แก่…แต่ยังมีไฟอยู่
มันยากขึ้นมาก หลังจากที่คุณอายุเกิน60 ปีไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ หากคุณทำงานหนักและขยันขึ้น”เทอรี โรบินสัน พนักงานอายุ 70 ปี ของบีแอนด์คิว ห้างสรรพสินค้าที่ขายเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งบ้านในลอนดอน บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส
การที่ผู้สื่อข่าวให้ความสนใจกับบีแอนด์คิวน่าจะเป็นเพราะว่าห้างสรรพสินค้าใน สหราชอาณาจักรแห่งนี้มีความแตกต่างไปจากห้างอื่นๆ เพราะมีพนักงานเป็นผู้สูงอายุวัยเกินเกษียณ มาทำงาน แห่ง นี้จำนวนมากห้างให้
ข้อมูลก็พบตัวเลขว่า มากกว่า 25% ของ พนักงานเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงวัยเกินกว่า50 ปี และคนที่อายุอาวุโสมากที่สุดก็ ปาเข้าไปถึงอายุเฉียดร้อยที่ 95 ปี คือ คุณปู่ซิดนีย์ ไพเรอร์ ซึ่งตามข่าวก็ บอกว่ายังทำงานได้ดีอย่างกระฉับกระเฉง และเป็นที่รักใคร่ของลูกค้าเสียด้วย
สำหรับ โรบินสัน ซึ่งตอนนี้ทำหน้าที่เป็นพนักงานแนะนำลูกค้าและกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ก็บอกว่า เหตุผลที่มาทำงานแม้จะอายุเยอะแล้วไม่ใช่เพราะมีปัญหาหรือไม่มีเงินใช้ แต่เป็นเพราะคิดว่าตัวเองยังมีไฟอยู่ ยังไม่อยากนอนพักอยู่กับบ้าน แต่ยังอยากทำงาน และบีแอนด์คิวก็เปิดโอกาสให้
ในส่วนของบีแอนด์คิว เมื่อก่อนโน้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนชราเหมือนกัน แต่เมื่อราวๆ 20 ปีก่อน ในตอนที่ไปเปิดสาขาที่เมืองMacclesfield ก็ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน และพบว่าประสบความสำเร็จมาก แถมยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริหารจากที่เคยคิดว่าเอาคนแก่มาทำงานแล้วจะยุ่งยาก เพราะต้องฝึกกันมากกว่าคนหนุ่มที่คาดว่าจะฝึกง่าย แต่พอเอาเข้าจริงๆ คุณลุง คุณตาเข้าใจอะไรๆ มากกว่าคนรุ่นหนุ่มสาวเยอะ อาจจะเป็นเพราะมีทักษะ มีประสบการณ์มากกว่าทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า
พูดถึงทักษะและประสบการณ์แล้ว ในหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบีแอนด์คิวซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าของใช้ในบ้านมาก เช่น เวลาขายปลั๊กหรือสายไฟ บางทีพนักงานหนุ่มสาวก็ตอบคำถามลูกค้าหรือช่วยลูกค้าต่อสายไฟไม่เป็น แต่คนแก่ๆ ที่ต่อสายไฟมาเยอะแล้วในชีวิตนี้ กลับทำได้ง่ายๆ ยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แถมยังให้คำแนะนำลูกค้าได้สารพัดแบบที่คนรุ่นใหม่แนะนำไม่ค่อยจะได้ด้วย อาชีพผู้แนะนำสินค้าในร้านแบบบีแอนด์คิวนี้ จึงเป็นอาชีพที่เหมาะทีเดียวสำหรับผู้ผ่านโลกมามาก
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารบีแอนด์คิวยังบอกว่า พนักงานสูงวัยมีความรับผิดชอบต่องาน ไม่ค่อยจะลางานบ่อยๆ แถมยังมีความยืดหยุ่นสูง เช่น หากให้เปลี่ยนตารางการทำงานก็ไม่เคยบ่น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง
ลีออน ฟอสเตอร์-ฮิลล์ ที่ปรึกษาของบีแอนด์คิว บอกว่า บริษัทมีนโยบายเป็นกลางด้านอายุของพนักงาน และโยนคำว่าเกษียณทิ้งไปตั้งแต่15 ปีก่อน รวมถึงไม่นำอายุมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้านสวัสดิการด้วย เรียกว่าทุกคนที่เป็นพนักงานจะได้รับสิ่งที่เท่าเทียมกันหมด
แต่หากจะบอกว่าบีแอนด์คิวให้โอกาสเฉพาะคนแก่ก็คงจะไม่ใช่ เพราะในทางกลับกันบีแอนด์คิวก็เปิดโอกาสรับพนักงานที่เป็นคนหนุ่มสาวด้วย โดยมีสัดส่วนจำนวนพนักงานที่อายุน้อยกว่า 25 ปี พอๆ กันกับพนักงานสูงวัย
ย้อนกลับไปที่ โรบินสัน คุณปู่บอกว่านอกจากการทำงานในหน้าที่แล้ว คุณปู่ยังมีอีกบทบาทหนึ่งในองค์กร คือการเป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานเด็กๆ ซึ่งหลายคนขาดทักษะในด้านสังคม และไม่ค่อยจะคำนึงถึงอนาคต ซึ่งการได้ผู้มากประสบการณ์มาแบ่งปัน ก็น่าจะเป็นการทำให้คนทำงานรุ่นใหม่ได้ข้อคิดอะไรๆ ไปมาก
เห็นอย่างนี้แล้วคนไทยเราอาจจะต้องหันมามองเรื่องนี้กันหน่อยในอีกไม่ช้าไม่นานเพราะสังคมไทยตอนนี้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เรามีประชากรสูงวัยมากขึ้นทั้งจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และการที่ระบบสาธารณสุขดีขึ้น ทำให้มีคนชรามากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการดูแลให้ดี ก็จะกลายเป็นภาระที่คนวัยทำงานต้องเลี้ยงดูคนชราจำนวนมาก แต่หากเราสามารถสร้างทักษะ นำประสบการณ์การผ่านชีวิตมาเป็นปัจจัยในการหางานที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุทำ โดยเฉพาะงานที่คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอยากทำ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการวางแผนด้านประชากรและเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนชราทำงานหลากหลาย อาทิคนเก็บบัตรผ่านประตูในโบราณสถาน หรือผู้แนะนำเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งคนวัยทำงานไม่ชำนาญเท่าคนวัยเกษียณ เป็นต้น
นอกจากภาครัฐที่ควรจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมแห่งผู้สูงอายุที่เรากำลังจะก้าวเข้าไปแล้ว บริษัทเอกชนเองก็อาจจะต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากสมองของพนักงานผู้สูงอายุที่หลายๆ ท่านยังสามารถสร้างประโยชน์ให้ได้ แต่จะต้องหาจุดเหมาะสมที่ลงตัวระหว่างการจ้างผู้มีประสบการณ์กับค่าแรงที่อาจจะสูงไปหน่อย ซึ่งหากสามารถหาส่วนผสมที่ลงตัวได้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งทางสังคมและธุรกิจได้เป็นอย่างดีทีเดียว m
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ 5 เมษายน 53