วันนี้คุณ’อ่าน’หนังสือแล้วหรือยัง…?
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่รักการอ่าน คนไทยจะพัฒนาการคิด วิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่เริ่มแสวงหาความรู้ด้วยการอ่านตั้งแต่วันนี้ลองมาฟังวิธีการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านจากผู้เป็นพ่อ และข้อคิดดีๆในการอ่านวรรณคดีของผู้พิการทางสายตา
โดย อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์
จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติ พบว่าการอ่านหนังสือของคนไทยเฉลี่ยเพียงปีละ 2 เล่ม ซึ่งนับว่าต่ำมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม จากเหตุดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่า การอ่านหนังสือของคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง
สถานการณ์การอ่านหนังสือของคนไทยนั้นกำลังที่จะเข้าขั้นเลวร้ายถ้ายังปล่อยให้ปัญหานี้ให้ดำเนินต่อไป โทษของการที่คนไม่อ่านหนังสือนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ความเสียหายในส่วนบุคคลเท่านั้น แต่จะยังคงความเสียหายไปถึงประเทศชาติด้วย
ปัจจุบันนี้จะสังเกตได้ว่ามีการร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในที่จะปลูกฝังให้เยาวชนไทยรักการอ่าน
“โครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย” ของหน่วยงานภาคเอกชนที่จัดขึ้น โดยมีหลักเพื่อเสริมสร้างการอ่าน การและการเรียนรู้ จากวรรณกรรมและนำจินตนาการที่ได้จากการอ่าน ออกมาเป็นงานศิลปะ
อีกทั้งเป็นการกระตุ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการอ่านทางด้านวรรณกรรมไทย ที่มี ร้อยแก้ว ร้อยกรอง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้แต่ละเรื่องราว แล้วถ่ายทอดมาเป็นภาพวาดตามจิตนาการของตนเอง
ในปัจจุบันการอ่านเรื่องราวจากวรรณกรรมยังสามารถ ถ่ายทอดออกมาได้ทั้งงานศิลปะ การแสดง แม้กระทั่งการขับร้องเพลงได้อย่างลงตัว ถ้าเรารู้จักนำความรู้ ความคิดมาปรุงแต่งให้เกิดสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ด.ช.ทิวทัศน์ คะนะมะ นักเรียนโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชะเลิศโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ปีที่ 3 กับชื่อผลงาน “แห่บั้งไฟ” และผลงานยังได้รับคัดเลือกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดทำดวงตราไปรษณียากรชุดจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ออกจำหน่ายในงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย พ.ศ.2553 และทั่วประเทศ
ทิวทัศน์ บอกว่า “การอ่านทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการสะกดคำ และภาษาจากวรรณกรรม อีกทั้งวรรณกรรมที่ได้อ่านยังสอดแทรกคติสอนใจไว้ในเรื่องด้วย เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็ทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้น คือ การวาดภาพ และการใช้จินตนาการจากวรรณกรรมที่ได้อ่าน อย่างเช่นที่ผมได้วาดออกมานี้เป็นประเพณีแห่บั้งไฟ จากวรรณกรรมเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” ที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงพลังความสามัคคี และโดยส่วนตัวเป็นคนชอบวาดภาพ ก็สามารถทำให้เราได้ฝึกฝนและพัฒนาการวาดภาพของเราด้วย”
หลายคนอาจคิดเป็นเพราะค่าเฉลี่ยของคนพิการ หรือผู้ที่ผิดปกติทางร่างกาย ที่ทำให้สถิติการอ่านของคนไทยมีจำนวนน้อย นั้นเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะผมได้มีโอกาส ได้พดคุยกับ เด็กหญิงกัลยา ทองอุดม นักเรียนโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หนึ่งในสมาชิกมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) กัลยาเป็นเด็กที่มีความผิดปกติทางสายตาแต่ยังสามารถมองเห็นได้ไม่มากเท่าไรนัก ในการอ่านหนังสือของเธอ จะใช้อุปกรณ์ใช้แว่นขยาย ช่วยขยายเพื่อให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
กัลยาบอกว่า “ชอบอ่านหนังสือแนววรรณกรรม เพราะ มีสิ่งดี มีแง่คิด คติสอนใจ เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้ถ่ายทอดความเป็นอยู่ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งสามารถทำให้เราได้เรียนรู้และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างวรรณกรรมที่ชอบอ่านและได้เรียนตั้งแต่เด็ก คือเรือง ‘พระอภัยมณี’ ในการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เธอนอกจากจะได้ฝึกการอ่านหนังสือ สมาธิและภาษาในการอ่านแล้ว ยังทำให้เกิดความคิดและจินตนาการไปพร้อมกับการอ่าน”
อย่างเรื่องพระอภัยมณี จะชอบตอนที่นางยักษ์ไล่ตามนางเงือกกับพระอภัยมณี จนตนเองต้องเสียชีวิต กัลยาได้ วาดภาพออกมาตามท้องเรื่อง ดังภาพที่เห็นอยู่นี้
กัลยาบอกต่อว่า “จินตนาการที่วาดภาพนี้ เพราะเป็นความชอบวรรณกรรมได้สอดแทรกความคิดที่ให้กับผู้อ่านในเรื่องของความรักที่นางยักษ์ มีให้กับ พระอภัยมณี จนตัวเองต้องตาย ซึ่งอยากให้วัยรุ่นในสมัยนี้ได้นำแง่คิดตรงนี้มาปรับใช้ด้วยว่า เวลามีคนรักอยากให้รักใครรักจริง รักกันยาวๆ อย่ารักเล่นเพราะความรักสามารถทำให้คนทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งความตาย”
เคยคิดว่าสายตาเป็นอุปสรรคก็การอ่านหรือไม่?
“การที่สายตาเป็นแบบนี้ไม่ใช่เป็นอุปสรรค ไม่เกี่ยวที่ว่าเราจะผิดปกติแล้วจะต้องอ่านไม่ได้ เพราะอย่างน้อยเธอยังมีคุณพ่อ คุณแม่ที่ให้การสนับสนุน แม้บางครั้งอ่านไม่ได้ และจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอ่าน หรือบางครั้งที่ต้องให้คนอื่นช่วยอ่าน ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เธอหลงไหลที่จะอ่าน จะเรียนรู้วรรณกรรม และการสร้างจินตนาการ ออกมาเป็นภาพวาดได้”
คุณธีระวัฒน์ คะนะมะ คุณพ่อน้องทิวทัศน์ ได้เล่าถึงวิธีการสอนลูกว่า “ ก่อนอื่นเลยนิทานบ้านเรา น่าจะมีภาพประกอบให้มากขึ้น ตอนลูกยังเล็ก ผมจะสอนให้เรียนรู้เรื่องราวผ่านรูป แล้วค่อยพัฒนาไปในการอ่าน โดยยังไม่เน้นเรื่องของคติสอนใจ เพราะอยากให้ลูกรักในการอ่านก่อน เมื่อเขาเกิดความรักก็จะเกิดการใส่ใจในสิ่งที่เขาได้อ่าน แล้วคติสอนใจก็จะตามมาเอง ถ้าเขารักในการอ่าน ส่วนหนังสือที่อ่านนั้นก็ต้องเอาที่เขาชอบ และที่เราเห็นว่าดี และมีคุณค่า ”
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งเท่านั้นของครอบครัวและเยาวชนผู้รักการอ่านและการเรียนรู้ ซึ่งหากทุกครอบครัวร่วมกันส่งเสริมให้บุตรหลานรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย โดยมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆที่เล็งเห็นคุณค่า ช่วยผลักดันให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยก็คงไม่แพ้ชาติใดในโลก……