Select Page

วัยรุ่นฮิตใช้ “สื่อไอที” บอกรักวาเลนไทน์

วัยรุ่นฮิตใช้ “สื่อไอที” บอกรักวาเลนไทน์

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันสื่อไอทีมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยงในด้านต่างๆ ของวัยรุ่น ทั้งนี้จากข้อมูลความนิยมในการใช้สื่อใหม่ๆ ในระบบไอที นั้น อาจจะมีการใช้ช่องทางที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัยของวัยรุ่นได้

           สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันสื่อไอทีมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยงในด้านต่างๆ ของวัยรุ่น ทั้งนี้จากข้อมูลความนิยมในการใช้สื่อใหม่ๆ ในระบบไอที เช่น การส่งข้อความสั้น (SMS) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) และเครือข่ายสังคมใหม่ในรูปแบบเว็บเพจ เช่น hi5, Facebook ฯลฯ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจจะมีการใช้ช่องทางที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัยของวัยรุ่นได้

          พญ.รัฎฐินี ชินะจิตพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันวิจัยเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการฉลาดรักยกกำลังสาม “รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้” สำรวจวัยรุ่นชายและหญิง ในหัวข้อ วัยรุ่นไทย: สื่อรักวาเลนไทน์ 2010 ระหว่างวันที่ 5-12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ระดับมัธยมต้น ถึงมหาวิทยาลัย จากสถาบันการศึกษา 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,320 คน พบว่า

          1.วัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมใช้ข้อความสั้น (SMS) ในการสื่อรักวันวาเลนไทน์มากที่สุด โดย 5 อันดับแรก คือ SMS ร้อยละ 61.8 บอกตรงๆ ร้อยละ 52.3 ไฮไฟว์ (hi5) ร้อยละ 42 MSN ร้อยละ 37.7 และอี-เมล (E-mail) ร้อยละ 32 โดยเมื่อได้รับข้อความสื่อรัก วัยรุ่น ร้อยละ 51.4 รู้สึกประทับใจ รองลงมา ร้อยละ 13 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.1 เฉยๆ ร้อยละ 8.1 ไม่เชื่อ ร้อยละ 1.9 เชื่อว่าจริง

          2.วัยรุ่น 6 ใน 10 คน ยอมรับว่าติดไอที แต่ก็ยินยอมให้พ่อแม่ดูข้อมูลในไอทีทั้งนี้ วัยรุ่น ร้อยละ 60.5 ยอมรับว่าติดการใช้ไอที และร้อยละ 72.6 บอกว่ายินยอมให้พ่อแม่ดูภาพ และข้อความ (message) จากอุปกรณ์ไอทีของตนเองเพราะมีความบริสุทธิ์ใจไม่ปิดบังพ่อแม่

 

          3.วัยรุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่าการใช้ไอทีบอกรักทำให้เป็นแฟนกันง่ายขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น โดยวัยรุ่นร้อยละ 70.7 เห็นด้วยว่าไอทีทำให้เป็นแฟนกันได้ง่ายขึ้นจริง และร้อยละ 72.5 ยังเชื่อว่าการใช้ระบบไอที เป็นเหตุให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ร้อยละ 66.7 ไม่คิดจะนัดพบบุคคลที่รู้จักทางไอที

          4.วัยรุ่นส่วนใหญ่ คือ ชายร้อยละ 66.2 หญิงร้อยละ 52 ได้รับเนื้อหาข้อความทางเพศที่ส่งผ่านไอที ตั้งแต่นานๆ ครั้ง จนถึงได้รับทุกวัน และมีวัยรุ่น ร้อยละ 43.1 ตอบว่าไม่เคยได้รับเลย และวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเปิดดูสื่อเกี่ยวกับเพศที่ได้รับ โดยดูแล้วจะลบทิ้งมากที่สุด ร้อยละ 55.4 รองลงมา ดูแล้วส่งต่อ ร้อยละ 15 และดูแล้วเก็บไว้เก็บคนเดียวร้อยละ 7.8 มีเพียงร้อยละ 21.8 ที่ไม่ดูและลบทิ้ง โดยสื่อที่ได้รับอิทธิพลต่อความรู้สึกทางเพศของชายในระดับปานกลางถึงมากที่สุด ร้อยละ 67.8 มากกว่าเพศหญิงซึ่งมีเพียงร้อยละ 25

          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การที่เด็กเห็นบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเด็กแต่ละคนว่ามีพื้นฐานทางครอบครัวเป็นอย่างไร เด็กบางคนเติบโตจากครอบครัวที่ทำแต่งาน ไม่มีเวลาคุยกันในครอบครัว ก็อาจจะทำให้มีโอกาสเลียนแบบได้ ซึ่งจุดนี้ต้องให้ความเข้าใจกับตัวเด็กและตัวพ่อแม่เองต้องเข้าใจด้วยว่าตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นต่างมีความรู้สึกอย่างไร แล้วลูกของเขาในขณะนี้จะรู้สึกอย่างไร

          จึงเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจในครอบครัวจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าเพราะเป็นการสอน 1 ต่อ 1 ดีกว่าการสอนจากครูอาจารย์ที่จะต้องดูแลเด็ก 30-50 คน

ที่มา: นสพ. มติชน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.