ผู้บริโภคกับทีวีดิจิตอล : ทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนที่อยากเห็น
วงการโทรทัศน์ในประเทศไทยเริ่มบุกเบิกขึ้นในปี พ.ศ.2491 และหลังจากนั้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง จนปัจจุบันก็กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโทรทัศน์ดิจิตอล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสัญญาณอนาล็อกไปเป็นสัญญาณดิจิตอล ทำให้เกิดช่องใหม่ 48 ช่อง โดยแบ่งเป็นช่องรายการบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องรายการบริการสาธารณะ 12 ช่อง และช่องรายการธุรกิจ 24 ช่อง ข้อดีของสัญญาณดิจิตอลคือมีแค่รับสัญญาณได้ (ภาพคมชัด) กับรับไม่ได้(ไม่มีภาพเลย) ซึ่งต่างจากสัญญาณอนาล็อก หากสัญญาณไม่ดีจะเกิดภาพรบกวนบนจอทีวี(นอยซ์) เรื่องนี้นำไปสู่การระดมความคิดเห็นว่า หากวันนั้นมาถึง “ผู้บริโภคอยากเห็นทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนเป็นอย่างไร”
เรื่อง : วิรงรอง พรมมี
ภาพ : อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2556 กสทช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น (Focus group) ผู้บริโภคกับทีวีดิจิตอล ครั้งที่ 1 “ว่าด้วยทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนที่อยากเห็น” ณ ห้องการ์เด้นท์ 1 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เปิดฉากนำระดมความคิดเห็นโดยคุณพสุ ศรีหิรัญ รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและจัดการทรัพยากรกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) อธิบายว่า “ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการรับชมทีวีในประเทศไทยมี 3 แบบคือ ฟรีทีวี (รับชมผ่านหนวดกุ้ง) เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ซึ่งสองแบบหลังมีผู้ใช้รับชมทีวีถึง 54% ด้วยภาพที่ชัดกว่า และช่องรายการที่หลากหลายกว่า อีกทั้งผู้ชมยังนิยมชมรายการช่อง 3,5,7,9,สทท. และไทยพีบีเอส ถึงร้อยละ 83 เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดการผูกขาดทางด้านเนื้อหารายการ ทีวีในยุค 1(ภาพขาวดำ) และ 2(ภาพสี) ของไทยเป็นระบบอนาล็อก คือ ผู้ผลิต – สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ – เครื่องรับโทรทัศน์หรือวิทยุ (ผู้ชม,ผู้ฟัง) เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 กลไกจะเปลี่ยนไปเป็น ผู้ผลิตรายการ บริการ โครงข่าย – ผู้ให้บริการลูกค้า – สิ่งอำนวยความสะดวก – เครื่องรับโทรทัศน์หรือวิทยุ (ผู้ชม,ผู้ฟัง) นอกจากนี้ผมจะอธิบายเรื่องใบอนุญาตทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนควบคู่ไปด้วยว่า
ประเภทช่องรายการบริการสาธารณะ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 ช่องรายการเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร การส่งเสริมอาชีพ สุขภาพอนามัย กีฬา และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
ประเภทที่ 2 ช่องรายการเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ
ประเภทที่ 3 ช่องรายการเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน กระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขฯ
คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประเภทช่องรายการบริการสาธารณะ
– กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
– สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
– สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมตามลักษณะ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
เงื่อนไขการประกอบการประเภทช่องรายการสาธารณะ (มาตรา 20 พรบ.ประกอบกิจการฯ 2551)
– บริการสาธารณะประเภทที่หนึ่ง และประเภทที่สาม จะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้จากการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ…
– บริการสาธารณะประเภทที่สอง ให้หารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ โดยไม่เน้นการแสวงหาผลกำไร
ประเภทช่องรายการบริการชุมชน
– ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ แต่ต้องเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ
– มาตรา 17 (2) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ให้คำนึงถึงความต้องการที่หลากหลาย ความพร้อม และประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยใช้คลื่นความถี่ที่จัดสรรไว้สำหรับภาคประชาชน
คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประเภทช่องรายการบริการชุมชน
– ต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ หรือกลุ่มคนในท้องถิ่นไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน…
เงื่อนไขการประกอบการประเภทช่องรายการบริการชุมชน
– ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้
โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทาง กสทช.ได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว 3 ใบ ได้แก่ โครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอล , ใบอนุญาตบริการสาธารณะ(ช่องรายการ) 12 รายการ , ใบอนุญาตบริการทางธุรกิจ (ช่องรายการ) 24 รายการ โดยการประมูล”
ต่อไปเราจะมาฟังมุมมองของผู้บริโภคต่อทีวีดิจิตอลกันบ้างนะคะ
คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า “ทีวีไทยยังไงก็ต้องก้าวไปสู่ระบบดิจิตอลอยู่ดี ขอเพียงต้อนเข้าคอกให้ถูกคอก รายการบริการสาธารณะกับรายการบริการชุมชนมันแตกต่างกัน ประชาชน ผู้บริโภคสื่อต้องมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ อีกทั้งตอนนี้ฟรีทีวีก็เป็นของรัฐ รัฐจัดการเนื้อหาเอง หากจะปฏิรูปทีวีทั้งทีก็ควรปฏิรูปให้เกิดประโยชน์ เรื่องบางเรื่องที่มีประโยชน์แต่กลับไม่ค่อยถูกนำมาเสนอ แต่เรื่องที่ถูกนำเสนอก็มักไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อผู้ชม เพราะธุรกิจสื่อถูกผูกขาด เราอยากเห็นการเกลี่ยผลประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และควรมีพื้นที่สำหรับให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นของเขาบ้าง”
คุณพรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล ตัวแทนผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า “ผมในนามตัวแทนล้านนา แชเนล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 10 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ประเด็นปัญหาของภาคเหนือคือ ทรัพยากรดินน้ำป่า สิทธิเด็กเยาวชน วัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนพึ่งตนเองไม่ได้ ยากจน คนไหลเข้าสู่สังคมเมือง คลื่นความถี่ถูกครอบคลุมด้วยระบบทุน คนในชุมชนตกเป็นเหยื่อ หากมีการปฏิรูปเป็นทีวีดิจิตอลครั้งนี้ ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ กลุ่มเราเองก็อยากได้คลื่นความถี่ นำไปทำรายการดีๆ ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ทางเราพร้อมและรวมตัวกันไว้แล้ว เราพร้อมจะใช้ประโยชน์จาก กสทช. ขอเพียงท่านให้โอกาสเรา”
คุณบุญจันทร์ จันทร์หม้อ เครือข่ายผู้บริโภคกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมอยากจะพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่เอาแต่มอมเมาประชาชน ในประเทศไทยมีชาติพันธุ์กว่า 40 ชาติพันธุ์ สื่อควรให้พื้นที่แก่พี่น้องชาติพันธุ์บ้าง เพื่อนำเสนอตัวตนของชาติพันธุ์นั้นๆ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนทั่วไป”
คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน กล่าวว่า “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงความต้องการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้วย เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ (ประมาณ 1 ใน 3) มิเช่นนั้นอาจไม่ได้ความเห็นที่แท้จริง การปฏิรูปเป็นทีวีดิจิตอล ต้องพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เพราะทีวีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพื่อพัฒนาตนเอง ทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน ในเมื่อไม่ใช่เรื่องการค้า ก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จะใช้กรอบการแข่งขันเสรีไม่ได้ นอกจากนี้เรื่องทีวีดิจิตอลยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากผู้ใช้แรงงานอยู่มาก กสทช. ควรมีการให้ความรู้มากยิ่งขึ้น”
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อพัฒนาเด็ก กล่าวว่า หากเราไปดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญและแผนแม่บทของ กสทช. ต้องสะท้อนมุมมองความเท่าเทียมแก่ผู้บริโภคสื่อ คำนิยามต่างๆ ยังไม่ค่อยชัดเจน กสทช. ควรอุดช่องโหว่เหล่านั้น เพื่อไม่ให้ใครหาประโยชน์จากทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน โดยเน้นคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง ต่อมาในเรื่องของเด็กและเยาวชน ควรให้ความรู้ ให้ดูรายการที่กระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่ให้บริษัทที่มีทุนหนามากว้านซื้อสื่อ แล้วนำไปฉายการ์ตูน เพื่อขายขนม ขายน้ำอัดลมให้เด็ก มอมเมาเด็กด้วยโฆษณาแบบนี้น่าเป็นห่วง
นี่คือเสียงของตัวแทนผู้บริโภคในสาขาต่างๆ ซึ่งทุกคนล้วนห่วงใยกับการปฏิรูปเป็นทีวีดิจิตอล ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ และไม่ว่าใครจะได้เป็นเจ้าของช่องเกิดใหม่ 48 ช่อง ขอเพียงมุ่งประโยชน์ส่วนรวม และไม่หวังผลกำไร ดิฉันเชื่อแน่ว่า รายการที่จะออกมาสู่สายตาผู้ชมต้องเป็นรายการที่มีประโยชน์ พัฒนาสมอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างแน่นอน