Select Page

ปลุกจิตวิญญาณ’ผู้นำ’เมื่อบทบาทสตรีใต้เปลี่ยนไป

ปลุกจิตวิญญาณ’ผู้นำ’เมื่อบทบาทสตรีใต้เปลี่ยนไป

“น้ำพริกกุ้งเสียบจ้า””หมวกสวยๆ จ้า”เสียงเชิญชวนให้ลูกค้ามาอุดหนุนสินค้าของตัวแทนสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 40 ชีวิต ดังแข่งกันอย่างสนุกสนาน แม้จะเป็นการขายของใน “ตลาดนัดจำลอง” หากก็เต็มไปด้วยบรรยากาศที่มีการจัดหน้าร้าน การตั้งราคา การติดป้าย และการซื้อขายที่ “สมจริง” มากทีเดียว

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในโครงการ “ส่งเสริมบทบาทสตรีในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในการสร้างโอกาสทางอาชีพและการตลาด”บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และ องค์การอ๊อกเฟรม ประจำประเทศไทย ผลึกกำลังสองประสานร่วมกันจัดขึ้น เพื่อ “ยกระดับ” คุณภาพชีวิตของสตรีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ “เราเชื่อว่า การเอาเงินไปให้ ไม่ได้ช่วยชีวิตเขา แต่การให้อาชีพ เป็นการช่วยให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเมื่อช่วยตัวเองได้แล้ว ก็สามารถเผื่อแผ่ไปช่วยคนอื่นอีกได้ มันเป็นการลงทุนที่ไปได้ไกลและยั่งยืน”


เสียงของ “วรรณิภา ภักดีบุตร” รองประธานกรรมการบริหารด้านการตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม บอกถึงเหตุผลที่ยูนิลีเวอร์ลงมาให้การสนับสนุน ด้วยการนำความรู้ที่องค์กรเชี่ยวชาญมาจัดการอบรมพัฒนาธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตและรายได้
“ยูนิลีเวอร์มีความสามารถด้านการทำธุรกิจ เราจึงจัดเวิร์กช็อปการตลาดแบบง่ายๆ ไม่เน้นทฤษฎีมาก เพียงแค่รู้หลักนิดหน่อย ก็สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้”
กิจกรรมในโครงการ อาทิ การจัดอบรมการตลาดให้ผู้หญิง กว่า 200 คน เพื่อให้สามารถหาช่องทางเพิ่มตลาดได้ด้วยตนเอง มีกลยุทธ์ทางการตลาด รวมไปถึงการได้เรียนรู้การวิเคราะห์ตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งกองทุนกู้ยืมหมุนเวียนเพื่อพัฒนาอาชีพ
ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้ จัดอบรมภาวะ “ผู้นำ” ทางเศรษฐกิจให้เหล่าสตรีทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมที่เข้าร่วมโครงการด้วย
“การสร้างลีดเดอร์ หรือผู้นำ ขึ้นมาสักคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราสามารถสร้างตัวแทนผู้หญิงใต้ที่มาเข้าร่วมอบรมกับเราได้ พวกเธอจะเป็นโรโมเดลที่ส่งต่อไปยังผู้หญิงคนอื่นๆ เป็นอิมแพคที่ได้อย่างมหาศาล” วรรณิภากล่าว

ขณะที่ สุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการ องค์การอ๊อกเฟรมประเทศไทย กล่าวเสริมว่า กลไกทางสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เอื้อให้ผู้หญิงเข้าไปมีสิทธิมีเสียงมากนัก แต่ทุกวันนี้บทบาทของผู้หญิงในสามจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะเมื่อพ่อ สามี ลูกชายเสียชีวิต หรือผู้ชายออกไปข้างนอกไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ว่าจะถูกทำร้ายหรือเปล่า จากสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ วันนี้จะเห็นผู้หญิงออกมานำมากขึ้น  ทว่า…ผู้หญิงผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ เพราะสังคมมุสลิมไม่เคยเตรียมให้พวกเธอต้องลุกขึ้นมาแบกรับภาระอะไรมากมาย นอกจากดูแลสามีและครอบครัว เธอหลายคนไม่มีอาชีพ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง


“งานของเราคือ สร้างความมั่นใจให้พวกเธอตระหนักในคุณค่าของตัวเอง แล้วลุกขึ้นมามีบทบาทในสังคม ซึ่งถ้าพวกเธอมีสถานภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีความมั่นคง ความมั่นใจมากขึ้น ก็จะสามารถทำได้ทุกอย่าง เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้” สุนทรีกล่าวจากการดำเนินงานของโครงการร่วม 4 เดือน ณ วันนี้ ความเปลี่ยนแปลงเริ่มมีให้เห็นแล้ว อาจไม่ใช่รายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นเรื่องของ “ใจ” ที่มาเป็นกอง
เมื่อความรู้และโลกทรรศน์ที่กว้างขึ้น “เปลี่ยน” สตรีใต้ จากเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงออก ให้กลายเป็นคนมั่นใจในตัวเอง กล้าพูด กล้าคิด และกล้าทำให้สิ่งดีๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเธอดีขึ้น
วิลัย แสงงาม ชาวปัตตานี หนึ่งในผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามีและลูกในคราวเดียวกัน แม้จะได้รับทุกข์แสนสาหัสแต่เธอมองว่ายังมีคนที่แย่กว่าทำให้ลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง
“เราคิดว่าอายุขัยของเขาหมดแล้ว กว่าจะเข้มแข็งก็ใช้เวลานานเหมือนกัน อย่ามองความทุกข์ แต่ต้องแก้ไขและข้ามไปให้ได้ด้วย” วิลัยบอกอย่างเข้มแข็ง  อย่างไรก็ตาม วิลัยบอกว่าการเป็นแม่ม่ายที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวถึงสองคนเป็นภาระที่หนักมาก เพราะเธอไม่มีความรู้อะไรเลย แม้แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ยังขี่ไม่เป็น สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือความรู้ เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
 อรอุมา ธานี หนึ่งในผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ หลังจากสูญเสียสามีก็ต้องรับภาระเลี้ยงลูก 3 คน ชีวิตยากลำบาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีหน้าที่เพียงดูแลสามีและลูกๆ เท่านั้น  “พอไม่มีสามีก็เคว้งมาก ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง มองลูกแล้วน้ำตาร่วง เพราะเราไม่ได้เรียนหนังสือ เรียนจบชั้น ป.6 เท่านั้น” เธอย้อนเล่าถึงความหลังที่ไม่อยากจดจำ หากกระนั้นก็กัดฟันสู้ จนสามารถตั้งกลุ่มแม่บ้านกลุ่มน้ำพริกเซากูน่า  กระนั้น การทำงานของกลุ่มก็ทำกันไปตามภูมิปัญญาของตัวเอง เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาเธอ “ดีใจมาก”  “ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพ เราต้องการความรู้มากที่สุด เพราะดีกว่าให้เงิน และเมื่อเรามีความรู้มีอาชีพ เราก็สามารถดูแลครอบครัวได้” อรอุมาพูดอย่างฉะฉาน มั่นใจ และขยายความต่อว่า เธอได้ความรู้จากโครงการเยอะมาก ทั้งการวางแผนด้านการตลาด การทำบัญชี


ส่วนสถานการณ์ใน 3 จังหวัดใต้ ตอนนี้ อรอุมาบอกว่า หญิงใต้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเยอะขึ้น กล้ามากกว่าเดิม แม้จะยากสักหน่อยเพราะเกี่ยวกับศาสนา อย่างไรก็ตาม ศาสนาไม่ได้สอนว่าชาย-หญิงต้องเป็นผู้นำ “แต่ต้องไปด้วยกัน คู่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน” ทุกวันนี้ แม้ชีวิตต้องประสบกับความสูญเสียใหญ่หลวง แต่อรอุมาภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่สามารถทำทุกอย่างได้  “จากเมื่อก่อน เราเป็นแต่ผู้ตาม แต่วันนี้ต้องทำทุกอย่างอย่างที่สามีทำ เราสามารถดูแลลูกได้ ภูมิใจในตัวเอง และคิดว่าต่อไปจะไม่ลำบาก เพราะเราทำได้”  ไม่ใช่แค่ “ดูแลตัวเองได้” แต่ยังคิดเผื่อแผ่น้ำใจดีๆ ไปสู่คนอื่นที่ลำบากมากกว่าด้วย และยัง “ฝันใหญ่” ให้น้ำพริกแบรนด์เซากูน่าโกอินเตอร์ไปขายต่างประเทศได้อีกด้วย
“วันนี้ เราเข้มแข็งแล้ว แม้จะกลัวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องสู้ เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป” อรอุมาทิ้งท้าย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 24 เมษายน 2556 หน้า 25

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.