Select Page

อะไรเกิดขึ้นกับเธอ ชีวิตเปลี่ยน5วันก่อนแต่งงาน

อะไรเกิดขึ้นกับเธอ ชีวิตเปลี่ยน5วันก่อนแต่งงาน

ความฝันของผู้หญิงทุกคน ฝันหนึ่งที่เหมือนๆ กัน คือ การมีครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์ เฉกเช่นเดียวกับ “เสาวลักษณ์ ทองก๊วย”หรือ “เสาว์”ชาวเมืองชาละวัน หรือ จ.พิจิตรในวัย 26 ปี ก็มีความฝันไม่แตกต่างไปจากผู้หญิงทั่วไป เธอเกือบได้เดินเข้าสู่ประตูวิวาห์กับแฟนหนุ่มที่คบหาดูใจกันมาร่วม 10 ปี ทว่า…ฝันกลับพังครืนลงมาก่อนวันแต่งงานเพียง 5 วัน!!!

          “จำได้ว่าวันนั้นเป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือนธันวาคมก่อนวันคริสต์มาส กำลังขับรถไปทำงานกับแฟน” เสาวลักษณ์เปิดฉากเล่าถึงอดีตที่พลิกชีวิตจากผู้หญิงชีวิตเพอร์เฟ็คต์ทั้งการศึกษาที่สามารถคว้าใบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ เอกการประชาสัมพันธ์จากรั้วพ่อขุนรามคำแหง มาได้เพียง 3 ปีครึ่งการงาน เป็นพนักงานบัญชีธนาคารชื่อดังครอบครัวอบอุ่นและมีฐานะดี และความรักแฮปปี้สุดสุด

          ชีวิตของเธอสมบูรณ์พร้อม กระทั่ง…

          “รถคว่ำ เสียหลักตกถนน”เธอบอกเพียงสั้นๆ และไม่ขอเล่ารายละเอียดว่าอะไรเกิดขึ้น

          เธอนอนไอซียู 1 สัปดาห์เต็มๆ โดยผลเอ็กซเรย์ระบุว่า หลังหักบริเวณกระดูกสันหลังเอวข้อที่ 2 และหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ส่งผลให้เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงที่หักลงไป ขณะที่แฟนหนุ่มบาดเจ็บเล็กน้อย

          อาการบาดเจ็บสาหัสและการเป็นอัมพาตไม่ได้ทำให้เธอกังวลและเจ็บปวดเท่ากับการต้องยอมรับความจริงว่าเธอกำลังสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพื่อน สังคม การงานอิสรภาพ และที่สำคัญ ชีวิตคู่ของเธอ

          “เรื่องที่เป็นกังวลที่สุดคือ กลัวคนรักทิ้งเพราะมันเป็นการตอกย้ำว่าเราไม่มีคุณค่า จึงหลอกตัวเองว่าคือความฝัน ไม่ยอมรับความพิการ ภายนอกยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ข้างในหวาดกลัวมาก”

          ยิ่งนานวัน บรรยากาศระหว่างเธอกับเขาก็ยิ่งเปลี่ยนไป แม้จะใจหายที่คนรักไม่เหมือนเดิม แต่เสาวลักษณ์ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตามุ่งมั่นทำกายภาพบำบัด ปีกว่าๆ ก็สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพจนสามารถเดินได้นิดหน่อยโดยใช้เครื่องช่วยเดิน

          “ดีใจมาก เพราะเราสามารถช่วยตัวเองได้มากขึ้นและปลดเปลื้องภาระต่อคนอื่นให้เหลือน้อยที่สุด” แต่สุดท้าย…”เขามีคนใหม่”เสาวลักษณ์เล่าสั้นๆ และบอกเพียงว่าแฟนใหม่ของคนรักเป็นคนที่เธอรู้จักดี

          “เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ไปทั้งชุมชนเพราะทุกคนรู้ว่าเราจะแต่งงานกัน เพราะเครียดมากจึงทำให้สภาพร่างกายและจิตใจย่ำแย่ลงอีกครั้ง”เครียดและเจ็บปวดมาก หากเธอก็ลุกขึ้นสู้เพราะถึงอย่างไรชีวิตก็ต้องก้าวเดินไปข้างหน้า

          คิดได้เช่นนี้ เธอเริ่มชีวิตใหม่ที่ยอมรับความพิการด้วยการเข้าทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.พิจิตร จากนั้นสมัครเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่โรงเรียนอาชีวะ พระมหาไถ่พัทยา ที่นี่สอนให้เธอเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาอาศัยผู้อื่น เข้าใจการดำรงชีวิตอิสระกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          “คนพิการส่วนมากจะมีสภาพที่ต้องถูกผู้อื่นดูแลเหมือนเด็กอ่อน เพราะฉะนั้นเวลาพูดหรือทำอะไรจะไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ ดิฉันไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น จึงพยายามใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง”

          ตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงคนนี้ทำอะไรได้สารพัดพูดอะไรมีคนเชื่อถือ ทำอะไรใครๆ ก็ไว้วางใจหากเธอยังไม่หยุดชีวิตไว้แค่นี้ ยังเดินหน้าสมัครงานที่ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิค (APCD) บรรจุงานในตำแหน่งเลขานุการผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ได้ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ ระหว่างนั้นลงเรียนปริญญาโทคณะศึกษาศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  จนได้ปริญญาอีกใบมาครอบครอง

          ปัจจุบันในวัย 44 ปี เสาวลักษณ์เป็นหัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำงานขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ โดยเน้นงานเชิงนโยบาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างเต็มที่และเสมอภาค

          “ตอนนี้ไม่รู้สึกว่าชีวิตด้อยกว่า หรือไม่เหมือนคนอื่น เคารพตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง ส่วนเรื่องความรัก พอมองย้อนกลับไปรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ความเป็นตัวตนของเรายังเหมือนเดิม”พูดพลางยิ้มด้วยใบหน้าแช่มชื่น เป็นผู้หญิงเก่งอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จได้แม้จะอยู่กับความพิการ

          เสาวลักษณ์แย้งว่า เธอไม่ได้เก่งอะไรมากมาย แต่ที่มาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยในการพัฒนาศักยภาพพอก้าวข้ามความพิการมาได้ ก็ดึงเอาทักษะเดิมกลับมาใช้ และเติมเทคนิคความพิการเข้าไป  จึงสามารถหาทางออกในชีวิตได้

          หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลฯที่ต้องเดินทางไปทำงานทุกประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค บอกว่า สังคมไทยยังให้โอกาสคนพิการน้อยเกินไป ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องและรัฐยังไม่มีสังคมสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค โดยเฉพาะการศึกษาและระบบขนส่งสาธารณะ

          “หากคนพิการสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาจะมีศักยภาพทำอะไรต่างๆ ได้ไม่แพ้คนไม่พิการ เพราะมนุษย์ไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ถ้ามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ” เสาวลักษณ์…ผู้หญิงที่มีความสุขกับความพิการ–จบ–

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.