Select Page

เยาวชนไทยคว้าแชมป์ซอฟต์แวร์ระดับโลก ในผลงาน ‘eyeFeel’

เยาวชนไทยคว้าแชมป์ซอฟต์แวร์ระดับโลก ในผลงาน ‘eyeFeel’

ปีนี้ถือเป็นปีทองของเยาวชนไทย  ที่กวาดเหรียญทองจากหลายเวทีนานาชาติ  ล่าสุดสามารถกวาดรางวัลระดับโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าชาติตะวันตก สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ครองแชมป์ถึง 2 สมัย ในการแข่งขันโอลิมปิกด้านซอฟท์แวร์ในประเภท Software Design คว้าแชมป์โลก Worldwide lmagine Cup 2010 ในผลงาน ‘eyeFeel’

เรื่อง :อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์

         ผลงาน eyeFeel เป็นซอฟแวร์ที่ช่วยลดช่องว่างและเปิดโอกาสทางการสื่อสารระหว่างผู้ที่พิการทางการได้ยินกับคนปกติ ผ่านระบบที่แปลงเสียงพูดและจับความเคลื่อนไหวของใบหน้าผู้พูดให้เป็นตัวอักษรและภาษามือที่สร้างด้วยแอนิเมชั่นหรือภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ทันท่วงที(เรียลไทม์)เสมือนได้เห็นและได้ยินจริง โดยผู้พูดเพียงพูดผ่านไมโครโฟนที่อยู่หน้าเว็บแคม ระบบจะแปลงเป็นภาษามือและตัวอักษรแสดงออกมาบนจอ

          ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานของทีม SKeek จำนวน 4คน คือ นายพิชัย โสดใส นายกฤตธี ศิริสิทธิ์ นายนนทวรรธ ศรีจาด และนายธนสรรค์ ดิลกพินินันท์ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟท์แวร์และความรู้ โครงการเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ ( International Undergraduate Program :IUP)ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          สมาชิกทีม SKeek เล่าว่า “ผลงาน  eyeFeel เกิดจากแรงบันดาลใจตอนเด็กๆที่อ่านหนังสือการ์ตูน แล้วสังเกตเห็นว่ามีข้อความอยู่บนตัวการ์ตูน ทำให้เราจินตนาการได้ว่าเสมือนเราอยู่ในโลกของตัวละคร ดังนั้นในเมื่อการ์ตูนสื่อสารกับเราโดยไม่ใช้เสียง แต่เราสามารถรับรู้เรื่องราวที่สื่อออกมาได้เหมือนกัน ทำให้พวกเราจะจินตนาการถึงตอนอาจารย์พูด แล้วตัวข้อความขึ้นอยู่บนจอเหมือนกับการ์ตูน ไม่ได้

          และจากการค้นคว้างานวิจัยในอินเทอร์เน็ทพร้อมกับ เคยไปปรึกษาที่สมาคมคนหูหนวกและโรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนที่เปิดสอนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน พบว่ามีคนหูหนวกเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถอ่านหนังสือออก เพราะฉะนั้นซอฟท์แวร์นี้จึงต้องมีแอนนิเมชั่น ภาษามืออยู่ข้างๆ เพื่อให้ซอฟท์แวร์ นี้สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง”

          จากคู่แข่งกว่า 3 แสนคน 100 ประเทศทั่วโลกได้สร้างความประทับใจและเอาชนะคู่แข่งที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 5 ทีม ซึ่งเนื้อหาสำคัญจาก presentation ของ 5 ประเทศที่เข้ารอบชิง ก็น่ากลัวไม่น้อย…..

           ทีม SKeek เล่าต่อว่า” ประเทศนิวซีแลนด์ทำโครงการที่นำมาแข่งขันมาถึง 5 ปี มีการใช้งานจากขั้วทวีปเป็นตัวส่งสัญญาณโดยไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์จะ เป็นตัวกระจายเสียงโดยไม่ต้องผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จากนั้นส่งต่อไปยังสถานีวิทยุเลย โดยใช้แค่วิทยุมาปรับคลื่นความถี่ให้ตรงกันเท่านั้น ประเทศฟินแลนด์ เป็นซอฟท์แวร์ที่มีระบบสองภาษาสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้ภาษามือ ประเทศมาเลเซีย เป็นซอฟท์แวร์เกี่ยวกับด้านโภชนาการ และประเทศเซอร์เบีย เป็นที่น่าสนใจมาก เพราะมีโปรแกรมช่วยคนพิการที่เป็นอัมพาต โดยมีอุปกรณ์ติดตั้งบนหน้าผาก แล้วคนพิการสามารถใช้สายตาบังคับคอมพิวเตอร์ได้”

           ทีม SKeek ยังเชื่อว่า “ซอฟต์แวร์นี้จะช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้แน่นอน เพราะสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาให้แก่คนหูหนวก คือปกติแล้วคนหูหนวกที่มีการศึกษานั้น เขาก็จะศึกษาไปในทางสายอาชีพมากกว่า เพราะฉะนั้นการที่เราสร้างซอฟท์แวร์เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้เข้าถึงความรู้หลายแขนงได้ ก็เป็นการเพิ่มทางเลือก หรือแนวการศึกษาให้แก่พวกเขา

          ทั้งนี้ คนทั่วไปก็สามารถเรียนภาษามือได้ นักเรียนไทยที่อ่านภาษาอังกฤษออก แต่ฟังไม่รู้เรื่องนั้นก็สามารถใช้ซอฟท์แวร์นี้เพื่อการเรียนรู้ และความเข้าใจมากขึ้นได้อีกเช่นกัน”

            แน่นอน! ในอนาคตจะมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์นี้เพื่อมาใช้ในประเทศไทย เป็นภาษาไทยเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ เพราะนี้คือผลงานของคนไทย และเพื่อสังคมไทย

           การลงแข่งครั้งนี้ทีม SKeek หวังเพียงแค่จะเข้ารอบลึกๆ แต่ก็ไม่คาดหวังว่าจะเป็นที่ 1 ของโลก แต่วันนี้พวกเขาคือที่ 1 ของโลก ภายใต้คติ “ไอเดียไม่เจ๋ง เราจะไม่ทำ”

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.