Select Page

สื่อ! โลกโซเชียล ขนมหรือยาพิษ

สื่อ! โลกโซเชียล ขนมหรือยาพิษ

ในเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้ โลกและโดยเฉพาะประเทศไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการสื่อสารแบบใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากอินเตอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารมีความซับซ้อนมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว  นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า โซเชียลมีเดีย หรือ สื่อเครือข่ายสังคม โดยมีโซเชียลมีเดียที่ชื่อ เฟซบุ๊ก เป็นเครือข่ายที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และไม่น่าเชื่อว่า วันนี้…ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก ที่มีคนใช้ถึงเกือบ 18 ล้านคน

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เกริ่นนำเพื่อเข้าประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับกรณี  “ลับ ลวง พราง” ในโลกโซเชียล

ผศ.ดร.วรัชญ์ บอกว่าแต่หากดูเฉพาะเมืองนั้นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกถึงเกือบ 13 ล้านคนเลยทีเดียว

ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่มหาศาล ทำให้น่วยงานต่างๆ ไม่รีรอที่จะกระโจนลงมาเป็นผู้เล่นในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่แค่เพียงหน่วยงานธุรกิจเท่านั้น  แต่ยังมีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา องค์กรสาธารณกุศล…

รวมไปถึงตัวบุคคลอย่างนักการเมือง นักร้อง นักแสดง นับไปจนถึงคนธรรมดาทั่วไป ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็น “นักข่าว” ที่ไม่ต้องสังกัดองค์กรข่าวใดๆ แต่สามารถส่งข้อมูลต่างๆ  ทั้งข้อความ ภาพ หรือคลิปวีดีโอ ให้กับคนนับแสนๆ คนได้เพียงปลายนิ้วคลิก

“ปรากฏการณ์ส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเด็กไปจนถึงคนแก่ โดยไม่ผ่านสื่อกระแสหลัก ทำให้เกิดความซับซ้อนในการสื่อสาร”

กล่าวคือในด้านหนึ่งดูเหมือนว่า ความลับจะไม่มีในโลกโซเชียล เพราะมักจะมีผู้ที่นำเอาข้อมูลลึกในเรื่องต่างๆ มาเปิดโปง หรือมาหักล้างข้อกล่าวหา แต่อีกด้านหนึ่งข้อมูลที่นำมาแฉหรือเปิดโปงนั้น  อาจจะเป็นเพียงข่าวลือ โฆษณาชวนเชื่อ

ภาพ หรือคลิปตัดต่อ ทัศนคติสุดโต่ง เรื่องหลอกลวง หรือข้อความใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่นโดยเจตนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นไม่บ่อย ในข่าวจากองค์กรข่าวกระแสหลัก ที่มีการกลั่นกรองข้อมูลก่อน เผยแพร่ตามหลักการทางวารสารศาสตร์

และสื่อกระแสหลักก็จะไม่นำเสนอข้อความหรือภาพ ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบในทางลบ หรือความวุ่นวายในสังคม

อาจกล่าวได้ว่า ในหลายๆกรณีที่ผ่านมา พลเมืองในโลกโซเชียล ต่างทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างแข็งขัน เปิดโปงข้อมูลลับที่ประชาชนควรรู้  และกล้าวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร้อน ด้วยมุมมอง ของประชาชนจริงๆอย่างที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าออกความเห็น

แต่คำถามที่สำคัญมีว่า…เราจะทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้น ถูกต้อง เป็นกลาง ไม่มีการดัดแปลงก่อนการสื่อสาร และไม่ได้เกิดจากความต้องการปลุกปั่น ยุยงให้เกิดอารมณ์ร่วมเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว?

เราจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแห่งกับดัก “ลับ ลวง พราง” ในโลกโซเชียล? ผศ.ดร.วรัชญ์ มีข้อแนะนำบางประการที่อาจช่วยได้บ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจ “แชร์” ข้อมูลในโลกโซเชียล

1.เลือกแชร์ข้อมูลจากคนรู้จักที่ไว้ใจได้ มีวุฒิภาวะในการสร้างข้อมูลนี้ขึ้นมา หรือองค์กรข่าวที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากอย่างน้อยจะมีการกลั่นกรองมาแล้วชั้นหนึ่ง…แม้ว่าข้อมูลจะมาจากคนรู้จักที่ไว้ใจได้ หรือองค์กรข่าวแต่ก็ต้องเข้าใจและตระหนักว่า มีความเป็นกลางมากเพียงใด มีอคติหรือความลำเอียงไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่

การเผยแพร่ข้อมูลต่อไปนี้ ซึ่งทำให้ท่านรับบทบาทเสมือนสื่อมวลชนนี้ จะมีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่อย่างไร “จะเป็นการเติมเชื้อแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังลงไปให้สังคมหรือไม่ และข้อมูลนี้เป็นกับดักที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับผู้สร้างข้อมูลนี้ขึ้นมา หรือตั้งใจปล่อยข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือไม่”

“โดยเฉพาะข่าวทางการเมืองในยุคที่สังคมมีการแบ่งแยกกันอย่างหนัก และมีสื่อเลือกข้าง เกิดขึ้นอย่างมากมาย”

2.เลือกแชร์ข้อมูลที่มีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งกับสังคม กับสมาชิกคนอื่นๆในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นแง่คิดในการดำเนินชีวิต สาระ หรือความบันเทิง ที่ไม่ขัดกับศีลธรรมของสังคม และไม่ใช่ข้อมูลที่รู้ได้ว่าหลอกลวง

3.หากมีลิงค์ของข่าว หรือลิงค์ที่นำไปสู่เนื้อหาต้นฉบับ ควรกดอ่านข้อมูลต้นฉบับก่อนกดแชร์ ว่าข้อมูลต้นฉบับตรงกับข้อมูลที่ได้มาหรือไม่ กรณีเป็นภาษาอังกฤษควรอ่านเนื้อหาว่าข้อความนั้นแปลถูกต้องตามความหมายหรือไม่  หากไม่แน่ใจต้องชั่งใจว่าจะแชร์หรือไม่ เพราะอาจมีโอกาสในการแปลผิดได้ จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

4.หากไม่มีลิงค์ข้อมูลต้นฉบับมาให้ ให้ลองก๊อปปี้ข้อความหรือพาดหัว แล้วใช้กูเกิ้ลค้นหาว่า ข้อมูลต้นฉบับมาจากแหล่งใด น่าเชื่อถือมากเพียงใด ผศ.ดร.วรัชญ์ ย้ำว่า ควรไปให้ถึงต้นฉบับแรกสุด แล้วเปรียบเทียบว่ามีการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีการอ้างอิงถึงในเว็บไซต์ขององค์กรข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ อาจสันนิฐานได้ว่าเป็นการเขียนขึ้นมาเอง

5.หากเป็นรูปภาพ อาจใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Reverse Image Search” โดยการคัดเลือก URL ของภาพนั้น แล้วปที่หน้า images.google.com กดที่รูปกล้องถ่ายรูปที่กล่องข้อความ แล้ววาง URL ของภาพนั้นลงไป กูเกิ้ลจะค้นหาภาพที่เหมือนกันหรือคล้ายกันออกมา จากนั้นจึงตรวจสอบจากหลายๆแหล่งว่าเป็นภาพที่ถ่ายที่ไหน เมื่อไหร่ เป็นภาพตัดต่อหรือไม่ “หากเป็นภาพตัดต่อ ภาพจริงเป็นอย่างไร ซึ่งควรบอกเพื่อนต่อๆว่าภาพนี้เป็นภาพตัดต่อ หรือเป็นภาพเก่า”

6.หากเป็นข่าวหรือข้อมูลที่อาจก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องใช้วิจารณญาณให้มากเป็นพิเศษ โดยอาจยึดหลักจริยธรรมพื้นฐาน  หรือหลักศาสนาที่ท่านนับถือ ว่าการเผยแพร่ข้อมูลนี้ต่อไป ซึ่งทำให้ท่านรับบทบาทเสมือนสื่อมวลชนนี้ จะมีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่อย่างไร

“จะเป็นการเติมเชื้อความรุนแรงและความเกลียดชังลงไปให้สังคมหรือไม่ และข้อมูลนี้เป็นกับดักที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับผู้สร้างข้อมูลนี้ขึ้นมา หรือตั้งใจปล่อยข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือไม่ ”

ที่สำคัญ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ซ้ำหรือไม่ และไม่แชร์ข้อความหรือภาพที่ผิดกฎหมายเด็ดขาดในทุกกรณี แม้ว่าจะแชร์ไปเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบก็ตาม

7.หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับระยะเวลา เช่น ขอความช่วยเหลือ เช่น เด็กหาย ขอรับบริจาคเลือด หลายกรณีเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ผิดพลาด ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่า  ผู้ร้องขอความช่วยเหลือ ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วหรือยัง มิเช่นนั้น เรื่องนั้นก็จะยังคงวนเวียนอยู่ ในโลกโซเชียลไปอีกอย่างไม่รู้จบ

พลังแห่งโลกโซเชียลนั้นมีมหาศาล เนื่องจากเป็นพลังแห่งคน ดังจะเห็นได้จากการรวมพลังกันแก้ไขสภาวะวิกฤตต่างๆ เช่น การเรียกระดมพลช่วยแก้ปัญหาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว แต่สิ่งที่มีพลังมหาศาลก่อย่อมก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องการ ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่จากผู้ใช้

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิตคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีปทุม ฝากทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ สามัญสำนึกของผู้ใช้แต่ละคน ในการเลือกวิเคราะห์ความเหมาะสมในการแบ่งปันข้อมูลให้สมาชิกคนอื่นๆในโลกโซเชียล ซึ่งต้องพึงตระหนักไว้ตลอดเวลาที่เสพข้อมูลว่า “ในโลกโซเชียลนั้น สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น ตั้งแต่ข้อความ รูปที่ลง ข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึงภาพประจำตัว”

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2555 หน้า 5

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.