Select Page

“หอยนางรม” คือ “ข้าวโพดคั่วประจำโรงหนัง” ในยุคเอลิซาเบธที่ 1

“หอยนางรม” คือ “ข้าวโพดคั่วประจำโรงหนัง” ในยุคเอลิซาเบธที่ 1

หลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกขุดค้นพบ ณ โรงละครยุคเช็คสเปียร์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า บรรดาผู้ชมละครเวทีในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ต่างพากันขบเคี้ยวอาหารทานเล่นแปลกประหลาดหลายอย่าง ซึ่งคนดูหนังในยุคปัจจุบันคงไม่คิดที่จะนำเข้าไปทานในโรงภาพยนตร์

 

          สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกขุดค้นพบ ณ โรงละครยุคเช็คสเปียร์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า อาหารทานเล่นของนักดูละครเวทีในยุคราชวงศ์ทิวดอร์ ประกอบไปด้วย หอยนางรม ปู รวมทั้งหอยชนิดต่าง ๆ เช่น หอยแมลงภู่ เป็นต้น

          ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการขุดค้นโรงละครชื่อ “เดอะ โรส” และ “เดอะ โกล๊บ” ในย่านเซาธ์ แบงก์ ริมแม่น้ำเทมส์ ยังเปิดเผยด้วยว่าผลไม้ เช่น ลูกเกดอบแห้ง ลูกพลัม เชอร์รี่ และลูกพีช พายแบล็คเบอร์รี่และเอลเดอร์เบอร์รี่ รวมทั้งปลาสเตอร์เจี้ยน ยังถูกบริโภคกันอย่างกว้างขวางโดยนักดูละครยุคนั้นเช่นกัน
         รายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุด้วยว่า อาหารทานเล่นที่ถูกขุดค้นพบในโรงละครนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสถานะทางสังคมและชนชั้นของผู้เข้าชม กล่าวคือ


          สามัญชนทั่วไปจะมีเงินไม่มากนัก จึงทำได้แค่ซื้อตั๋วเข้าไปยืนดูการแสดงอยู่ห่าง ๆ ตรงลานโรงละครและมักจะขบเคี้ยวหอยนางรมไปด้วย

         “แท้จริงแล้ว หอยนางรมถือเป็นอาหารหลักของคนยากจนในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักพบเปลือกหอยนางรมหล่นอยู่เกลื่อนกลาดในแหล่งโบราณคดียุคสมัยดังกล่าวแทบทุกแห่ง” จูเลียน โบวเชอร์ นักโบราณคดีอาวุโสจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งกรุงลอนดอน ผู้ขุดค้นโรงละครทั้งสองแห่ง กล่าว
         ขณะที่ชนชั้นสูง ผู้มีเงินมากเพียงพอที่จะซื้อตั๋วนั่งในโรงละคร มักกินปูและปลาสเตอร์เจี้ยนเป็นของทานเล่น โดยปลาสเตอร์เจี้ยนถือเป็นปลาที่มีราคาแพงกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ในยุคนั้น

         “ภายใต้เบาะที่นั่งของโรงละคร เราพบชิ้นส่วนของปู ซึ่งเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะมีราคาแพงในยุคนั้น” โบวเชอร์กล่าวต่อ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกว่า คนดูที่อยู่ในชนชั้นสูงกว่าสามารถซื้อหาอาหารทานเล่นราคาแพงซึ่งถูกนำเข้ามาจากต่างแดน เช่น ลูกพีช และ ผลไม้อบแห้งต่าง ๆ

         พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งกรุงลอนดอนได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “The Rose and the Globe: Playhouses of Shakespeare′s Bankside, Southwark” ซึ่งเป็นรายงานวิจัยเกี่ยวกับการขุดค้นสำรวจครั้งนี้ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 มีโบวเชอร์และเพื่อนนักโบราณคดีชื่อ แพท มิลเลอร์ เป็นผู้เขียน หนังสือเล่มดังกล่าวได้บอกเล่าเรื่องราวทุกแง่มุมที่ถูกขุดค้นพบจากโรงละครทั้งสองแห่ง ตั้งแต่โครงสร้างอาคาร ไปจนถึงเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และ ชนชั้นของผู้ที่เข้าไปชมละคร

         โรงละคร “เดอะ โรส” ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2130 โดยมักจัดแสดงละครจากบทประพันธ์ที่เขียนโดย “คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์” ขณะที่ “เดอะ โกล๊บ” ซึ่งเป็นแหล่งแสดงละครเวทีที่เขียนบทโดย “วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์” ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2142 และถูกเพลิงไหม้ใน พ.ศ.2156 ก่อนจะถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในอีก 1 ปีถัดมา และเช่นเดียวกับโรงละครส่วนใหญ่ในกรุงลอนดอนยุคนั้น โรงละครแห่งนี้ถูกปิดไปโดย “กลุ่มพิวริตัน” (ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลผู้เคร่งครัดในคริสตศาสนาและไม่ยอมรับการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษมาเป็นนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์) ในปี พ.ศ.2185
 

         โรงละครแห่งนี้ถูกบูรณะซ่อมแซมใหม่และเปิดทำการอีกครั้งในปี พ.ศ.2540 

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.