Select Page

ทางออก…บ้านขุนสมุทรจีน

ทางออก…บ้านขุนสมุทรจีน

ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่4 จัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “กู้วิกฤตขุนสมุทรจีน…ป้องกันชายฝั่งอย่างยั่งยืน” ณ บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อระดมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมมือกันหยุดปัญญาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของไทย

 

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

               โดยงานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อีกทั้งยังมีผู้ร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย และ ส.ส.สมุทรปราการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ,โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ,พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ ,ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ ,นายอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ,องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า , กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ,ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ ,กองเรือทุ่นระเบิด ,อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า รวมทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ตลอดจนชาวบ้านขุนสมุทรจีน

ในเวทีเสวนาสาธารณะ “กู้วิกฤตขุนสมุทรจีน…ป้องกันชายฝั่งอย่างยั่งยืน” วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายเกียรติศักดิ์ จันทรา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พ.จ.อ.อุดร บุญช่วยแล้ว ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า และนางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน

 

การเปิดเวทีเสวนาในครั้งนี้ก็เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งจนสภาพภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป จากแต่เดิมที่บ้านขุนสมุทรจีนเคยมีพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ (ปี2520) แต่ปัจจุบัน (ปี 2555) เหลือเพียง 78 ไร่ ขณะที่พื้นที่ป่าชายเลนก็ลดลงประมาณ 20,500 ไร่ คงเหลือประมาณ 3,800 ไร่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลยิ่งขึ้น และนับวันแผ่นดินก็จะหายไปในทะเลไม่ต่ำกว่าปีละ 25 เมตร  วิทยากรบนเวทีเสวนา สะท้อนความคิดเห็นและแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

 

                 ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผมเข้ามาที่บ้านขุนสมุทรจีนตั้งแต่ปี 2549 และทำงานต่อเนื่องในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะถือเป็นพิบัติภัยเงียบที่ขาดการบูรณาการ สถานการณ์การกัดเซาะในปัจจุบัน อ่าวไทยตอนบนถูกกัดเซาะหนักที่สุด  ปัจจัยการกัดเซาะ ประกอบด้วย แผ่นดินทรุด,การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล,การสร้างเขื่อนในพื้นที่ตอนบน,กระแสลม กระแสน้ำ,การใช้ที่ดิน,การตัดป่าชายเลน,ใช้โครงการที่ไม่ถูกต้อง การทรุดของแผ่นดินทำให้ตะกอนขาดถึงปีละ 189 ตัน ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติหายไป การใช้โครงสร้างที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ปัญหาการกัดเซาะลุกลาม และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่แค่สิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น แต่ในพื้นทะเลกลับมีการกัดเซาะมากกว่าชายฝั่งเสียอีก  การทำเขื่อนแบบกรมโยธาฯ จะเป็นเขื่อนแบบกึ่งโปร่ง แต่ถ้าข้างหน้าไม่มีบัฟเฟอร์ โซน จะมีการกัดเซาะพื้นที่ในทะเลไปเรื่อยๆ หมู่บ้านข้างหลังไม่ต้องย้ายหนีไปไหนอีก แต่จะทำมาหากินลำบากมากขึ้น โครงสร้างแบบนี้เหมาะกับหาดทรายไม่ใช่หาดโคลน   แต่หากเราใช้โครงสร้างเสาสามเหลี่ยมก็สามารถลดการกัดเซาะได้ถึง 40-60% แต่เขื่อนกึ่งโปร่งนั้นจะป้องกันการกัดเซาะได้ดีกว่า อันนี้ยอมรับ แต่ก็ใช้งบประมาณมากกว่าด้วย  หากสร้างโครงสร้างเสาสามเหลี่ยมไว้ข้างหน้า และข้างในเป็นเขื่อนกึ่งโปร่ง ถ้าทำแบบนี้จะป้องกันการกัดเซาะได้100%  เบื้องต้นต้องลงหินทิ้งแนวชายฝั่งอย่างเร่งด่วน และทำเขื่อนอยู่ข้างนอก อีกทั้งประเทศไทยแทบไม่มีงานวิจัยชายฝั่งที่ต่อเนื่อง 5 ปีเลย นี่อาจเป็นงานวิจัยชิ้นแรกเลยก็ว่าได้  พื้นที่ที่เสียหายไม่ใช่แค่ของคนบ้านขุนสมุทรจีน แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ เราทุกคนควรช่วยกันป้องกันและรักษาไว้

 

                 นายเกียรติศักดิ์ จันทรา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  กล่าวว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในส่วนราชการรับทราบ คนเรานั่นแหละที่ไปรบกวนธรรมชาติก่อน รูปแบบการแก้ปัญหาต้องสามารถลดความแรงของคลื่น (นั่นคือการสลายพลังงานคลื่นนั่นเอง)และทำให้น้ำตกตะกอนได้ เม็ดตะกอนหาดโคลนไม่เหมือนหาดทราย ดังนั้นต้องเลือกโครงสร้างให้เหมาะสม ต้องให้น้ำผ่านได้ โครงสร้างกึ่งโปร่งที่เราคิดนั้น จะป้องกันการกัดเซาะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  รูปแบบของเขื่อนตอนนี้ออกแบบเสร็จแล้ว และกำลังศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปลายปีหน้าอาจลงมือก่อสร้างได้ ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยกับเรา เราพยายามป้องกันผลกระทบจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันตัวเอง เขื่อนกึ่งโปร่งที่จะสร้างเป็นระยะ 3.6 กม. เฟสหนึ่งนี้ จะประกอบด้วยตัวเขื่อน ถนน และลานเอนกประสงค์ จะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 15 กม. ครอบคลุมพื้นที่พระสมุทรเจดีย์ จะใช้งบอีกกว่า1,400 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท หากได้งบประมาณและจะทำจริงในเฟสแรกจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ  ผมจะรับแนวคิดของ อ.ธนวัฒน์ ไปพิจารณาด้วยนะครับว่าเขื่อนควรสร้างในระยะใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งอันนี้ต้องรอผลการศึกษาเปรียบเทียบครับ

 

                   พ.จ.อ.อุดร บุญช่วยแล้ว ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ทางจังหวัดสมุทรปราการเสนอไป 2,700 ล้านบาท เป็นรูปแบบเดียวกันกับของกรมโยธาฯ ซึ่งเป็นผู้วิจัย ถ้ามีเงินก็สามารถสร้างได้เลย คนที่เข้ามาสำรวจที่นี่มีหลากหลายคณะ ส่วนใหญ่มาเป็นครั้งคราว ส่วนคณะที่มาต่อเนื่องก็มีของ อ.ธนวัฒน์ และกรมโยธาฯ  ในส่วนของอบต. ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผสมผสานแนวคิดต่างๆ และช่วยเหลือกัน 2 หน่วยงานนี้ ไม่ใช่แค่ 2 หน่วยงานที่เข้ามา เพราะต้องรออีไอเอ นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลือจากกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่เข้ามาช่วยสร้างเขื่อนไม้ไผ่  ถ้าเริ่มวันนี้ ปี 2560 ก็คงแล้วเสร็จ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นรัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมานั่งพูดคุยหารือกัน แต่เมื่อโครงการสำเร็จแล้วจริง ผมก็กังวลในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่คงเกิดปัญหาการถือครองของนายทุนตามมา

 

                   นางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน กล่าวว่า คนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นคนที่ย้ายบ้านบ่อย บางคนย้ายตั้งเป็น 10 หลัง ก็ด้วยถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นดินเข้ามาเรื่อยๆ คนที่นี่ทำมาหากินด้วยอาชีพประมง เรามีซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติที่จะไปหาอาหารเมื่อไรก็ได้ เราอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านขุนสมุทรจีนตรงนี้คือเมืองหลวงของเรา ปัญหาใหญ่ของเราคือปัญหาปากท้องที่ต้องหาทางแก้ไข เนื่องจากทางกรุงเทพฯปล่อยน้ำเสียมาสู่เรา ทำให้น้ำเน่า และสัตว์น้ำตาย การจะแก้ปัญหาที่นี่จึงควรผสมผสานองค์ความรู้จากนักวิชาการและชาวบ้าน  เราเคยได้งบ 14 ล้านบาท จากอบจ.มาสร้างเขื่อน แต่ทำไม่ได้เพราะติดอีไอเอ แต่ถ้าไม่รีบทำรับรองว่าการกัดเซาะหนักๆนี้ถึงพระสมุทรเจดีย์แน่นอน  ที่ดินส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นของคนนาเกลือ และนายทุน อันนี้เดี๋ยวเราต้องไปคุยกับเขา เราคงไม่เอาทั้งหมด ต้องแบ่งให้เขาบ้าง ขอให้ 2 หน่วยงานนี้รวมกันได้ โครงการนี้จะได้เกิดขึ้นเร็วๆ  เราป้องกันตนเอง ชาวบ้านเราช่วยกัน ตอนนี้ได้ป่าคืนมา 100 กว่าไร่ หลักๆ อบต.แหลมฟ้าผ่าเข้ามาช่วย เรื่องขุนสมุทรจีนควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ระดมความร่วมมือจากทุกฝ่าย สิ่งที่เราทำวันนี้เราไม่ได้ทำเพื่อตนเองซะทีเดียว แต่ทำเพื่อรักษาพื้นดินไว้ให้รุ่นลูกหลาน อีกทั้งยังถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะที่ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวปาฐกถาส่วนหนึ่งบนเวทีว่า  ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.  ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ปลายน้ำ การระบายน้ำ  และคิดว่าการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก2-3เดือนข้างหน้า   จะมีเงินเหลือ  ซึ่งตนจะนำมาทำโครงการปกป้องปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง    อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องมองภาพรวมปัญหาพื้นที่ชายฝั่งทะเล  ไม่ใช่แค่ขุนสมุทรจีน  ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ไปถึงชายฝั่งเพชรบุรี  ผ่านปากแม่น้ำหลัก4สาย   ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดว่า จะเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นอย่างไร เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว หรือเป็นเเค่ปราการป้องกัน  เป็นท่าเรือ โรงงานอุตสาหกรรม หรือทำเป็นเมืองใหม่   ถ้าคิดได้เเล้วค่อยมาหาทางต่อสู้  จะสู้เเบบไหน เเบบไทย  จีน  โตเกียว เราก็ต้องทำ และเราต้องไปต่อสู้แบบเชิงรุก  ซึ่งโจทย์ที่มีผลกระทบทั้งในเเง่ของการฟื้นฟู เศรษฐกิจ ที่ทำกิน เป็นโจทย์ที่จะต้องหาทางออกให้ได้ทั้งสิ้น   ในทางวิศวกรรมไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาทางความคุ้มทุน  เพราะในทางการเมืองจะต้องพิจารณา ถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมในการที่จะใส่งบประมาณเข้ามา  สุดท้าย รองนายกฯยังได้ถามความเห็นจากชาวบ้านด้วยว่า หากจะสร้างเขื่อนถาวร จะยอมรับหรือไม่  ซึ่งจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่นอน  นางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านแหลมฟ้าผ่า ตอบว่าตนไม่สามารถตัดสินใจได้  โดยหากจะทำโครงการอะไรก็ขอให้มารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านก่อน  แต่ในเฉพาะหน้านี้อยากให้ใครก็ได้เข้ามาช่วยป้องกันปัญหาชั่วคราวให้เป็นการเร่งด่วนก่อน

                    แม้ว่าวันนี้ทุกอย่างจะยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด เพราะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบก่อน แต่ด้วยพลังของผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง หรือ บสส.รุ่นที่ 4 ที่ประสานทุกภาคส่วนให้มาร่วมพูดคุยกันได้  และมีระดับรองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่รับฟังเสียงของชาวบ้านขุนสมุทรจีนเป็นครั้งแรก  ก็ทำให้ดิฉันเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ปัญหาที่บ้านขุนสมุทรจีนจะมีทางออกที่ดี และหยุดปัญหาที่เป็นฝันร้ายของชาวบ้านขุนสมุทรจีนได้จริงเสียที

 

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง(บสส.) รุ่นที่ 4

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.