Select Page

100 ปี สำมะโนประชากรเตือนฝัน(ร้าย)ที่เป็นจริงยุคผู้สูงอายุกำลังจะมา

100 ปี สำมะโนประชากรเตือนฝัน(ร้าย)ที่เป็นจริงยุคผู้สูงอายุกำลังจะมา

ใครๆ มักเข้าใจว่า “การทำสำมะโนใประชากร”ก็เหมือนการทำ “ทะเบียนบ้าน”เป็นหลักฐานอ้างอิงว่า คนคนหนึ่งมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ และเป็นสมาชิกของท้องถิ่นหนึ่งๆ แต่ในความเป็นจริง การสำมะโนประชากรนั้นแตกต่างจากการทำทะเบียนราษฎรค่อนข้างมาก

          ว่ากันตามตัวอักษร พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2542 ให้คำจำกัดความของคำว่า “ทะเบียนบ้าน”ว่าทะเบียนบ้านน. ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน

          ส่วน สำมะโนประชากรน. การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะต่างๆของราษฎรทุกคนในทุกครัวเรือน ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อใช้ประโยชน์ในทางสถิติ

          เทียบกันง่ายๆ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน บอกเพียงรายชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนแจ้งว่าเป็นสมาชิกในบ้านนั้นเรือนนั้น แจ้งสถานะภายในบ้าน และจะมีการอัพเดตข้อมูลก็ในกรณีที่มีการเกิด-ตาย ย้ายเข้า-ย้ายออก

          นั่นหมายความว่า สมาชิกที่แจ้งชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งนั้น อาจจะไปทำงานอยู่ต่างอำเภอต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็เป็นได้

          ขณะที่การสำรวจสำมะโนประชากรนั้นจะมีการ สำรวจทุก 10 ปีเพื่อ อัพเดตข้อมูลว่าณ เวลาหนึ่ง ณ พื้นที่ที่อยู่หรือเพิงพักอาศัยตรงนั้นมีประชากรเท่าไร เป็นชายหรือหญิงอายุกี่ปี และลึกลงไปในรายละเอียดว่า คนเหล่านั้นมีอาชีพอะไร

          ซึ่ง รายละเอียดของตัวเลขที่ได้จากการสำมะโนประชากรนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อการวางแผนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ

          จีราวรรณ บุญเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อธิบายถึงความสำคัญของการทำสำมะโนประชากรว่า การทำสำมะโนประชากรเป็นงานมาตรฐานระดับโลก มี 230 ประเทศที่มีการทำสำมะโนประชากร โดยรายละเอียดคำถามต่างๆ จะมาจากทางสหประชาชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าไปร่วมปรึกษาดำเนินการจัดทำคู่มือเพื่อใช้อ้างอิงในการสำรวจสำมะโนประชากร โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศไทยและฟิลิปปินส์เข้าไปเป็นตัวแทนในการจัดทำ

          สถิติที่ได้จากการสำมะโนประชากรในแต่ละประเทศเมื่อนำมารวมกันก็จะได้เป็นประชากรโลกจริงๆ ของเรา

          “ที่ผ่านมา ประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็น ‘วันสำมะโน’เพราะการทำสำมะโนสมัยก่อนเราใช้ครู จึงต้องเลือกวันที่ปิดเทอม แต่ตอนนี้ครูมีภารกิจมาก จึงเปลี่ยนมาใช้อาสาสมัครในพื้นที่ ประกอบกับเดือนเมษายนนั้นเป็นเดือนที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก คนไม่ค่อยอยู่บ้าน ขณะที่การทำสำมะโนนั้นวันที่ใช้ในการอ้างอิงน่าจะเป็นวันที่ค่อนข้างนิ่งคือประชากรเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ปีนี้จึงกำหนดวันสำมะโนเป็น วันที่ 1 กันยายน”

          วัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ว่า ณ วันนั้นมีประชากรกี่คน เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ อายุเท่าไร แต่งงานหรือยังทำงานอะไร ล้วนเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องประชากร โดยไม่พาดพิงไปถึงเรื่องของรายได้แต่อย่างใด

          ที่สำคัญคือ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสำมะโนก็จะไม่มีการเปิดเผยว่าได้จากนายคนนี้ หรือนางสาวคนนั้น ฉะนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีการนำเรื่องส่วนตัวไปเปิดเผยต่อยังที่อื่น

          เหตุที่ต้องมีการกำหนดวันสำมะโน ผอ.จีราวรรณบอกว่าเพราะคนเคลื่อนไหวตลอดเวลาทำให้คุณลักษณะของประชากรเปลี่ยนไปด้วย

          ตัวอย่างเช่น ถ้าดูตามทะเบียนราษฎรจะเห็นว่า ภาคอีสานมีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าดูสำมะโนประชากรจะรู้เลยว่า คนอีสานกระจายไปอยู่ที่อื่นมากมายซึ่งเมื่อทราบตัวเลขที่ชัดเจนแล้วจะทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ จัดเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ

          ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็สามารถใช้ข้อมูลพื้นฐานตรงนี้เพื่อวางแผนในภาคธุรกิจ เช่นใช้ในการประเมินทำเลของการเปิดร้านสะดวกซื้อ ซึ่งตัวเลขจากการสำมะโนจะทำให้รู้ว่าบนพื้นที่นั้นมีคนหนาแน่นเพียงใด มีกลุ่มคนระดับไหน

          ผอ.จีราวรรณบอกอีกว่า การทำสำมะโนประชากรปีนี้ถือเป็นงานใหญ่ โดย ในวันสำมะโน คือวันที่ 1 กันยายน2553 จะมีการส่งคนลงพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 7 หมื่นคน ใช้เวลาปฏิบัติงาน 1 เดือน

          “งานสำมะโนประชากรเป็นงานใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มเมื่อ 100 ปีที่แล้วศ.ปราโมทย์ ประสาทกุล ซึ่งค้นข้อมูลตรงนี้พบเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 100 ปีก่อนตัวอย่างเช่น

          “ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกประชุมเสนาบดีตอน 3 ทุ่ม พระองค์ทรงเป็นประธานประทับที่หัวโต๊ะ รับสั่งว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องไพร่พลทั้งหลายในประเทศว่ามีเท่าไหร่ และรับสั่งให้ไปดำเนินการ เราจึงทราบว่าครั้งนั้นมีประชากร (ในสยามประเทศ) 8 ล้านคน ปัจจุบันตัวเลขคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 65-67 ล้านคน

          “การทำสำมะโนเมื่อ 100 ปีก่อนแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ปีนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในงานครบรอบ 100 ปี การสำมะโนประชากร ซึ่งเราเรียกโครงการนี้ว่า “ร้อยปีสำมะโนประชากรไทย เทิดไท้องค์ราชันย์”

          ผอ.จีราวรรณยังบอกอีกว่า ในหลวงรัชกาลปัจจุบันก็ทรงสนพระทัยการทำสำมะโน เมื่อ 2 ครั้งที่แล้ว ปี 2533 กับปี 2543 โปรดฯให้เข้าเฝ้าฯถวายการรายงานและถวายการสัมภาษณ์

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือว่าทรงเป็นประชากรไทยคนหนึ่ง ปี 2543 พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้บริหาร ซึ่งปีนั้นดิฉันได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯด้วย นอกจากโปรดฯให้เราถวายคำถามแล้ว ทรงมีพระราชดำริต่างๆ เกือบ 2 ชั่วโมง”

          ยกตัวอย่าง อย่างใน ปี 2533 ทางคณะกราบทูลถามว่า ในวังใช้เชื้อเพลิงหลักๆ ในครอบครัวคืออะไร พระองค์บอก “ใช้ไฟฟ้า” น้ำดื่มที่ใช้ในครัวเรือนนี้ปกติท่านดื่มจากที่ไหน น้ำบ่อ ประปา น้ำขวด พระองค์ตรัสว่า”น้ำขวด”พอพระราชทานสัมภาษณ์เสร็จ ท่านทรงมีดำริว่า ในวังนี้จะมีราชองครักษ์มาเยอะพระราชทานเลี้ยงอาหาร แต่มาแล้วก็กลับไปอย่างนี้นับว่าเป็นสมาชิกในครัวเรือนของพระองค์หรือเปล่า ฟังแล้วก็รู้ว่าพระองค์ทรงชี้แนะมาแล้วว่า นิยามต้องชัดเจน เพราะราชองครักษ์มาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่สมาชิกในครัวเรือนนี้เราก็ต้องมากำหนดคำจำกัดความใหม่

          “ส่วนเมื่อปี 2543 ทรงเล่าว่า พระองค์สนพระทัยในงานสถิติมาก อย่างเวลาฝนตกก็จะโปรดฯให้นำกระป๋องมาตั้งๆๆ แล้วเอามาวัดปริมาณ แล้วก็เฉลี่ยก็ได้ปริมาณน้ำฝน รวมทั้งเวลาที่เสด็จฯทรงเยี่ยมพสกนิกรจะทรงใช้แผนที่ ซึ่งปีนี้ทางสำนักสถิติก็จะมีการถวายแบบสอบถามเข้าไปในวังเช่นเคย”

 

          “อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการทำสำมะโนประชากร และยอมสละเวลาเพียงแค่คนละ 10-15 นาทีต่อการให้สัมภาษณ์เพื่อว่าเราจะได้ตัวเลขมาใช้ในการวางแผนเพื่อการพัฒนาประเทศ ถ้าใครไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์โดยตรง สามารถที่จะโทร.เข้าไปตอบแบบสอบถามได้ที่ สายด่วน 1111 หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ www.nso.go.th เพื่อประเทศเราจะได้มีฐานข้อมูลดีๆ ไว้ใช้”

          ในการณ์นี้นอกจากการถามเกี่ยวกับเรื่องประชากร ผอ.จีราวรรณบอกว่า ยังมีการจัดทำเกี่ยวกับจำนวนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยด้วยเพื่อให้ได้เป็น “การสำมะโนประชากรและเคหะ”เป็นการนับจำนวนและแจกแจงรายละเอียดของคนและที่อยู่อาศัย ณ ที่ที่เราพบจริงๆ ในวันสำมะโน

          ด้วยเหตุนี้ในทุกสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งตามเพิงใต้สะพาน จะต้องเข้าไปตรวจดูว่ามีคนอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามี ถือว่าเป็น”ที่อาศัย”ก็ต้องนับว่ามีคนอยู่จำนวนเท่าไร และคนที่อยู่นั่นเป็นใคร

          “สิ่งที่ท้าทายคือ เรามีปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติมาก ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวเลขที่ถูกต้องได้รายละเอียดที่ชัดเจน เราต้องพยายามหาทางทำเครือข่าย ทำการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ของการให้ความร่วมมือตรงนี้”

          อีกกรณีตัวอย่างที่ผลจากการสำมะโนประชากรช่วยชี้ทิศทางในอนาคตของประเทศอย่างชัดเจน คือความกังวลที่ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”ซึ่งจากสถิติของประชากรผู้สูงอายุในปี 2546 อยู่ที่11% นั่นหมายความว่า คน 10 คนเดินมามีคนสูงอายุ 1 คน

          และคาดว่า ปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ (ประมาณ17-18%) จะเป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ว่าจะในแง่ของธุรกิจ หรือภาครัฐจะต้องมีแผนชัดเจนที่จะมารองรับ เพราะในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจำเป็นต้องมีเงินสำรองสำหรับให้ความดูแล โดยเฉพาะในส่วนของค่ารักษาพยาบาล

          “วันนี้คนที่รับภาระคือคนวัยทำงาน อายุ15-60 ปี ซึ่งในอนาคตคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนแก่ ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีภาระ ไม่อยากแต่งงาน หรือ แต่งงานแล้วก็ไม่อยากมีลูก เมื่อนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาเรื่องแรงงาน ฉะนั้น ต้องจัดการเรื่องแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาก เพื่อที่ว่าจะได้งานที่มากขึ้นด้วยจำนวนแรงงานที่น้อยลง”

          ผอ.สำนักสถิติย้ำว่า ปัญหาที่เกิดจากยุคผู้สูงอายุกำลังเกิดขึ้นแล้วกับหลายๆ ประเทศที่มีทัศนคติเรื่องการแต่งงาน การมีบุตรลดลง เช่นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ฉะนั้น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่นๆประเทศไทยต้องเริ่มวางแผนการจัดการแล้วต้องเร่งรัดการวางแผนกำลังคนของประเทศให้ดีซึ่งเราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นหลังจากการทำสำมะโนประชากรครั้งใหม่นี้แล้วเสร็จลง ซึ่งผลจะปรากฏให้เห็นราวปลายปีนี้

          สภาพัฒน์ต้องลุกขึ้นมาวางแผนประชากรให้ดี เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างของประเทศซึ่งระยะเวลา 10 ปีนั้นไม่นานเลย–จบ–

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.