Select Page

คลื่นยักษ์สึนามิ ตอนที่ 1

แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ขนาด 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดสึนามิถล่มเกาะฮอนชู พังราบเป็นหน้ากลอง และผู้เชี่ยวชาญได้ติดอันดับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างมูลค่าความเสียหายมากที่สุดของโลกแล้วนั้น ทำให้คนไทยตื่นตระหนกไม่น้อย ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับประเทศไทย และเราก็เคยเจ็บปวดกับเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิเมื่อปี 2547 วันนี้เราจึงควรตั้งสติ และเรียนรู้เรื่องสึนามิกันให้เข้าใจถ่องแท้อีกครั้ง

เรียบเรียงโดย: สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

ขอบคุณคลิปรายการ”ถอดรหัสพิบัติภัย”จากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV

        คุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ให้ความรู้เรื่องคลื่นยักษ์หรือสึนามิ ตั้งแต่ที่มาของชื่อเรียกตามภาษาญี่ปุ่นว่า
         “สึ” หมายถึง ท่าเรือ

         “นามิ” หมายถึง คลื่น “สึนามิ”

          ในภาษาญี่ปุ่นจึงหมายถึง “คลื่นท่าเรือ”

           สาเหตุที่เรียกชื่อนี้ก็เป็นไปตามประวัติว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ท่าเรือแห่งหนึ่งนั่นเอง ส่วนภาษาไทยน่าจะเรียกว่า”คลื่นยักษ์” แต่อย่างไรก็ตาม เราก็มักเรียกทับศัพท์กันว่า “สึนามิ” เหมือนๆกับชาวต่างชาติทั่วโลก

           สึนามิ หรือ คลื่นยักษ์ เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร ขนาด 7 ริกเตอร์ ดินถล่มหรือภูเขาไฟระเบิดใต้มหาสมุทร หรือแม้แต่ฝีมือมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นยักษ์ได้เหมือนกัน

           คลื่นยักษ์ครั้งที่รุนแรงที่สุดของโลก เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์ และคลื่นถล่มมาถึงประเทศญี่ปุ่น โดยจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ถึงญี่ปุ่นมีระยะทางถึง 18,000 กิโลเมตร คลื่นยักษ์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-16 ชั่วโมง

           เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดที่รอยเลื่อนที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรอินเดียลงใต้แผ่นยูเรเซีย หรือที่เรียกว่า “ซุนด้า เทรนช์” เกาะสุมาตราห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 800 กิโลเมตร จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย รับรู้แผ่นดินไหวในเวลาประมาณ 7:58 น. หลังจากนั้นอีกราวๆ 2 ชม. ชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยก็ถูกสึนามิถล่ม เกาะสุมาตราบริเวณที่ถูกคลื่นยักษ์ซัดนั้นราบเป็นหน้ากลอง ศรีลังกา ไปจนถึง มาดากัสการ์ทางตะวันออกของแอฟริกา ต่างก็ถูกผลกระทบกันถ้วนหน้า

           คลื่นยักษ์ยังสัมพันธ์กับระดับความลึกของน้ำทะเลด้วย โดยคลื่นจะวิ่งด้วยความเร็วจากจุดที่เกิด 943 กม./ชม. ความห่างของช่วงคลื่นที่วัดจากยอดคลื่นแต่ละลูกจะห่างกัน 282 กม. ดังนั้น หากอยู่ในทะเลลึกเราจะไม่รู้สึกเลย ความเร็วซัดเข้าฝั่ง 500-700 กม./ชม. ขณะที่เมื่อเข้าใกล้ฝั่ง ก็จะลดลงเหลือ 35-36 กม./ชม.

           มีข้อสังเกตด้วยว่า ระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกนั้น ถ้ารอดชีวิตจากคลื่นลูกแรก ก็อาจจะรีบหนีได้ทัน เพราะบางคนลูกแรกยังรอด แต่คิดว่าไม่เป็นไรแล้วจึงไม่หนี หรืออาจตกใจอยู่ เลยเจอลูกที่2-3 เข้า เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

          กรณีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล อาจไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเล ถ้าขยับตัวแนวนอนก็อาจไม่เกิดสึนามิ แต่หากขยับตัวแนวตั้ง มันจะยกน้ำทะเลขึ้น ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5-7 ริกเตอร์ จึงต้องมีการเตือนกันก่อน เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าแผ่นดินไหวในมหาสมุทรแต่ละครั้งนั้นเกิดการขยับตัวแบบแนวนอน หรือแนวตั้ง

           ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อาศัยเครื่องมือจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีเครื่องมือวัด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบกับสำนักธรณีวิทยาสหรัฐ สวิสเซอร์แลนด์รวมถึงศูนย์เตือนภัยสึนามิ”โนอา”ของสหรัฐ เพื่อความรอบคอบแม่นยำ

          ก่อนหน้านั้น สถิติที่เกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียไม่เคยมี จึงทำให้นักวิชาการทั่วโลกประมาท ไปเฝ้าระวังแต่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค ดังนั้น ต่อจากนี้ไป ทุกประเทศที่อยู่ติดกับมหาสมุทรคงจะตื่นตัวกันมากขึ้นแล้วว่าอาจต้องเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิได้ทุกเมื่อ!!!!

 (ชมคลิปวิดีโอ)

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.