เทคนิคการสื่อสารแบบผู้ประกาศข่าว
ผู้ประกาศข่าว หรือคนที่มาอ่านข่าวให้เราฟังโดยเฉพาะข่าวทางวิทยุโทรทัศน์ เขามีเคล็ดลับอย่างไรในการสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจ มีความน่าเชื่อถือ และเราสามารถนำเคล็ดลับแบบผู้ประกาศข่าวไปใช้ในการนำเสนอด้านอื่นๆ ได้หรือไม่ ลองสังเกตและนำ เคล็ดลับไปฝึกฝนดูค่ะ
เรื่อง : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ผู้ประกาศข่าว หรือผู้อ่านข่าว คือผู้มีหน้าที่นำ เสนอข่าว ที่มีการเรียบเรียงบทข่าว ตัดต่อภาพและเสียงประกอบข่าวไว้เรียบร้อยแล้ว จึงมีบทบาทในการอ่านข่าวนั้นไปตามลำดับของข่าว เป็นผู้ที่อ่านออกเสียงถูกต้องตามอักขรวิธี มีจังหวะจะโคน ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสม ไม่ใส่อารมณ์ไปในการอ่านข่าวมากจนเกินงาม รู้จักการวางสีหน้าท่าทาง หรือบุคลิกภาพโดยรวมหน้ากล้องโทรทัศน์อย่างสง่าผ่าเผย ใช้สายตามองกล้องอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนกับการสบตาผู้ฟัง และมีรอยยิ้มสุภาพ เหมาะกับข่าวที่นำเสนอ
บทบาทหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวเช่นนี้เป็นหลักปฏิบัติที่มีมานานแล้ว อาจมองว่าอนุรักษ์นิยม แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับ
เพราะผู้ประกาศทำหน้าที่อยู่ในกรอบของบทข่าวที่คัดกรองมาเป็นอย่างดี ไม่ต้องใส่สีตีไข่ ไม่ต้องแสดงสีหน้าท่าทางประหนึ่งแสดงละครอยู่ และผู้ประกาศข่าวก็จะไม่พยายามนำเสนอตัวเองจนกลบความสำคัญของข่าว สุดท้ายผู้ชมจะเป็นผู้ใช้วิจารณญานในข่าวนั้นๆ เอง
ขณะที่บางคนมองมุมกลับ ว่าผู้ประกาศข่าวเชิงอนุรักษ์นิยมดูน่าเบื่อ ไม่เหมาะกับยุคสมัย บางคนยังเข้าใจผิดไปไกลด้วยว่า ผู้ประกาศข่าวลักษณะนี้ ทำได้แค่ “อ่าน” ขาดลีลาการนำเสนอที่น่าสนใจ และอาจดูแคลนด้วยซ้ำไปว่า ผู้ประกาศที่เอาแต่ “อ่าน” ดูเหมือนจะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรที่ลึกซึ้ง ต่างจากผู้นำเสนอที่แสดงบทบาทเป็นผู้ “เล่าเรื่อง” หรือ “วิเคราะห์” ทั้งๆ ที่ผู้เล่า หรือผู้วิเคราะห์ นั้นก็หาตัวจริงขั้นที่เป็นต้นแบบได้ไม่มากนัก
อันที่จริง ในวงการผู้ประกาศเองก็มีบุคลากรที่มีความสามารถแตกต่างกันไปในหลายระดับค่ะ มีทั้งผู้ที่เก่งกาจสามารถทั้งในการอ่าน และการเล่า ขณะที่บางคนถนัดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนบุคลากรในระดับ “นักวิเคราะห์” นั้น ต้องยอมรับว่ายังมีน้อย ไม่ใช่ว่าใครเรียบเรียงข้อมูลมาพูดได้เป็นฉากๆ แล้วจะเรียกว่าวิเคราะห์ข่าวเสมอไป (อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด)
ไม่ว่าผู้ประกาศจะถูกวางบทบาทเป็นผู้ “อ่าน” หรือผู้ “เล่า” ล้วนแล้วแต่ต้องมีทักษะหลายอย่างประกอบกันเพื่อให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผลค่ะ
ประการแรก คือ ความรู้ความเข้าใจในข่าว
ผู้อ่านข่าวใช่ว่าสักแต่อ่านเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะบทข่าวโทรทัศน์ทั่วไป จะหาที่พิมพ์มาอย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นยากเต็มทน บางครั้งพบคำ ที่พิมพ์ผิด ตัวสะกดผิดๆ ถูกๆ หรือพิมพ์ตกหล่นมาก็ต้องใช้ทักษะทางภาษาช่วยเติมคำลงในช่องว่างให้ถูกต้อง หรือแก้ไขคำผิดได้ ในวินาทีนั้น ที่ร้ายยิ่งกว่าพิมพ์อักษรผิด ก็คือ ประเด็นผิด เช่น แหล่งข่าวพูดอย่างหนึ่ง แต่จับประเด็นมาผิดๆ แล้วรายงานมาอีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลผิด เช่นตายกลายเป็นไม่ตาย เข้าใจกลายเป็นไม่เข้าใจ ตกลงกันแล้วกลายเป็นไม่ตกลง อะไรทำนองนี้ ตลอดจนชื่อเฉพาะต่างๆทั้งชื่อบุคคล ยศ ตำแหน่ง สถานที่สำคัญ ที่บทผิดมา ด้วยความไม่รู้ของผู้สื่อข่าวที่ส่งข่าวมา หรือส่งข่าวมาถูก แต่ในสถานีพิมพ์ผิดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านี้ ผู้ประกาศประเภทอ่านไปวันๆ เป็นนกแก้วนกขุนทองจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย เพราะไม่ทำการบ้าน ไม่เข้าใจข่าวนั้นๆ และขาดความรู้รอบตัว บทมาอย่างไรก็อ่านไปตามนั้น ปล่อยไก่หน้าจอกันอยู่บ่อยๆ บางครั้งบทข่าวก็ยังเข้าข่ายหมิ่นประมาท ทำ ให้บรรณาธิการข่าวและผู้ประกาศถูกฟ้องกราวรูด เพียงเพราะไม่รอบคอบรัดกุมในการใช้ภาษาในบทข่าวอีกด้วย
ประการที่สอง คือ ทักษะการออกเสียง อย่างถูกต้อง และชัดเจนน่าฟัง
ข้อนี้ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือออกนะคะ แต่ต้องถึงขั้นอ่านหนังสือแตก คือแตกฉาน สามารถนำเสนอข่าวได้ไม่ว่าจะมีบทหรือไม่มีบท(เล่า) สามารถใช้ภาษาข่าวซึ่งเป็นภาษาแบบกึ่งทางการจนถึงภาษาทางการได้ดีมาก ทั้งยั้งต้องมีสุ้มเสียงแจ่มใสกังวาน พูดชัดถ้อยชัดคำ มีจังหวะจะโคน ไม่เร็วเกินไปจนฟังข่าวไม่ทัน หรือช้าเนิบนาบจนน่าง่วงนอน เมื่อก่อนใครจะเป็นผู้ประกาศได้ ต้องผ่านการสอบบัตรผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์กันก่อน ซึ่งมีกติกาเข้มงวดมากๆ ต้องพิจารณากันอย่างละเอียด ดิฉันเองสอบได้ 70 กว่าคะแนน ก็ยังเป็นสถิติอันดับต้นๆ ที่ถูกบันทึกไว้ และแม้จะสอบกันได้แล้ว แต่ทางกรมประชาสัมพันธ์ก็ยังมีผู้ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบหน้าจอ และมีคำเตือนรายบุคคลเป็นระยะๆ แต่ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 2552-2553) กลับไม่มีการสอบอีกแล้ว จึงเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยหน้าจอที่ไม่ค่อยเคร่งครัดระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาทั้งการพูดการอ่านเหมือนเมื่อครั้งมีคนคอยตรวจสอบ
ประการที่สาม คือ ทักษะการสัมภาษณ์ การจับประเด็น และการสรุป
เนื่องจากผู้ประกาศไม่ใช่แค่อ่านข่าวตามบทเท่านั้น แต่บ่อยครั้งที่จะต้องสัมภาษณ์แหล่งข่าวสดๆ ด้วย ดังนั้น จึงต้องรู้จักวิธีการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากบทข่าวที่อ่านไป วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบ ส่วนใหญ่ต้องเป็นคำถามปลายเปิด ส่วนคำถามปลายปิดประเภท ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง หรือถามข้อสรุปให้ชัดเจนนั้น จะใช้เฉพาะเวลาคับขัน หรือต้องการดึงผู้ให้สัมภาษณ์กลับเข้ามาอยู่ในประเด็นหลังจากพูดออกนอกเรื่อง และใช้ตัดบทเพื่อจบให้ตรงเวลาเท่านั้น
ในระหว่างการสัมภาษณ์ ก็ต้องใช้ทักษะการฟังให้เข้าใจ และจับประเด็นตามไปด้วย หากมีข้อสงสัยหรือได้ฟังข้อมูลใหม่ขึ้นมาจะได้ซักถามแตกประเด็นออกไปได้อย่างทันท่วงที และมีเทคนิคการสรุปใจความสำคัญได้อย่างสั้นกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่นำคำพูดของให้ผู้สัมภาษณ์ มาพูดซ้ำ อย่างยืดยาวอีก สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝน และประสบการณ์ของผู้ประกาศที่ผ่านชั่วโมงบินมานานจึงจะสามารถทำได้ดี
ประการสุดท้าย คือ การนำเสนอภาษากายที่สุภาพ และน่าเชื่อถือ
ข้อนี้หมายรวมถึง การแต่งกาย เสื้อผ้า การแต่งหน้า ทรงผม ที่ดูสุภาพ น่าเชื่อถือ ไม่ฉูดฉาดหวือหวาจนโดดเด่นกว่าข่าว รวมทั้งการแสดงสีหน้าท่าทาง การใช้มือประกอบ ทั้งหมดต้องแสดงออกแต่พองาม เหมาะกับรูปแบบของรายการข่าวนั้นๆ
เมื่อรู้เคล็ดลับของผู้ประกาศข่าวแล้ว ก็สามารถนำไปปรับใช้กับการนำเสนออื่นๆ ได้ด้วยค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นพิธีกร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา เป็นนักพูด นักประชาสัมพันธ์ หรือจะนำเสนอข้อมูลอะไรก็ตาม ล้วนแต่ต้องอาศัยทักษะการพูด การอ่าน การใช้เสียง ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ตนเองจะนำเสนอ การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม การจับประเด็น การสรุปใจความสำคัญ และต้องใช้ภาษากายประกอบการนำเสนอที่เหมาะสมด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งการนำเสนอของท่านต้องการความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน ก็ยิ่งต้องนำเคล็ดลับของผู้ประกาศข่าวไปปรับใช้มากเท่านั้น
ดิฉันเป็นวิทยากรอบรม “พัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสาร” หลายๆ ครั้งก็มักจะบอกกับผู้เข้าอบรมเสมอว่า หลักการพูดและการนำเสนอแบบผู้ประกาศข่าวนั้น สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอาชีพผู้ประกาศข่าวเท่านั้น แต่หากฝึกฝนทักษะไว้แล้ว ในวันข้างหน้ามีโอกาสได้เดินเข้าสู่เส้นทางผู้ประกาศข่าวอาชีพ ท่านก็จะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ เพราะเข้าใจหลักปฏิบัติแล้ว ที่เหลือก็คือการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ พัฒนาตนเองต่อไปเรื่อยๆ จนได้รับการยอมรับนั่นเอง
เชิญชมคลิปวิดีโอตัวอย่างการฝึกอบรมหลักสูตร “พัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสาร” ในโจทย์การเป็นผู้ประกาศข่าว ผู้รายงานข่าวนอกสถานที่ และการเป็นพิธีกรค่ะ
(คลิกชมคลิปวีดีโอ)
อยากเป็นผู้ประกาศข่าวมากเลยค่ะ ไม่ทราบว่าจะมีเปิดอบรมอีกไหมค่ะ