Select Page

ทั่วโลกตะลึง!พบ”เสือปลา”เขาสามร้อยยอด

ทั่วโลกตะลึง!พบ”เสือปลา”เขาสามร้อยยอด

นักวิชาการทั่วโลกตะลึง พบเสือปลาใกล้อุทยานฯสามร้อยยอด ถึง 23 ตัว ทั้งที่ไอยูซีเอ็นจัดอยู่ในสถานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และถูกคุกคามอย่างหนัก นักวิจัยชี้โชคดีอยู่ในที่คนรวย ชาวบ้านเข้าใจเลยไม่มีใครจับกิน


     นายพรชัย ปทุมรัตนาธาร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 มกราคม ว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552  มีชาวบ้านมาแจ้งกับตนว่า มีเสือปลาแม่ลูก 2 ตัวอยู่ในนาข้าว ในพื้นที่ ทุ่งผักชี ต.ดอนยายหนู และ ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้เข้าไปตรวจสอบดู พบว่า เป็นเสือปลาขนาดย่อม หนัก 10.5 และ 11 กิโลกรัม รู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก เพราะในรายงานสถานะการณ์เสือปลาในโลกใกล้จะสูญพันธุ์ เมื่อเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่บริเวณที่ชาวบ้านพบเพิ่มเติม ก็พบรอยตีนเสือปลาจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว จึงตั้งเรื่องขออนุมัติกับทางต้นสังกัดทำโครงการศึกษานิเวศเสือปลา กรมอุทยานฯได้อนุมัติโครงการให้ศึกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 
  

    “เราได้ออกแบบทำกรงดักในพื้นที่บริเวณนั้น รวมทั้งติดตั้งกล้องถ่ายภาพ และได้เปรียบเทียบลวดลายตามตัวทุกครั้งที่กล้องถ่ายภาพไว้ได้ พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบันนี้มีเสือปลาทั้งหมด 23 ตัวด้วยกัน ส่วนกรงดักเสือปลาที่ออกแบบเอาไว้นั้นสามารถดักได้ถึง 15 ตัว ตัวล่าสุดจับได้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552  ทีมงานได้ติดปลอกคอติดวิทยุติดตามการดำรงชีวิต ไป 13 ตัว อีก 2 ตัวที่ยังติดไม่ได้ เพราะเป็นลูก ส่วนอีก 3 ตัว พบว่าสัญญาณวิทยุติดตามตัวหาย ขณะนี้เหลือติดตามตัวได้แค่ 10 ตัวเท่านั้น แต่ทุกตัวค่อนข้างอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์”นายพรชัย กล่าว
   

    นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับเสือปลานั้นตัวที่โตเต็มที่จะมีขนาดประมาณสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว ตัวผู้หนักประมาณ 9-13 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 6-9 กิโลกรัม ยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร เป็นสัตว์ที่องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือไอยูซีเอ็นประกาศว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างหนักอยู่ในสถานะการที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที จึงถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างมากที่เจอสัตว์ชนิดนี้ในประเทศไทยมากถึง 23 ตัว ถือเป็นข้อมูลล่าสุดสำหรับนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องเสือปลาจากทั่วโลก
  

     “เสือปลาเป็นสัตว์ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่งของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ น่าแปลกใจมากว่าบริเวณที่เราพบนั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรืออยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แต่กลับพบว่า พวกมันอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า ใกล้ๆกับนากุ้งของชาวบ้าน โดยหลบอยู่ตามพุ่มหนามเตี้ยๆ สอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ หลายคนบอกว่า พบสัตว์ชนิดนี้เป็นประจำพวกมันจะออกหากินเวลากลางคืน โดยจะกินปลาเป็นอาหาร”นายพรชัย กล่าว
   

       นายพรชัย กล่าวว่า จากการประมวลสถานะการที่เกิดขึ้น พบว่า เป็นโชคดีของเสือปลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาก เพราะชาวบ้านแถบนั้นค่อนข้างจะมีฐานะ และเข้าใจถึงธรรมชาติของเสือปลาค่อนข้างดี ที่สำคัญคือไม่กินกุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่ และยังกินปลาที่กินกุ้งเป็นอาหารด้วย
    

      “ชาวบ้านเล่าว่า หลายครั้งที่ไปตรวจนากุ้งจะเจอเสือปลาหาอาหารอยู่ ในหนองน้ำใกล้ๆ แต่ไม่เคยทำร้ายใคร ออกจะกลัวคนด้วยซ้ำ อาจจะมีบ้างที่มันออกมากินไก่ในเล้าชาวบ้าน แต่นานๆครั้งถึงจะมี เสือปลาจะสู้หมาไม่ได้ บ้านไหนที่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เอาไว้     จะเลี้ยงสุนัขด้วย เพราะเสือปลากลัว จากรายงานที่ผ่านมาเสือปลาไม่เคยทำร้ายคน ถ้าไม่จวนตัว และทำให้มันตกใจมากๆจริง”นายพรชัย กล่าว
    

       เมื่อถามว่า ได้รายงานเรื่องนี้ให้ใครทราบอย่างเป็นทางการเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพเสือปลาในโลกนี้หรือยัง นายพร ชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ร่วมโครงการวิจัยคือ นางพัสนันท์ คัทเตอร์ ได้รับเชิญจากนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาไปบรรยายเกี่ยวกับเสือปลาในประเทศไทยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิจัยที่นั่นตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก นอกจากนี้ได้รายงานเรื่องนี้ในที่ประชุมนักวิชาการสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้แล้ว ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนสถานภาพหรือไม่อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาอีก เพราะเวลานี้แทบจะไม่มีใครมีข้อมูลมาเปรียบเทียบกับพื้นที่ล่าสุดตรงนี้ได้เลย

  
      วันเดียวกัน คณะประเทศอาเซียนที่ร่วมประชุมอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ที่ อ. หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ระดับโลก เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช จำนวนกว่า 30 คน ได้เดินทางเข้าดูความหลากหลายทางธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนายนพวงศ์ พฤกษชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นำเสนอข้อมูลของอุทยาน

     จากนั้นนางพัสนันท์ คัตเตอร์ นักวิจัย โครงการวิจัยและอนุรักษ์เสือปลา นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้สำรวจเสือปลาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ปรากฏว่า ผลการตั้งกล้องถ่ายภาพ พบเสือปลาชุกชุมมากถึง 22 ตัวและอาจมีมากกว่านี้ เสือปลาเป็นสัตว์ไม่ดุร้าย กินอาหารจำพวก ปลา หนู งู แต่ปัจจุบันถูกขึ้นบัญชีแดงว่าใกล้สูญพันธุ์ โครงการฯจึงต้องเร่งศึกษาวิจัย และเตรียมการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ
 

     จากนั้นคณะเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายบุญลือ  พูนนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และ มิสเตอร์โรเบิร์ต สไตเมทซ์ หน.ฝ่ายชีววิยาการอนุรักษ์ (WWf.)ประเทศไทย นำเสนอข้อมูลโครงการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในพื้นป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันพบประชากรเสือโคร่งประมาณ 10 ตัว แม้ไม่มากนักแต่เจ้าหน้าที่พบลูกเสือขนาดเล็กแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ดี  ซึ่งสาเหตุหลักของการลดลงของเสือโคร่ง คือ สัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งมีน้อยลง เช่น เก้ง กวาง สำหรับการเพิ่มประชากรเสือให้ได้ 2 เท่า คาดว่าต้องใช้ระยะเวลามากถึง 10 ปี
 

     นางมัณฑนา ศรีกระจ่าง เจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์ กรมอุทยานฯ เสนอข้อมูลการแก้ปัญหาของคนกับช้างป่า และพาคณะฯไปสุ่มดูช้างป่า ภายในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมนักท่องเที่ยว และนักเรียนในพื้นที่ ปรากฏว่าพบช้างป่าเพศผู้ และเพศเมีย อายุประมาณ 25 ปี ลักษณะสมบูรณ์  2 ตัว ออกมาหากิน บริเวณแปลงหญ้าหน้าผาสอง สร้างความตื่นเต้นให้คณะเจ้าหน้าที่และนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.