Business Dress code แต่งให้มีพลังตัวตน ภาพลักษณ์คนทำมาหากิน !
ผู้หญิงทุกคนทั้งโลก ความสุขที่เริ่มต้นแต่ละเช้าคือ มองตัวเองแต่งตัวแล้ว ดูดี มีพลังตัวตนภาพลักษณ์ตามที่ตั้งใจ และได้รับการตอบสนองทางสายตา คำพูด จากคนรอบด้าน แค่นี้ก็กำไรทั้งวันแล้ว อ.แดงส์ตักส์ศิลายังอยากให้สนใจแต่งกายไปทำมาหากินให้เหมาะสมกับภาพลักษณ์ตัวตนใน 4 วาระโอกาสด้วย…
ผมไม่เชื่อว่าไม่มีใครแต่งตัวเสร็จแล้วไม่ส่องกระจกสำรวจภาพรวมตัวตน และมีเกณฑ์ในการตัดสินใจว่า ดูดีหรือไม่ดูดี และคิดว่าไม่มีใครที่จะไม่อยากแต่งตัวให้ดูดีมีพลัง และไม่เชื่อว่าจะแค่แต่งตามที่มีเพราะต้องแต่ง ตราบใดที่ยังมีกิเลสมีตัณหา ติชมคนอื่นได้ ก็ย่อมยังมีอารมณ์ความรู้สึกแยกแยะ อะไรดี อะไรไม่ดีได้ แม้ว่าเกณฑ์ในการตัดสินใจอาจยึดถือความเห็นส่วนตัวเป็นสำคัญก็ตาม
คอลัมน์นี้เน้นสาระสัมพันธ์กับคำว่า Lady Manager ซึ่งเน้นประโยชน์ให้เกิดตรงกลุ่มเป้าหมายหลักคือ สาวๆ ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ไปทำมาหากินให้มีรายได้เพื่อดูแลตัวเอง คนใกล้ชิด และอาจมีเหลือเผื่อแผ่ให้สังคม ตามนิยามที่ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย อยากให้ทุกคนมีคือ ISR: Individual Social Responsibility การร่วมดูแลรับผิดชอบสังคมด้วยสำนึกและความรู้สึกส่วนตัว มิใช่มี CSR: Corporate Social Responsibility คือ สร้างภาพให้องค์กร แต่ตัวตนตั้งแต่ระดับสูงสุดยันระดับล่าง ไม่มี ISR
ดังนั้นสาระที่ผมนำมาก็น่าจะเรียกได้ว่า กำลังให้ผู้อ่านได้ร่วมกันสร้าง ISR ด้วยการเติมเต็ม – ต่อแต้ม สไตล์การแต่งกายให้ดูดี (Look Good) เหมาะสม (Look Right) ลงตัว (Look Great) กับสภาวะการปรากฏกายที่ต้องดูดีมีพลังตัวตนภาพลักษณ์ (HEP Image Powers) เหมาะสมกับการแต่งกายสไตล์ไปทำมาหากิน หรือ Workwear Style
กลุ่มอักขระรหัสหนึ่งของ HEP Lifecode ที่เน้นด้าน 4 วาระโอกาส (Occasions) หลัก คือ
1. W: Workplace wear เน้นการแต่งกายเพื่อไปปรากฏกายในสถานที่ทำงานทุกแห่ง
2. SE: Social Event Wear เน้นการแต่งกายเพื่อไปปรากฏกายในกิจกรรมทางสังคม
3. ATW: All Time Wear เน้นการแต่งกายเพื่อไปปรากฏกายในกิจกรรมต่อเนื่องทั้งวัน
4. VO: Very Occasion เน้นการแต่งกายเพื่อไปปรากฏกายในโอกาสพิเศษ
ทั้ง 4 อักขระรหัส แยกให้เห็นเป็นรหัสภาพชัดๆว่า คำนึงถึงสถานที่ กิจกรรม เวลา ภารกิจ ซึ่งถ้าจะทำให้ภาพรวมพลังตัวตนภาพลักษณ์ดูดี เหมาะสม ลงตัว กับสภาวะตัวตนคือ คนทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งใด อักขระรหัสทั้งหมด ก็อาจจะเรียกเป็นนิยาม Dress Code ได้ แต่เป็น Dress Code ที่เปิดกว้างในรูปลักษณ์ และรายละเอียดแบบที่อิสระในการเลือกแต่ง เพียงแต่ผลลัพธ์ (Solution) ต้องเกิดประโยชน์(Benefit) ด้านทัศนคติมุมมองเชิงบวกจากผู้ที่พบเห็นเราในแต่ละโอกาส
จริงอยู่ที่บางคนอาจเป็นคนมีความเชื่อมั่นสูงมากๆ อาจไม่เคยสังเกตแววตา ท่าที ท่าทาง ของผู้คนรอบด้านว่า มีปฏิกิริยาต่อภาพรวมการแต่งกายในโอกาสนั้นๆ อย่างไร แต่ผมว่าน่าจะต้องเริ่มสนใจนะ
คนทำมาหากิน ถือว่าเป็นธุรกิจยังชีพ และตัวคุณเป็นเจ้าของธุรกิจชีวิตคุณ (Life Business Owner) ในแต่ละวันเราทำมีกำไรหรือขาดทุนจากอารมณ์ของเรา คือ วันไหนหงุดหงิด โดนนายว่า โดนเพื่อนบ่น เกิดทุกข์ทางใจ ถือว่าวันนี้ “ธุรกิจชีวิตคุณขาดทุน” แต่วันไหนอารมณ์ดี มีแต่คนพูดดีๆ นายชม เกิดสุขทางใจ ถือว่าวันนี้ “ธุรกิจชีวิตคุณกำไร” ดังนั้นเมื่อเราเป็นเจ้าของธุรกิจชีวิตเรา กำไร ขาดทุน เราได้รับทางอารมณ์และความรู้สึก ทำไมไม่สนใจสร้าง Lifestyle Business Model ของคุณให้มีกำไรสูงสุด
ผู้หญิงทุกคนทั้งโลก ความสุขที่เริ่มต้นแต่ละเช้าคือ มองตัวเองแต่งตัวแล้ว ดูดี มีพลังตัวตนภาพลักษณ์ตามที่ตั้งใจ และได้รับการตอบสนองทางสายตา คำพูด จากคนรอบด้าน แค่นี้ก็กำไรทั้งวันแล้ว ผมเลยอยากให้สนใจแต่งกายไปทำมาหากินให้เหมาะสมกับ 4 อักขระรหัส HEP Lifecode นั้นๆ
เครื่องแต่งกาย มีศัพท์อินเตอร์หลายนิยาม อาทิ Wardrobe, Outfit, Attire, Uniform, Unity , Freestyle ผมจะถือว่า ทุกศัพท์มันก็สรุปด้วยภาพรวมการแต่งกายของคุณทั้งสิ้น
แต่ลองมาเติมคำนำหน้าลงไปว่า “เครื่องแต่งกายใส่ไปทำงานในธุรกิจต่างๆ” เช่น Business Wardrobe, Business Outfit, Business Attire, Business Freestyle ล่ะ คุณว่าภาพรวมมันมีจุดเน้นใด ?\
ผมขอยกเอาคำที่ถือว่าเป็นระเบียบระบบที่สุดในเรื่องของการแต่งกายไปทำงาน คือ Attire ก่อน เพราะลองหานิยามสากลของ Attire จาก Http://dictionary.cambridge.org คือ
Attire noun [U] FORMAL
clothes, especially of a particular or formal type:
I hardly think jeans are appropriate attire for a wedding.
เป็นเครื่องแต่งกาย ที่จัดเตรียมเฉพาะรูปแบบที่เน้นความเป็นทางการ ในโอกาสต่างๆ ดังตัวอย่างประโยคที่ว่า “ฉันไม่อาจยอมรับได้ว่าใส่ยีนส์ไปงานแต่งงาน จะดูดีเหมาะสม..!
แต่มันก็ใช่ว่าจะต้องแต่งให้ดูเป็นทางการ เป็นพิธีรีตองไปหมด เครื่องแต่งกายมาดธุรกิจ จึงเล่นคำเพิ่มเป็น
1. Business Formal Attire : เครื่องแต่งกายมาดเป็นทางการ ใส่ไปทำงานในสถานที่ และกำหนดการทางธุรกิจที่ต้องการให้ดูจริงจัง น่าเชื่อถือ
2. Business Casual Attire : เครื่องแต่งกายมาดกึ่งทางการ ใส่ไปทำงานในสถานที่ และกำหนดการทางธุรกิจ ที่ดูผ่อนคลาย แต่ก็ยังดูจริงจัง น่าเชื่อถือ
3. Business Casual Sport Attire : เครื่องแต่งกายมาดผ่อนคลาย ลำลอง ไม่จริงจัง ดูเป็นกันเอง สำหรับทำงานในวันที่ต้องการหารือ แบบแลกเปลี่ยนความคิด
4. Business Very Occasion Attire : เครื่องแต่งกายออกงานสังคม ที่เน้นผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ต้องเลือกสไตล์ที่สื่อภาพรวมพลังตัวตนภาพลักษณ์ธุรกิจการงาน และพิจารณารูปแบบ สถานที่ เวลา ของงานสังคมนั้นๆ ถ้าสังเกตให้ดี การแต่งกายทั้ง 4 มาด 4 สไตล์ มีอิสระในการเลือกชิ้นส่วนองค์ประกอบ ซึ่งอาจเป็นแนว Mix & Match หรือ Coordinates (เคยเขียนไว้ตอนหนึ่งแล้วครับ กลับไปอ่านทบทวนได้) แต่มีกรอบในการประเมินพลังตัวตนภาพลักษณ์ได้ด้วยตนเอง (Self-Assessment) ว่า ภาพรวมต้องสะท้อนพลังตัวตนภาพลักษณ์คนทำงานในมาด Business Attire ไม่ได้แต่งตามอำเภอใจ หรือคำแนะนำผิดๆ ของผู้มีประสบการณ์ด้านรูปแบบ แต่ขาดการมองภาพรวมให้ลูกค้าด้าน วาระโอกาส กาลเทศะ และบทบาทตัวตนในมาด Workwear Style
ก็ลองนำไปเป็นแนวทางเบื้องต้นก่อนนะครับ ผมจะหาโอกาสมาเพิ่มเติมเคล็ดลับรายละเอียดให้ลึกขึ้นในโอกาสต่อไป อยากให้ผู้ที่มี HEP Lifecode แล้ว ลองสร้างจินตภาพโดยหันกลับไปมองบรรดาชิ้นส่วนเครื่องแต่งกายที่แต่งอยู่ เพื่อคัดเลือก คัดทิ้ง จัดหาใหม่ ให้ดูดีมีพลังตัวตนภาพลักษณ์ครบด้าน !
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์