Select Page

“สวนเกษตรวิถีพุทธ” พลิกผื่นนาเป็นผื่นป่า

“สวนเกษตรวิถีพุทธ” พลิกผื่นนาเป็นผื่นป่า

สวนวิถีพุทธ หรือทำการเกษตรไม่รบกวนธรรมชาติ  แต่อาศัยธรรมชาติจัดการกันเองเพื่อให้ได้ปัจจัยในการดำรงชีพอย่างพอเพียง ตามแนวคิดการอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นเมืองใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบริหารจัดการสวน  ทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน  ประชาชน  ชุมชน  ตลอดถึงนักเรียน นักศึกษา   และผู้สนใจทั่วไป

      นายวิฑูร  หนูแสน  เกษตรกรวัย 62 ปี    หมู่ที่ 9  บ้านป่าพงค์    ต.ตะโหมด  อ.ตะโหมด  จ.พัทลุง   บอกว่า  ได้บริหารจัดการที่ดิน ออกเป็นส่วน  ๆ  หรือ 6 โซนด้วยกัน   โดยโซนแรก  เป็นระบบเกษตรป่ายาง  จำนวน 6 ไร่  ปลูกยางพาราแล้วปล่อยให้มีไม้ยืนต้นขึ้นร่วมกับสวนยาง   ได้ผลผลิตจากน้ำยาง  สมุนไพร   ผักพื้นบ้าน   ภายในสวนจะร่มรื่นตลอดปี  แม้ในยามหน้าแล้งที่ยางพาราผลัดใบก็ตาม ก็จะมีใบไม้ยืนต้นคอยให้ร่มเงา ใช้เป็นเวทีเรียนรู้ตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

      โซนที่ 2  เป็นสวนยางอีก 7 ไร่  ที่ได้ขอทุนสงเคราะห์จากองค์การสวนยาง (สกย.)  แต่เมื่อยางหมดอายุกรีดแทนที่จะโค่นไม้ยางขาย  และเปิดป่าสร้างสวนยางใหม่ กลับปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกันเอง   โซนที่ 3  เป็นที่อยู่อาศัย  จำนวน 2 ไร่    สร้างบ้านอยู่อาศัยแบบง่าย ๆ  ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาวัสดุภายนอกมากนัก   บริเวณบ้านปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคเอง  โซนที่ 4  เป็นนาข้าวที่มีการปรับระบบเป็นนาข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปลา  เนื้อที่ 9 ไร่ แต่เหลือที่ทำนา 6 ไร่

      โดยการปลูกข้าว  ไม่มีการไถพรวน เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็ปล่อยน้ำให้ท่วมซังข้าวให้ปลาที่อยู่ในคูรอบคันดินนาขึ้นไปกินเมล็ดข้าว   พอตอซังเปื่อยดีแล้วก็ปล่อยน้ำออกให้แห้งแล้วหว่านข้าว พอข้าวขึ้นดี ก็ปล่อยน้ำเข้าเลี้ยงต้นข้าวตามระดับ  ปลาช่วยกำจัดหนอนและแมลงในนาขี้ปลาเป็นปุ๋ย เพราะนาข้าวไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี   และไม่ใช้สารเคมีเลย   เก็บข้าวกับแกระแบบดั่งเดิม  นาข้าวได้ทั้งข้าวได้ทั้งปลา   ข้าวที่ทำได้พอกินตลอดปี  ปลาก็มีกินตลอดปีเช่นกัน

       โซนที่ 5  เป็นป่าไส จำนวน 8 ไร่  ป่าไสคือป่าที่เคยเปิดป่าแล้ว แต่ปล่อยให้มีต้นไม้ขึ้นมาใหม่ ไม่รกนักและต้นไม้ก็ไม่ใหญ่นัก  คล้าย ๆ กับป่าโปร่ง เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก สมุนไพร ผักพื้นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นกชนิดต่าง ๆ  ไก่ป่า และโซนสุดท้าย คือ โซนเลี้ยงสัตว์  พื้นที่ 3 ไร่   มีทั้งปลาที่เป็นปลาพื้นเมือง  เช่น ปลาช่อน  ปลาดุก  ปลาหมอปลาแขยง  ปลาแก้มซ้ำ  ปลาขี้ขม  ปลาโอน   และปลาที่ปล่อย มี  ปลาตะเพียน  ปลายี่สก  ปลาแรด  นอกจากเลี้ยงปลาแล้ว  ยังเป็นแหล่งน้ำไปในตัวด้วย   และที่แปลกอีกอย่าง คือ ระบบวนประมง  มีการปลูกต้นหว้าริมบ่อ  เลี้ยงมดแดงบนต้นหว้า ปลาได้กินไข่มดแดงที่ร่วงเมื่อเก็บไข่มดแดง และเมื่อลูกหว้าร่วงก็เป็นอาหารปลาเช่นกัน

       จากการทำการเกษตรที่ปรับสวนยางเป็นป่ายาง นาข้าวไม่ไถพรวน  ใช้ความได้เปรียบของทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพบริการจัดการโดยพึ่งพาตนเอง อยู่ได้อย่างมีความสุข 

 

 

ที่มา :นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่  2 มีนาคม 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.