ล้มให้เป็น…ลุกให้ได้: บทเรียนสอนใจจากคนพิการผู้ไม่แพ้
“ความกลัวมักเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และอาจกลายเป็นตัวปิดกั้นเส้นทางฝัน เพราะหากกลัวจนไม่กล้าที่จะก้าว ก้าวสุดท้ายก่อนพบความสำเร็จย่อมไม่เกิดขึ้น ผมรู้ว่าทุกคนมีความกลัวอยู่ในตัวเอง…แต่เชื่อผมเถอะว่าความกลัวไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย” เอกชัย วรรณแก้ว ผู้ที่เกิดมาพิการแต่ใจไม่เคยยอมแพ้ สอนให้ทั้งคนพิการและไม่พิการ มีวิธีคิดใหม่แบบ “ล้มให้เป็น..ลุกให้ได้”
เรื่อง : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
คนที่กำลังท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย คนที่กำลังสิ้นหวัง ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การสิ้นเนื้อประดาตัวจากภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมที่กินพื้นที่เกือบครึ่งค่อนประเทศในปี 2553 นี้ อาจยังมืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาทางออกในชีวิตอย่างไร บางคนเครียดจัดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายเสียให้รู้แล้วรู้รอด ดังมีตัวเลขที่กรมสุขภาพจิตต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดถึง 168 ราย (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553) ดิฉันอยากให้สละเวลาอ่าน หรือฟังผู้ชายคนนี้ค่ะ “เอกชัย วรรณแก้ว” ผู้พิการที่เกิดมาไม่มีแขน ส่วนขาและเท้าทั้งสองข้างก็มีขนาดเล็กมาก โผล่พ้นลำตัวออกมาเพียงนิดเดียว แต่เขาไม่เคยยอมแพ้โชคชะตา หากแต่พยายามเรียนรู้การใช้ชีวิตทั้งในห้องเรียน(ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย) และชีวิตในโลกกว้างอย่างผู้พิการที่มีคุณภาพ
ดิฉันเคยพบกับเอกชัยนานมาแล้ว ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่ไอทีวี นานจนจำรายละเอียดของงานไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าพบกันในวาระไหน แต่ทันทีที่เราพบกันในงานเปิดตัวหนังสือ “ล้มให้เป็น..ลุกให้ได้” ของเขา เอกชัยพูดทักทายเลยว่า “เราเคยเจอกันตอนที่ผมพาเด็กๆ ไปวาดรูปนะครับพี่”…..
ดิฉันยิ้มรับ ออกจะเขินด้วยซ้ำที่ตัวเองไม่เป็นฝ่ายหยิบยกเรื่องนั้นมาทักทายให้เขาดีใจเสียเอง นี่ล่ะค่ะ จุดอ่อนของคนปกติ ที่บางทีเราก็ไม่ละเอียดอ่อนเท่ากับคนพิการด้วยซ้ำ!!! เอกชัย มีพี่น้อง 5 คน เขาเป็นคนสุดท้อง และเป็นคนเดียวที่เกิดมามีร่างกายไม่เหมือนคนอื่น แต่เขาโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่วิเศษ คือสมาชิกทุกคนในบ้านให้ความรักความอบอุ่น และพร้อมใจกัน “ลืมความไม่พร้อม”ของเขา ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความเข้มแข็ง และมีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่ดีมาก เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองมีปมด้อย หรือเป็นผู้พิการทุพพลภาพที่ต้องให้ใครมาดูแลประคบประหงม หรือมาสงเคราะห์ อย่างที่เราคุ้นชินกันในสังคมไทย ที่เป็น “สังคมแห่งการสงเคราะห์”
“..ผมมองว่าเรื่องสภาพทางกายมักจะทำให้ท้อแท้บ้าง แต่จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนพิการหรอก แต่อยู่ที่คนให้โอกาสพวกเขามากกว่า คนพิการอยากมีเพื่อน อยากมีสังคม แต่บุคคลที่สองและสามนี่เองที่เป็นคนปิดประตูกั้นเขา เช่น พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกที่พิการออกไปไหน เพราะอายคนอื่นที่มีลูกเป็นแบบนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นห่วง กลัวลูกจะลำบาก กลัวลูกจะทำอะไรไม่ได้..” นั่นคือมุมมองของเขา
เอกชัยพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบข้างเห็น ว่าเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้ ทั้งการเรียนหนังสือ และการเรียนทางด้านศิลปะ เพียงแต่อวัยวะที่เขาใช้เขียนหนังสือ และวาดรูป ก็คือ “ปาก” กับ “เท้า”
แก้วตา ปริศวงศ์ คนเดินเรื่องรายการ “คนค้นคน” ของบริษัททีวีบูรพา ผู้ตีแผ่เรื่องราวอันน่าประทับใจของเอกชัย ยอมรับว่าเธอต้องปรับตัวอย่างมากในการติดตามถ่ายทำชีวิตของคนที่ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากด้วย”เท้า” และการดำรงชีวิตหลายอย่างที่ธรรมชาติสอนให้เขาต้องมีพฤติกรรมไม่เหมือนคนปกติ ซึ่งยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งต้องทึ่ง ที่สำคัญคือ เอกชัยไม่ใช่ผู้พิการคนแรกที่เธอพานพบหรือนำเสนอเรื่องราวออกอากาศ แต่เอกชัยพิเศษกว่าหลายๆคนตรงที่เขามีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เข้มแข็งและงดงามมาก แก้วตายืนยันว่าที่เอกชัยเป็นอย่างนี้ ต้องยกความดีให้พ่อกับแม่ของเขาที่เติมเต็มจิตใจให้ลูกที่พิการทางกายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ทุกวันนี้เอกชัยไม่เพียงแต่พึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพจนได้รับยกย่องเป็น “บุคคลพิการตัวอย่าง”และกวาดรางวัลมานับไม่ถ้วนเท่านั้น แต่เขายัง “มี” มากพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่นที่ “ขาด”กว่าเขา ด้วยการรับสอนศิลปะให้แก่ผู้ที่มีความตั้งใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเคยเข้าไปเป็นวิทยากรสอนศิลปะให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย
“ในวันที่มีมากขึ้น ในวันที่ยืนได้ด้วยขาของตัวเอง ผมยินดีจะหยิบยื่นโอกาสส่งต่อให้กับอีกหลายชีวิตที่ยังอยู่ในมุมมืด มุมที่ไม่มีใครมองเห็น เพราะอย่างน้อยการผลักดันคนเหล่านี้ให้ได้แสดงความสามารถออกสู่สังคมถือว่าเป็นการเปิดโอกาสได้อย่างดีทีเดียว เพราะการให้โอกาสคน ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” นี่คือเจตนารมณ์ของเอกชัย ที่อาจยิ่งใหญ่กว่าคนปกติหลายๆคน
ใครต้องการอ่านเรื่องราวของเขาให้ละเอียดลึกซึ้ง หรือหาหนังสือดีๆ มอบเป็นแรงบันดาลใจสำหรับใครๆ “ล้มให้เป็น..ลุกให้ได้” ของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดิฉันมีความสุขที่จะแนะนำค่ะ และสามารถชมคลิปสัมภาษณ์เปิดใจเอกชัย วรรณแก้ว บางส่วนจากงานวันเปิดตัวหนังสือได้เลยค่ะ
(ชมคลิปวิดีโอ)