คลื่นยักษ์สึนามิ ตอนที่ 2
หลังจากที่เราเคยเจ็บปวดกับเหตุธรณีพิบัติภัย คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามัน เมื่อเดือนธันวาคมปี 2547 และเราเพิ่งได้เห็นความเจ็บปวดจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ปี 2554 นี้ ลองหันกลับมาเรียนรู้ และช่วยกันติดตามดูว่า พื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิทุกวันนี้ได้รับการกันไว้เป็นเขตต้องห้ามหรือกลับเข้าไปอยู่เหมือนไม่เคยมีบทเรียนอะไรกันมาก่อน และกลไกในการเตือนภัยสึนามิของเราพัฒนาไปถึงไหนแล้ว
เรียบเรียงโดย:สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ขอบคุณคลิปรายการ”ถอดรหัสพิบัติภัย”จากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV
คุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้อธิบายประกอบแผนที่ให้เห็นว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และเกิดคลื่นยักษ์(สึนามิ)ตามมานั้น สัมพันธ์กัน และเป็นไปตามแนวที่ชัดเจนบนแผนที่
โดยหากนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่เกิดแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะสุมาตรา เป็นต้นมา ก็จะมีแนวการเกิดแผ่นดินไหวเป็นเส้นลากผ่านอันดามัน เข้าไปในพม่า นอกจากในมหาสมุทรแล้ว รอยต่อนี้ยังเชื่อมเข้าไปในแผ่นดิน ผ่านประเทศพม่า จีน ธิเบต เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอิหร่าน
อย่างที่ปากีสถานมีแผ่นดินไหวรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำ นวนมาก (ปากีสถานเคยประสบแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ปี 2548 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 73,000 ราย และอีก 3.5 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นแคชเมียร์ และล่าสุด เมื่อ 19 มกราคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ ที่ความลึก 84 กิโลเมตร ในเมืองติดกับชายแดนอัฟกานิสถาน แรงสั่นสะเทือนไปไกลถึงอาบูดาบี และดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย แต่ครั้งนี้เกิดในพื้นที่ที่ไม่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น จึงไม่เกิดความเสียหายมาก)
จากอิหร่านก็เหมือนกัน (อิหร่าน เป็นประเทศหนึ่งที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก ตัวอย่างแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งหนึ่ง คือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 40,000 -50,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 60,000 คน)
ลองไล่ลงมาตามเกาะสุมาตรา ยอร์กยาการ์ต้า ไปฟิลิปปินส์ ขึ้นไปทางญี่ปุ่น รัสเซีย อลาสก้า เลียบชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาลงมาถึงเม็กซิโก บราซิล ชิลี
ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2547 แท้จริงแล้ว โลกจะขยับตัวอยู่ตลอดเวลา และเรียกได้ว่ายังไม่เข้าที่ บางแห่งเกิดนับร้อยๆ ครั้ง เพียงแต่ขนาดของมันไม่ถึงขั้นทำ ให้เกิดสึนามิ ประเทศไทยแม้จะอยู่ห่างพอสมควร แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร และความรุนแรงขนาดไหน จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมพร้อม เพียงแต่อย่าหวั่นวิตกถึงขั้นทำให้ชีวิตเราไม่มีความสุข
สำหรับคำถามที่ว่า พื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิแล้ว ควรอพยพออกจากบริเวณนั้นไปอย่างถาวรหรือไม่????? คุณสมศักดิ์ตอบอย่างชัดเจน ว่าควรย้ายออกไปจากพื้นที่นั้น
โดยเมื่อครั้งเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 กรมทรัพยากรธรณีได้ไปสำ รวจพื้นที่ว่าคลื่นยักษ์ซัดขึ้นฝั่งมาถึงบริเวณไหน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ให้ถือเป็นพื้นที่ต้องห้าม ไม่ควรเป็นพื่นที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่พาณิชย์ อีกต่อไป แต่เนื่องจากประเทศไทยเราไม่มีกฏหมายควบคุมเรื่องนี้ หลังเหตุการณ์สงบ คนเริ่มลืม ก็กลับเข้าไปอยู่เช่นเดิม แถมยังมีผู้ฉกฉวยโอกาสเข้าไปบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
สิ่งปลูกสร้าง จะปลูกอย่างไรไม่ให้ขวางทางน้ำ เช่นบ้านยกพื้นใต้ถุนสูง อย่างน้อยก็ลดการกระแทกให้น้อยลงได้ แผ่นดินไหวเราเตือนล่วงหน้าไม่ได้ แต่สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวแรงๆ นั้นเรามีเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ ต้องติดอาวุธทางปัญญา ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสึนามิมากขึ้น และเราต้องมีระบบเตือนภัย ซึ่งขณะนี้ก็มีการติดตั้งหอเตือนภัยไว้หลายจุด ทั้งใน6จังหวัดที่เคยเกิดสึนามิ และจังหวัดที่เสี่ยงต่อการเกิดพิบัติภัยอื่นๆ นอกเหนือจากสึนามิด้วย
แม้เราจะไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหว แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล แล้วจะเกิดสึนามิ เรามีเวลาหนี ถ้าเรามีความรู้ มีเครื่องมือ และเชื่อในระบบการเตือนภัย!!!!!!!!
(ชมคลิปวิดีโอ)