Select Page

วงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ

แผ่นดินไหวนอกชายฝั่ง เมืองเซนได เมืองหลวงของ จังหวัดมิยางิ บ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินคนญี่ปุ่นหลายล้านคน ล่าสุดได้ปรับเพิ่มความรุนแรงจาก 8.9 ริกเตอร์ เป็น 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้ “เมืองเซนได” (แปลว่า หนึ่งพันชั่วคน) ฉายา “เมืองแห่งต้นไม้” อันสวยงาม ต้องพังราบไปในพริบตา พร้อมกับอีกหลายเมืองในจังหวัดมิยางิ

         แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงนี้ ส่งผลให้เกาะญี่ปุ่นเคลื่อนที่ไป 2.40 เมตร จากแผ่นโลกที่มุดเข้าหากัน แต่ข่าวไม่ได้บอกว่าเคลื่อนไปทางไหน อาฟเตอร์ช็อก ก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายร้อยครั้ง จนถึงวันจันทร์ก็ยังไม่หยุด

          ผมดีใจที่เห็นคนไทยช่วยกันระดมทุน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนชาวญี่ปุ่น แต่ขอฝากข้อคิดไว้ตรงนี้ว่า ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนที่กำลังประสบภัย ขาดแคลนไฟฟ้า น้ำดื่ม อาหาร ไม่มีบ้านอยู่ ขาดเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เพราะญี่ปุ่นยังหนาว กลางคืนอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดในเวลานี้ ไม่ใช่เงิน (ที่กระทรวงการต่างประเทศบริจาค 5 ล้านบาท) แต่เป็น ปัจจัย 5 เพื่อการดำรงชีวิต ข้าวปลาอาหารต้องสำเร็จรูป กินได้ทันที

          ความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ 3 ล้านล้านบาท ขึ้นไป น่าวิตกที่สุดคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ วันวาน แบงก์ชาติญี่ปุ่น ตัดสินใจอัดฉีดเงิน 40 ล้านล้านเยน 14.8 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบ เพื่อประคองผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น

          วันนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ “วงแหวนแห่งไฟ” หรือ Ring of Fire ต้นตอแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในญี่ปุ่น แต่เราก็ต้องอยู่กับ วงแหวนแห่งไฟ นี้ไปอีกชั่วนาตาปี จนกว่าโลกใบนี้จะแตกดับ และจะต้องเจอกับโศกนาฏกรรม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และ คลื่นยักษ์สึนามิ ตลอดไปเช่นเดียวกัน

          นี่คือ ชะตากรรม ที่เราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้

          วงแหวนแห่งไฟ Ring of Fire เป็นรอยแยกของเปลือกโลกใต้มหาสมุทร แปซิฟิก มีลักษณะโค้งเป็นรูปเกือกม้ายาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร ตลอดรอยแยกของวงแหวนแห่งไฟนี้ มีภูเขาไฟตั้งอยู่ทั้งหมด 452 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นแอ็กทีฟพร้อมที่จะระเบิดได้ทุกเมื่อถึง 75 เปอร์เซ็นต์

          แผ่นดินไหวร้อยละ 90 ที่เกิดขึ้นในโลก และ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ร้อยละ 80 ล้วนเกิดขึ้นที่บริเวณ วงแหวนแห่งไฟ ที่เหลือ ร้อยละ 17 เกิดขึ้นใน แนวเทือกเขาอัลไพน์ ตั้งแต่ หมู่เกาะชวา ผ่านเทือกเขาหิมาลัย ไปถึง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อีก ร้อยละ 5–6 เกิดขึ้นแถบ มหาสมุทรแอตแลนติก

          มาดูกันต่อครับ ประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ มีประเทศอะไรบ้าง

          เอาเฉพาะชื่อคุ้นๆ เช่น โบลิเวีย, บราซิล, แคนาดา, โคลอมเบีย, ชิลี, คอสตาริกา, เอกวาดอร์, ติมอร์ตะวันออก, เอลซัลวาดอร์, ฟิจิ, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, นิการากัว, ปาปัวนิวกินี, ปานามา, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, หมู่เกาะโซโลมอน, สหรัฐฯ เป็นต้น

          ไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศรอบวงแหวนแห่งไฟ เจอแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เช่น ชิลี, อินโดนีเซีย, นิวซีแลนด์ และ ญี่ปุ่น แต่ละครั้งรุนแรงอันดับต้นๆของโลก เช่น ชิลี เจอหนักสุด 9.5 ริกเตอร์, อินโดนีเซีย 9.1 ริกเตอร์, นิวซีแลนด์ 7.1 ริกเตอร์ ล่าสุด ญี่ปุ่น 9.0 ริกเตอร์ เสียหายรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

          ในความเป็นจริง ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นครั้งนี้ ไม่ใช่เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เกิดจาก คลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 10 เมตร ที่ทะลักฝ่าเขื่อนป้องกัน กวาดเอาชีวิตผู้คน รถยนต์ บ้านเรือน แม้กระทั่งเครื่องบินรบ

          ทุกประเทศที่ตั้งอยู่บน วงแหวนแห่งไฟ ต่างก็รู้ตัวดี ต้องมีชะตากรรมอย่างนี้ในวันใดวันหนึ่ง อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะย้ายประเทศหนีไม่ได้

          ตราบใดที่ “ทรัพยากรใต้โลก” ยังถูกมนุษย์ขุดขึ้นมาใช้จนหมดไปเรื่อยๆ “แผ่นดินไหว–ภูเขาไฟระเบิด–คลื่นยักษ์สึนามิ” ก็จะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับสมดุล ในขณะที่ “ประชากรโลก” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แย่งกันกิน แย่งกันใช้ สุดท้ายทรัพยากรในโลกนี้ก็ต้องหมดไป มหันตภัยล้างโลกก็จะตามมา นี่คือ กฎแห่งสัจธรรม.

        

 

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

          โดย : “ลม เปลี่ยนทิศ”

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.