Select Page

จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย

จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย

เด็กและเยาวชน เป็นผู้ที่เปลี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการ หากได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสในการกระตุ้นจินตนาการที่ดี เขาเหล่านั้นอาจมีผลงานที่ผู้ใหญ่เห็นแล้วต้อง อึ้ง ทึ่ง อายเด็กเป็นแน่  บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเด็กสร้างจินตนาการแจ๋ว ผ่านทางปลายพู่กันจากผลงานวรรณกรรม ที่หลากหลาย ประชันฝีมือคว้าถ้วยพระราชทานฯ

  อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์   เหมือนนารินไร้โฉมประโลมสง่า

  ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา    เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย

     ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก   ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย

     จำเริญตาพาใจให้สบาย   อีกร่างกายก็จะพลอยให้สุขสำราญ

                                                                   

                                              ….ตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เรื่อง: อนุสรณ์ มีบุญ   \   ภาพ: ชัยเวช ดวงมั่น          นิสิตฝึกงาน

               เด็กและเยาวชน เป็นวัยที่สดใสและเต็มไปด้วยจินตนาการ  หากเด็กเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงออกถึงจินตนาการเหล่านั้น  พวกเขาอาจสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานต่างๆ ได้อย่างที่ผู้ใหญ่ต้องทึ่ง

               โครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้ไปหาวรรณกรรมไทยประเภทใดก็ได้มาอ่าน  แล้วให้จินตนาการออกมาเป็นภาพวาด เพื่อส่งภาพวาดเข้าประกวดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

               ด.ช.ทิวทัศน์ คะนะมะ นักเรียนโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลายโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ปีที่ 3 พ.ศ.2552 กับผลงาน “แห่บั้งไฟ” หลังจากที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำภาพวาดของเขาไปจัดทำเป็นดวงตราไปรษณียากรชุด จินตนาการ สืบสานวรรณกรรมไทย ออกจำหน่ายในงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย พ.ศ.2553 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2553 ก่อนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  ปีนี้น้องทิวทัศน์ยังไม่ละทิ้งความตั้งใจเดิมซึ่งชื่นชอบในการอ่านวรรณกรรมไทยและการวาดรูป จึงส่งผลงานเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง  ชื่อผลงาน”สู่เส้นชัย”  และก็คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ประจำปีที่ 4 พ.ศ.2553 ไปครองได้อีกครั้ง

                 “ผมได้เขียนรูปขึ้นมาใหม่โดยให้กระต่ายกับเต่าเข้าเส้นชัยพร้อมกัน เพราะยังไงก็เป็นเพื่อนกัน ไม่น่าจะมาหวังให้ชนะหรือผู้อื่นแพ้ ซึ่งทุกวันนี้คนไทยเราควรที่จะหันหน้าเข้าหากัน คุยกัน แล้วช่วยกันจับมือกันยิ้มใส่กัน เหมือนกระต่ายกับเต่าที่ผมเขียนเข้าสู่ความสำเร็จพร้อมกันอย่างมีความรักความสามัคคี ผมเลยเขียนให้เป็นแบบใหม่จากที่เคยได้อ่านมา”

              ส่วนนางสาวหทัยรัตน์ รอดแก้ว นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษาโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ปีที่ 4 พ.ศ.2553 กับผลงาน“แห่ผ้าขึ้นธาตุ”กล่าวว่า “สิ่งแรกที่เยาวชนควรคิดก่อนอื่นใดคือ รักในสิ่งใดและต้องเป็นสิ่งดีงามด้วย จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เรารักนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ แค่เพียงเราได้ลงมือทำจริงทำเองแล้วสิ่งแรกที่เราได้มาคือชนะตัวเราเอง หากเราส่งงานของเราประกวดที่ไหนเราอาจจะชนะคนอื่นด้วยนั้นก็เป็นผลพลอยได้ แต่ที่เราได้แน่ๆคือเราได้ชนะใจเราเองในการอดทนเพียรพยายามทำในสิ่งดีงามนั้นและจิตใจเราก็มีความสุขที่ได้ทำ”

  

              อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ. 2547 และมีผลงานจิตรกรรมไทยหลายอย่าง เช่น เขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก และผลงานศิลปะที่ วัดร่องขุ่น ซึ่งคงไม่มีคนไทยคนได้ที่ไม่รู้จักอาจารย์ผู้โด่งดังคนนี้ก็ว่าได้ อาจารย์กล่าวว่า “ศิลปะกับเยาว์ชนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็กเพราะว่ามันมีอยู่ในการศึกษา ครูต้องคอยดูแลคอยสอนไม่ใช่สอนผ่านๆแล้วเด็กที่สนใจก็จะทำในงานศิลปะนั้นออกมาได้ดี ศิลปะจะทำให้สมองปลอดโปร่ง เมื่อได้มีเวลาให้กับงานศิลปะ การฟังเพลง การร้องเพลงต่างๆก็จะทำให้สมองผ่อนคลาย ความจำก็จะดี ทำอะไรก็จะเป็นผลดีไปด้วย”

               สำหรับเกณฑ์การตัดสิน ว่าผลงานชิ้นใดจะได้รับรางวัลหรือไม่นั้น  ไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของการวาดภาพแต่เพียงอย่างเดียว   หากแต่ภาพที่ออกมานั้นเกิดจากการใช้จินตนาการจากการอ่านวรรณกรรมแล้วถ่ายทอดออกมาผ่านปลายพู่กันได้ลึกซึ้งแค่ไหน    นอกจากนี้สิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้รับก็คือ ทำให้พวกเขามีสมาธิ รักการอ่าน ที่สำคัญได้สืบสานวัฒนธรรมไทย เฉกเช่นเดียวกับคำพูดข้างตันว่า อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมประโลมสง่าฯ  ประเทศไทยเรานั้นเป็นเมืองแห่งศิลปะวิทยาการมานานตั้งแต่ครั้งก่อนกรุงสุโขทัย แต่สิ่งที่ทำให้ศิลปะมีอยู่มาอย่างช้านานนี้ไม่เลือนหายไปคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทิ้งความเป็นไทยร่วมสานต่อสิ่งดีงามนั่นเอง

(คลิกชมวีดีโอ ความคิดเห็น อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ในศิลปะกับเด็กไทย)

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.