Select Page

สวนครัวเพื่อสุขภาพของคนไทย

สวนครัวเพื่อสุขภาพของคนไทย

ว่ากันว่าตามความเป็นจริงแล้ว แม้จะมีเนื้อที่ไม่มากนัก เพียงร้อยตารางวาข้างหรือหลังบ้านในกรุงเทพฯ  เราก็อาจมีโอกาสเป็นเจ้าของสวนครัว เครื่องเทศ และอาหารบำรุงสุขภาพได้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนคงคุ้นกับพืชสวนครัวดี แต่หากมีความสับสนอยู่บ้างระหว่างพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร ซึ่งผู้เขียนได้แยกออกไปเป็นพืชสมุนไพร เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน

คำว่าพืชสมุนไพร นั่นคือ “พืชที่ใช้เป็นเครื่องยา ซึ่งหาได้ตามพื้นบ้านและไม่ใช่เครื่องเทศ” ดังนั้น พืชเครื่องเทศจึงมีบทบาทจำกัดเฉพาะเพียงช่วยปรุงแต่งเติมเสริมให้อาหารมีกลิ่น มีรสชาติ น่ารับประทานยิ่งขึ้นเท่านั้น มิได้เน้นถึงสรรพคุณด้านการบำรุงรักษาโรคแต่อย่างใด

สวนพืชเครื่องเทศนั้น จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ชุ่มชื้น ดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ทั้งนี้เพราะพืชเครื่องเทศส่วนใหญ่ มักต้องการสภาพแวดล้อมค่อนข้างพิเศษไม่ว่าจะเป็นจันทน์เทศ (Nutmeg : Myristica fragrans) ซึ่งชอบความชุ่มชื้นสูงสม่ำเสมอเช่นเดียวกันกับกานพลู (Cloves : Eugenia caryphyllata) พริกไทย (Pepper.Piper nigrum) วานิลลา (Vanilla : Vanilla planifolia) อบเชย (Cinnamon : Cinnamomum zey lanicum) สำหรับขิง (Ginger : Zingiber officinate) ขมิ้น(Turmeric : Curcuma longa) ผักชี (Coriander : Coriandrum sativum) เหล่านี้ต้องการสภาพแวดล้อมทั่วๆไปที่พบในภาคเหนือตอนบน และอาจปลูกได้ในเขตภาคกลาง หากมีการดัดแปลงในเรื่องสภาพแวดล้อมให้บ้าง

พืชสวนครัวนั้น คนไทยเราใช้กันเป็นประจำ เรียกว่าขาดแทบไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ผักชีลาว (Dill)นั้น มีบสวยงามคล้ายเฟิน ควรปลูกเป็นกลุ่มในแปลง ซึ่งมีผักสวนครัวและสมุนไพรอย่างอื่นผสม ตะไคร้กอใหญ่คล้ายหญ้า มีใบแคบโค้งสวยงาม ปลูกเป็นหมู่ตามแนวยาวของแปลงขอบสนามก็เป็นภาพที่สวยงามสีเขียวสดชื่น กะเพรา (Holy basil) ใบสีม่วงออกดอกสวยงาม ควรปลูกเป็นกลุ่มในแนวใกล้เคียงกับโหระพา (Sweet basil) ซึ่งมีใบหอมสดชื่นเด็ดรับประทานได้ทันที สะระแหน่ ปลูกในที่มีแดดอ่อนรำไร ดินชื้นอยู่เสมอ ต้นของมันแผ่ปกคลุมผิวดินได้ดีไม่แพ้พืชคลุมดินใดๆ เลย ขิง ข่า กระชาย ขมิ้น ปลูกเป็นหมู่สลับสอดแทรกกันถัดไปเป็นไม้พุ่มที่ออกดอกหอม เช่น มะนาว มะกรูด และส้มจี๊ด ทั้งใบ เปลือกผล และน้ำส้มคั้น ล้วนแต่ใช้ได้ในพิธีการครัวของเรา

ควรปลูกพริกขี้หนูสวน พริกชี้ฟ้าปลูกให้เป็นดงใหญ่ ใกล้เสาไม้ต้นสูง ซึ่งมีพริกไทย ดีปลี พลูใบสีเขียว พลูใบสีทอง เลื้อยเกาะขึ้นไป ผลิดอกออกฝักติดผล สีเขียวเป็นมันงามน่าดูนัก  พืชหลายชนิดสามารถให้ประโยชน์ได้หลากหลาย หลายชนิดเป็นทั้งพืชที่ให้ดอกใบสวยงามและยังอาจใช้เป็นอาหารประเภทผัก หรืออาหารบำรุงสุขภาพก็ได้ พืชหลายชนิดเป็นแหล่งของไวตามิน และเกลือแร่ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพซึ่งพืชดังกล่าวหากมีการรวบรวมนำมาปลูกให้เป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นแปลงที่ออกแบบมาอย่างดีแล้ว จะเป็นสวนที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มาก ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเก็บเกี่ยวไปทำเป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้อีกด้วย

พืชอาหารบำรุงสุขภาพ ต่างออกไปจากพืชสมุนไพร ทั้งนี้เพราะพืชอาหารบำรุงสุขภาพนั้นเราใช้ประโยชน์ในรูปของการป้องกันมากกว่าการใช้ประโยชน์ในแง่การบำบัดรักษา ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ส่วนของพืช ซึ่งเราจะเก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์รู้คุณสมบัติและรู้ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้คุณสมบัติการบำรุงสุขภาพอย่างเต็มเปี่ยม

สวนพืชอาหารบำรุงสุขภาพ จึงควรประกอบด้วย พืชไม้ดอก ไม้ยืนต้น ไม้ผลควรปลูกคละเคล้ากันไป โดยมีการออกแบบวางผังแปลงให้เกิดความสวยงามเป็นหมู่ตัวอย่างของพืชอาหารบำรุงสุขภาพ มีดังต่อไปนี้

พืชผัก                                                   

แครอต (Carrot : Daucus carota)

ขึ้นฉ่าย (Cerlery : Apium graveolens)

ฟักแม้วหรือมะเขือเครือ (Chayote : Sechium edule)

แตงร้าน (Cucumber : Cucumis sativus)

มะเขือยาว (Eggplant : Solanum melongena)

ผักโขม (Spinaca : Spinacia oleracea)

เท้ายายม่อม (Clerodendron indicum)

กระเจี๊ยบมอญ (Okra : Hibiscusesculentus)

มะเขือพวง (Solanum torvum)

ไม้ผล

มะกอกน้ำ (Elaeocarpus hygrophilus)

อโวกาโด (Avocado : Persea americana)

กล้วย (Banana : Musa paradisiaca)

มะเดื่อฝรั่ง (Common Fig : Ficuscarica)

องุ่น (Grapes : Vitis vinifera)

ฝรั่ง (Guava : Psidium guajava)

มะนาวฝรั่ง (Lemon : Citrus limon)

ทับทิม (Pomegranate : Punicagranatum)

อะเซอโรลา (Acerola : Malphighiaglabra)

มะตูม (Bael fruit : Aegle marmalos)

มะขามป้อม (Emblic : Phyllanthusemblica)

มะขาม (Tamarind Tamarindusindica)

มะเฟือง (Starfruit : Averrhoa carambola)

ไม้ดอกไม้ประดับและพืชเครื่องดื่ม

อัญชัน (Butterfly pea : Clitoriaternata)

คาร์โมมาย (Chamomile : Matricariachamomilla)

กระเจี๊ยบแดง (Roselle Hibiscussabdariffa)

เก๊กฮวย (Chrysanthemum : Chrysanthemum spp.)

เตยหอม (Frgrant screw pine : Pandanus amaryllifolius)

ตะไคร้ (Lemongrass : Cymbopogoncitratus)

คำฝอย (Safflower : Carthamustinctorius)

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันศุกร์ที่  1 กุมภาพันธ์ 2556 หน้า C7

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.