Select Page

ภาระหนักอึ้ง “นารีขี่ม้าขาว” กู้เศรษฐกิจญี่ปุ่น

ภาระหนักอึ้ง “นารีขี่ม้าขาว” กู้เศรษฐกิจญี่ปุ่น

หลังแอ่นกันไปเลยสำหรับสาวยุ่น ที่จู่ๆก็กลายเป็น “นารีขี่ม้าขาว” ต้องรับบทหนักกู้ชาติ กู้เศรษฐกิจ เพราะได้แรงหนุนจากนายกรัฐมนตรีฝีปากกล้าของญี่ปุ่น “ชินโซ อาเบะ” ที่ประกาศกร้าวว่า ผู้หญิงคือทรัพยากรที่ถูกกดขี่มากที่สุดของญี่ปุ่น จะต้องลดช่องว่างทางเพศในตลาดแรงงาน เพื่อให้ผู้หญิงได้โชว์กึ๋นและใช้ศักยภาพเต็มที่

 

                  ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่คับฟ้า ผู้หญิงญี่ปุ่นยังคงถูกกดขี่อย่างมาก แม้จะมีการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ตั้งแต่ปี 1986 แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว คำว่าความเท่าเทียม กันทางเพศในที่ทำงานและที่บ้าน ก็เป็นเพียงฝันกลางวันของสาวยุ่น เพื่อเอาใจผู้หญิงญี่ปุ่น “นายกรัฐมนตรีอาเบะ” กำลังพยายามอย่างหนักที่จะกดดันให้บริษัทต่างๆดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยผู้นำวิสัยทัศน์ไกลของญี่ปุ่นตั้งเป้าว่า ในบริษัทหนึ่ง ต้องมีผู้บริหารผู้หญิงอย่างน้อยคนหนึ่ง เพื่อแลกกับแรงจูงใจด้านการลดหย่อน ภาษี ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อสนับสนุนคุณแม่ทั้งหลายให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

 

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์ มักจะตัดสินใจลาออกไปอยู่บ้านเลี้ยงลูก เพราะวัฒนธรรมการทำงานของพี่ยุ่นปฏิบัติกับผู้หญิงเสมือนเป็นประชาชนชั้น 2 ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ด้วยแล้ว เกือบทุกบริษัทมีนโยบายคล้ายคลึงกันคือ หลังจากลาคลอดครบตามกำหนด ถ้าอยากกลับมาทำงานอีก ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ตำแหน่งล่างๆ ตรงกันข้ามกับสาวโสด และผู้หญิงที่ไม่มีลูก พวกนี้สามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปเรื่อยๆตามความสามารถ ก็เพราะอย่างนี้ ผู้หญิงที่อยากเป็นแม่คนจึงถูกบีบกลายๆให้เกษียณ อายุก่อนกำหนด ผลการศึกษาของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า 70% ของผู้หญิงญี่ปุ่น เลือกที่จะออกจากงานหลังคลอดลูก ซึ่งอัตราสูงกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบ กับอเมริกาและเยอรมนี ต่างกันก็ตรงที่ในอเมริกาและเยอรมนี มีสวัสดิการสำหรับเด็ก ทำให้ผู้หญิงอยู่บ้านเฉยๆได้โดยไม่ต้องทำงาน แต่สำหรับผู้หญิง ญี่ปุ่น ปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานหลังคลอดลูก ก็เพราะบรรยากาศในออฟฟิศที่ไม่เป็นมิตร และไม่เกื้อหนุนกับบทบาทความเป็นแม่

 

อีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ถึงสถานการณ์ย่ำแย่ของผู้หญิงญี่ปุ่นในตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน เป็นผลการศึกษาของศูนย์กลางกำหนดนโยบายด้านการทำงาน ประจำปี 2011 ค้นพบว่า 75% ของผู้หญิงญี่ปุ่นต้องการ ที่จะกลับไปทำงานอีกครั้งหลังคลอดลูก แต่มีเพียง 43% ที่สามารถกลับ ไปทำงานตามปรารถนา กระนั้น ผู้หญิงที่กลับไปทำงานหลังคลอด มักจะ ถูกตัดเงินเดือน และลดบทบาทหน้าที่ในบริษัท เป็นการบีบกลายๆให้ลาออกไปอยู่บ้านเลี้ยงลูก ในบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ดูเหมือนว่าชิเซโด้จะมีพัฒนาการก้าวหน้ากว่าใคร นับตั้งแต่ปี 1990 บริษัทเครื่องสำอางอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ได้ริเริ่มโปรแกรมสนับสนุนสวัสดิการสำหรับเด็ก โดยอนุญาต ให้พนักงานใช้สิทธิความเป็นพ่อแม่ลากิจได้มากกว่าปกติ ไฟเขียวให้มีชั่วโมงการทำงานสั้นกว่าปกติ ให้เงินอุดหนุนสำหรับศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ที่สำคัญภายในองค์กรชิเซโด้ ยังทำงานอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยมีนโยบายส่งเสริมผู้หญิงให้ได้รับการโปรโมตเป็นผู้บริหารระดับสูง ในสัดส่วน 30% ภายในสิ้นปี 2013 ปัจจุบันอัตราส่วนของผู้นำที่เป็นผู้หญิงในกลุ่มชิเซโด้ ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 25.6% หรือ 25,000 คน

                 “ยูกิ ฮอนดะ” เป็นหนึ่งในพนักงานของชิเซโด้ ซึ่งทำงานกับองค์กรนี้มาตั้งแต่ปี 1989 สามีของเธอก็ทำงานที่เดียวกัน ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน เธอบอกว่า รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณบริษัทนี้มาก ที่ให้การสนับสนุนมาตลอด และรู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ได้ทำงานกับบริษัทที่ใจกว้างอย่างชิเซโด้ ซึ่งไม่เคยสร้างแรงกดดันให้ผู้หญิงที่แต่งงานมีลูก แถมยังสนับสนุนให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมด้วย

                 ความพยายามของนายกรัฐมนตรีอาเบะจะสูญเปล่าหรือไม่ คงต้องจับตามองกันต่อไป ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ จะใจกว้างพอไหมที่เปิดใจยอมรับว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถโดดเด่นไม่แพ้ผู้ชาย และอาจเป็นนารีขี่ม้าขาวกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังดิ่งเหวเต็มที

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2556 หน้า 2

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.