสถานการณ์ เฝ้ามองการสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างหดหู่เร่งระดมเงินช่วยเหลือและแสดงความเห็นใจ อีกด้านหวาดวิตกถึงการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี กลบข่าวธรณีพิบัติภัย สึนามิถล่ม ชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่นจนราบเป็นหน้ากลอง

          เสียงระเบิดดังถึงไทยในทันที โดยที่ไม่รู้ว่ารังสีอันตรายจะเดินมาถึงเมื่อไหร่ ความวิตกกังวลเกรงว่า สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากแดนปลาดิบ จะกระจายถึงน่านฟ้าแดนสยาม หลังจากสภาพภูมิอากาศไทยเปลี่ยนแปลงจากร้อนจัดมาเย็นจัดประกอบกับฝนตกหนัก อันเนื่องจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทย มีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วประเทศมีอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องไปอีก 1-2 วัน และอุณหภูมิจะลดลง

          ความกังวลที่เกรงว่าฝนจะหอบรังสีอันตรายมาด้วยนั้น สะพัดไปทั่วอินเตอร์เน็ต เมื่อทุกคนต่างแสดงความห่วงใย ส่งต่อคำเตือนถึงกันจนกลายเป็นความวิตกกังวลนำไปสู่คำถามที่ว่า รังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมาถึงไทยหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไร และป้องกันอย่างไร

          เรื่องนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคำตอบ ในฐานะหน่วยงานดักจับรังสี โดยมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศกระจายอยู่ในจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 8 สถานีได้แก่ จ.เชียงใหม่ พะเยา ขอนแก่น อุบลราชธานี ตราดระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ ข้อมูลจากทุกสถานีจะส่งไปยังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสีแห่งชาติที่กรุงเทพฯ แสดงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ รายงาน 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ในช่วงเวลานี้จากปกติจะรายงานวันละครั้ง

          ขณะนี้ไม่พบความผิดปกติของรังสีที่ตรวจจับว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด ทั้งก่อนและหลังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระเบิด ในระยะเวลา 1 ปีมีค่าปริมาณรังสีเท่าเดิม คือ 0.05 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งปริมาณห่างจากตัวเลขที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายอีกหลายแสนเท่า

          ตัวเลขนี้ได้รับการยืนยันจาก ดร.วีระชัย วีระเมธีกุลรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่าปริมาณรังสีที่ตรวจวัดได้ยังไม่ถึงค่าที่ต้องทำการตรวจสอบด้วยซ้ำไป โดยค่าเริ่มตรวจสอบอยู่ที่ 0.2 ไมโครซีเวิร์ต แต่ขณะนี้ค่ารังสีอยู่ที่ 0.05 ไมโครซีเวิร์ต เป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่จะทำอันตรายกับชีวิตมนุษย์

          “ตัวเลขรังสีมีผลกระทบต่อมนุษย์นั้นมีหลายระดับเริ่มตั้งแต่ 2.5 แสนไมโครซีเวิร์ต จะมีผลทำให้เม็ดเลือดมีภาวะผิดปกติ ถ้าไม่ตรวจจะไม่รู้สึก ตัวเลขประมาณ 4 แสนไมโครซีเวิร์ต ร่างกายจะเริ่มรู้สึก ตัวเลข 5 แสนไมโครซีเวิร์ต จะมีอาการคลื่นไส้ ตัวเลข 2 ล้านไมโครซีเวิร์ต จะเริ่มอาเจียน ถ้าเกิน 4 ล้านไมโครซีเวิร์ต จะมีโอกาสเสียชีวิตได้”ดร.วีระชัยยกตัวอย่างตัวเลข เพื่อเปรียบเทียบว่าประเทศไทยยังปลอดภัยจากรังสีอันตรายที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ข้อสงสัยที่ว่าสารตัวนี้จะมาถึงไทยหรือไม่นั้น

          รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ยืนยันโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์ว่า โอกาสที่รังสีจากญี่ปุ่นจะเดินทางมาถึงประเทศไทยน้อยมาก เพราะระยะทางไกลกว่า 2 พันกิโลเมตร และทิศทางลมพัดไปฝั่งตรงข้ามประเทศไทย โอกาสที่จะเดินทางมาถึงไทยถึงมีน้อยมากและรังสีที่ลอยมาในอากาศมีอายุประมาณ 8 วันเท่านั้น

          ดังนั้น ข้อสันนิษฐานที่ว่า รังสีอันตรายจะเดินทางมาถึงไทยหรือไม่นั้น เป็นไปได้น้อยมาก

          ข้อสงสัยต่อมาคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายได้รับรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย  

        ดร.วีระชัยมีข้อแนะนำว่า ทาง ปส.มีบริการตรวจวัดปริมาณรังสีฟรี 24 ชั่วโมง เป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 10 นาที มีทั้งหมด 3 แบบ 1.เครื่องวัดรังสีแกมมา 2.โฮลว์ บอดี้ เคาน์เตอร์3.เครื่องระบุ ไอโซโทป รังสีแกมมาแบบพกพามีความพร้อมตรวจทั้งในที่ตั้งและเคลื่อนที่กรณีที่ต้องนำไปใช้นอกสถานที่ ปส.มีความพร้อมเต็มที่เช่นกัน

          ถึงขณะนี้มีคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นมาตรวจวัดรังสีแล้วหลายสิบคน รวมทั้งแพทย์ พยาบาลที่เดินทางไปช่วยเหลือเหยื่อสึนามิ และนักเรียนไทย เดินทางมาตรวจกันอย่างต่อเนื่อง กรณีที่พบว่ามีผู้ป่วยได้รับสารรังสีในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทาง ปส.ก็จะดำเนินการส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล

          ข้อสงสัยเรื่องอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจะรู้ได้อย่างไร

          รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์อธิบายถึงเทคโนโลยีตรวจวัดอาหารปนเปื้อนรังสีประมวลผลได้ใน 3 ชั่วโมงว่า ขณะนี้ได้ร่วมมือกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) ในการสุ่มตรวจอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นปลาดิบ มันฝรั่ง ลูกพลับแห้ง ฯลฯ ยังไม่พบสารปนเปื้อน และยืนยันอีกครั้งว่า

          “เรายังกินอาหารปลอดภัย”ผู้ที่ยังข้องใจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีที่ระเบิดในญี่ปุ่นอีก โทร.ไปสอบถามได้ที่ ศูนย์ข้อมูลฉุกเฉินกรณีอุบัติเหตุทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเปิดสายให้คำปรึกษา-แนะนำ ในเวลาราชการ ได้ที่ โทร.0-2596-7600 ต่อ 6713-6715 หรือเบอร์ตรง 0-2562-0102 โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญระดับดอกเตอร์ให้คำแนะนำทุกคำถามมีทีมผู้เชี่ยวชาญระดับดอกเตอร์ให้คำแนะนำทุกคำถาม

          ทางด้าน ผศ.ปรีชา การสุทธิ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย อดีตนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย หนึ่งในคณะกรรมการของไอเออีเอ และผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงในการตรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมา ไดอิจิ ของญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งสิ้น 54 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ผลิตผลเป็นพลังงานไฟฟ้าราคาถูก แต่การสร้างต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น ตอกเสาเข็มลึกลงไปใน     ชั้นหิน 30 เมตร เพื่อให้โครงสร้างของอาคารปฏิกรณ์ทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รวมถึงความรุนแรงจากการเกิดสึนามิด้วย

          “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมา ไดอิจิ อายุ 30 ปีแล้ว ถือเป็นโรงไฟฟ้าระบบ Boiling Water System รุ่นที่หนึ่งของญี่ปุ่น มีทั้งสิ้น 6 ยูนิต โดยยูนิตที่ 4-5-6 นั้นได้หยุดการเดินเครื่องปฏิกรณ์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2553 แล้ว โดยยูนิต 4 นั้น หยุดการเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานโดยแร่ยูเรเนียมในเตาปฏิกรณ์ในทุกยูนิตนั้นมีเตาละ 200 แท่ง เมื่อเปลี่ยนแต่ละครั้งก็ต้องหยุดเดินเครื่องอย่างน้อย2 เดือน เพื่อให้แร่เหล่านั้นคลายความร้อนลงเหลือในระดับปกติ โดยทั่วไปคือไม่เกิน 30 องศา

          กรณีของยูนิตที่ 4 นั้น แร่ยูเรเนียมไม่ได้อยู่ในเตา แต่ยังคงอยู่ในอาคารคลุมปฏิกรณ์ ดังนั้น เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในยูนิต 4 จึงเป็นการระเบิดที่เกิดจากความร้อนและความดันในอาคารที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากน้ำที่แช่แร่ยูเรเนียมลดลง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำในอาคารจึงเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซไฮโดรเจนและออกไซด์

          เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นการระเบิดแบบ Hydrogen Explosion ซึ่งไม่มีการรั่วไหลของแร่ยูเรเนียมสู่ธรรมชาติแต่อย่างใด แต่สารกัมมันตรังสีที่ออกมากับน้ำและฝุ่นด้วยนั้น เกิดจากน้ำหล่อเย็นที่ค้างอยู่ในระบบแล้วมีเศษฝุ่นและโลหะที่มีการปนเปื้อนของไอโอดีน-131 ซีเซียม-137 ปะปนออกมาด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายเมื่อสูดเข้าไปจากการหายใจ ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมีมากกว่า 3 กิโลเมตรควรอยู่แต่ในที่พักอาศัยเท่านั้น เพราะรังสีเหล่านั้นไม่อาจทะลุผ่านวัตถุที่มีความหนาแน่นได้ สารกัมมันตรังสีเหล่านั้นก็จะยิ่งลดพลังการแผ่รังสีลงและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์”ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทยอธิบาย

          คำยืนยันจากรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์คงทำให้ประชาชนคนไทยคลายความกังวลใจลงได้บ้างจะได้ไม่ตระหนกตกใจ พาลไปกลัวฟ้ากลัวฝนจะหอบรังสีมาด้วย

ที่มา : มติชน วันจันทร์ที่ 21  มีนาคม 2554

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.