Select Page

อารันดร์ อาชาพิลาส (ตอนที่ 1)

“…คนๆเดียวไม่สามารถช่วยคนทั้งโลกได้ หน้าที่ของผมคือทำอะไรก็ได้ให้มันเกิดระบบให้คนช่วยคนขึ้น หลักการของผมไม่ใช่แค่ว่าทำให้คนลำบากทุกคนมีข้าวกินได้ หน้าที่ของผมคือ ช่วยเฉพาะคนลำบากที่ต้องการมีอาชีพ คือคนจนที่ขยัน ในทางกลับกันก็คือว่า คนที่ต้องการจะช่วยคนไม่รู้ว่าจะช่วยที่ไหน สามารถควักเงินซื้อหนังสือเล่มหนึ่งได้ราคา 45 บาท…” ฟังที่มาของนิตยสาร”บี” ธุรกิจเพื่อสังคม ในบทสนทนาระหว่างอารันดร์ อาชาพิลาส (ต้น) กับ หนิง สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

 

 สายสวรรค์ : วันนี้ได้รับเกียรติจากคุณอารันดร์ อาชาพิลาส กรรมการผู้จัดการบริษัท ชิลชิล แคลปิตัล จำกัด แล้วก็เป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร บี หรือว่า Be Magazine ค่ะ คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงแล้วก็ตอนนี้ก็เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น จากการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างนิตยสาร ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่ามีแฟนที่ติดตามเป็นประจำ ทั้งติดตามในเรื่องเนื้อหา แล้วก็ติดตามในเรื่องอยากจะช่วยเหลือสังคม ไปกับคุณต้น หรือคุณอารันดร์ มากขึ้นแน่นอนเลย แต่อยากจะย้อนถามคุณต้นนิดนึงตอนแรกที่อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสังคมมันเริ่มต้นด้วยอะไรก่อน

อารันดร์ : คือจริงๆแล้ว ผมโดนคุณพ่อส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งนาน ใช้ทุน พ.ก. (พ่อกู) ผมก็เฮฮาปาจิงโกะไปวันๆ แล้วจังหวะช่วงเปลี่ยนชีวิตก็คือว่า ตอนปิดเทอมปีหนึ่งมีเพื่อนชวนไปสอนหนังสือเป็นครูอาสาที่เชียงใหม่ ช่วนนั้นเบื่อกรุงเทพฯ ก็เลยขึ้นไป ที่เชียงใหม่ ไปสอนที่นั่น สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ ผมไปสอนในโรงเรียนของเครือในหลวงท่าน แล้วก็มีโอกาสไปดูงานของในหลวง เราก็คิดอยู่ในใจ “เอ๊ย! เออ เราก็มีโอกาสตั้งเยอะนะ แล้วเราจะอยู่แค่นี้หรือ เราจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือเปล่าเพราะในหลวงท่านทำมากกว่านี้มาก” ตอนนั้นผมเปิดห้องสอนพิเศษสอนเศรษฐศาสตร์ที่นอกห้องเรียนกัน ให้กับเด็กมัธยมปลายของเรา  ภายในระยะเวลาสองอาทิตย์เด็กไทยสามารถเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ   สามารถโต้เถียงกันได้ ผมเชื่อว่าเขาทำข้อสอบได้เลยถ้าเขารู้ภาษาอังกฤษได้ภายในสองอาทิตย์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เร็วมาก แต่ว่าเขาไม่ได้มีโอกาสเข้าไปถึงตรงนั้น การเรียนรู้ ความสามารถ คือเป็นคนที่ ฉลาด ใช้ได้เลยล่ะ ก็เลยเกิดต่อมกระตุ้นว่า เออเราน่าจะทำขึ้นมาอีกปีต่อมาผมเป็นคนจัดทริปไปเองไปขอนแก่น แต่ก็เกิดคำถามในใจขึ้นมาว่า “เอ่อ เราน่าจะอะไรให้กับเมืองไทยมากกว่าเป็นอาจารย์” ผมออกตัวก่อนว่าไอเดียทำนิตยสาร บี นี้ เดิมทีเป็นแนวคิดของแอนนิต้า รอดดิก  (Anita Roddick) ที่เขาเป็นเจ้าของ The Body Shop  และเป็นเจ้าของนิตยสาร “The Big Issue” ไอ้ บิ้ก อิชชู่ เนี่ยแหละที่ผมเดินผ่านมันทุกวันตอนอยู่มหาวิทยาลัยสามปี ผมก็นั่งคิดตั้งนานว่าผมจะเอา       อะไรกลับเมืองไทย ผมก็มอง เอ่อเราเดินผ่านทุก3วัน เขาทำให้คนที่ไม่มีบ้านอยู่ คนที่ลี้ภัยการเมืองเอาไปขายได้ ผมก็เลยส่งอีเมล์ไปยัง  นิตยสารบิ้ก อิชชู่ เนี่ยว่า ผมเป็นคนไทยแล้วจะเอาไอเดียนี้กลับไปทำที่เมืองไทย เขาก็บอกว่าดี ผมได้คุยกับผู้ช่วย บก. เขาด้วย เขาก็บอกเอาไปใช้เลยเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาคุยกันได้ สรุปแล้วก็เริ่มต้นจากจุดนั้น หลังจากนั้นกลับมาอยู่เมืองไทย จะว่ายังไงดีละ ผมโดนคุณพ่อเตะโด่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ ป.6 เพราะฉะนั้น คุณนึกภาพเด็กที่มันมีความรู้ภาษาไทย ป.6 แล้วต้องการทำนิตยสารที่ต้องมีความรู้ภาษาไทย มากๆ ถ้าหากจะเรียนรู้ภาษาไทยต้องใช้เวลาเป็นปี หรือ สามสี่ปีเพื่อให้หลักให้แน่นเลย ต้องทำงานอีกกี่ปีถึงจะได้เป็นบรรณาธิการ กินเวลานานมากแล้วไม่รู้ว่าเราจะเป็นบรรณาธิการได้ดีหรือเปล่า แต่เราเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะฉะนั้น หากองบรรณาธิการแทนดีกว่า นี่คือจุดเริ่มต้น อะไรที่ผมทำไม่ได้ ผมให้คนอื่นเขาทำหมด
 

 

สายสวรรค์ : ที่บ้านทำธุรกิจอัญมณี ทำธุรกิจหลายอย่าง แล้วทำไมถึงไม่ไป ทำงานที่บ้าน ทำไมถึงเลือกที่จะมาทำตรงนี้แทน มันเกิดประกายอะไรขึ้นมานอกจากในหลวง ครั้งหนึ่งเอาละทุกคนก็เคยไปโครงการหลวง      เยอะแยะ ทำไม อารันดร์ อาชาพิลาสเนี่ยถึงต้องมาทำอย่างนี้

 

อารันดร์ : คือต้องเข้าใจก่อนว่า ผมมาวิเคราะห์ตัวเอง คนเราเขาเรียกว่าเป็นสามเหลี่ยมสามอย่าง ก็คือ หนึ่งคุณมีเวลา คุณมีแรง แล้วคุณก็มีเงิน คนส่วนใหญ่มีเวลา มีแรง แต่ไม่มีเงิน คนไหนมีเงินมีแรงจะไม่ค่อยมีเวลามันจะไม่พอดี พูดง่ายๆคือผมเป็นคนที่ไม่มีภาระ คุณพ่อคุณแม่ผมมีลูกค่อนข้างเร็ว ทำให้ท่านยังหนุ่มยังสาวกันอยู่ แล้วผมก็มีน้องชายน้องสาวอีก เพราะฉะนั้นผมไม่มีภาระที่ต้องดูแลท่าน คนทั่วไปจะมีภาระที่ต้องดูแลท่าน มันน่าจะผ่านจุดนี้ได้ แต่ที่ผมขาดคือ ขาดโอกาส แต่ถ้าขาดและมีภาระผมก็ไม่รู้ว่าผมจะได้ทำรึเปล่า สู้เราทำตอนไม่มีภาระแล้วทดลองไปดีกว่า
 
 

 

สายสวรรค์ : เคยได้ยินเขาบอกว่า เงินมันต้องต่อเงิน มีเงินก็ลงทุนเพิ่ม จะทำธุรกิจบางอย่างบางทีอาจจะเป็นคนใกล้ตัวเรา คุณพ่อคุณแม่เรา เพื่อนเราที่คอยทักว่า มาทำทำไม อย่างนั้นจะได้ประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่าไม่รวยหรอก อะไรต่างๆเนี่ย คุณอารันดร์มีต่อสู้กันอยู่ในใจไหม
 
 

 

อารันดร์ : นี่คือประเด็นที่คนพูดกัน บางครั้งเนี่ยมนุษย์เรามีทางเลือกมากกว่าสองทาง ไม่ใช่ว่าคุณมาทำตรงนี้แล้วคุณไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ไม่ใช่ว่าผมมาทำตรงนี้แล้วผมไม่สามารถเล่นหุ้น ไม่สามารถเล่นตลาดหลักทรัพย์ได้ มันขึ้นอยู่กับเราบริหารจัดการเวลาเรายังไงไม่เหมือนกับว่าคุณเลือกทางหนึ่งแล้วอีกทางหนึ่งจะไม่เปิดออก อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะให้คนเข้าใจก็คือว่า ทุกอย่างมันมีความเสี่ยงไม่ใช่ว่าคุณไปทำธุรกิจแล้วมันจะประสบความสำเร็จเสมอไป เจ๊งมาก็เยอะ อย่างที่คนเขาพูดกัน ผมจำได้ดีเขาก็พูดกับผม “เนี่ยรู้ไหม คนที่ไม่มีการศึกษา คนจนเนี่ยกู้เงินมาเขาก็เปิดร้านส้มตำเหมือนกันเจ็ดร้านในหมู่บ้านเดียวกัน” ผมก็พูดกลับ “แล้วคุณรู้ไหมว่าคุณให้คนรวยเหมือนกันกู้เงินเนี่ย มันก็เหมือนเปิดโรงแรมเหมือนกันเจ็ดโรงบนถนนเส้นเดียวกัน แล้วก็บ่นว่าไม่มีลูกค้า” ประเด็นผมคือ ธุรกิจมันมีความเสี่ยงของมันอยู่แล้วบางครั้งไม่เกี่ยวด้วยซ้ำว่าคุณมีหรือไม่มีความรู้ ปัจจัยความเสี่ยงมันยังมีอยู่ ณ ตอนนั้น ว่าคุณมีคู่แข่งเยอะเท่าไร อะไร ยังไง นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ายังไงมันก็เสี่ยงอยู่ดี สู้มาเสี่ยงอะไรที่เราช่วยคนไปด้วยไม่ดีกว่าหรือ
 
 

 

สายสวรรค์  : อย่างน้อยเจ็บตัว แต่ก็ยังอิ่มใจ มีความสุขที่ได้ช่วยคนอีกเยอะ

 

อารันดร์  : ใช่ หากคุณต้องการจะช่วยคนเนี่ย คนๆเดียวไม่สามารถช่วยคนทั้งโลกได้หน้าที่ของผมคือทำอะไรก็ได้ให้มันเกิดระบบให้คนช่วยคนขึ้นหลักการของผมไม่ใช่แค่ว่าทำให้คนลำบากทุกคนมีข้าวกินได้ หน้าที่ของผมคือ ช่วยเฉพาะคนลำบากที่ต้องการมีอาชีพ คือคนจนที่ขยัน ในทางกลับกันก็คือว่า คนที่ต้องการจะช่วยคนไม่รู้ว่าจะช่วยที่ไหน สามารถควักเงินซื้อหนังสือเล่มหนึ่งได้ราคา 45 บาท ซึ่งพอคนเข้ามาปุ๊บเนี่ยเราสกรีนในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นเขารับหนังสือเราไปขาย เราให้เขาทดลองไปขายก่อนสามสิบเล่มแรกฟรี เราก็ดูคนว่าคนนี้ไว้ใจได้แค่ไหน “เอางี้นะลุง เอาไป 5 เล่มก่อนนะ ถ้าลุงเข้ามาอีก เอาไปอีก 5 เล่มได้ หรือรับไปอีก 10 เล่มได้”ในทางกลับกัน คุณลุงขายหนังสือเราได้ 30 เล่ม เขาได้ทุนเริ่มต้น 1,350 บาท แล้วเงินเหล่านี้มันสามารถกลายเป็นต้นทุนมาซื้อหนังสือเล่มที่ 31 ในราคาเล่มละ 25 บาทพอขายได้ 45 เขาได้ส่วนต่าง 20 แต่ข้อดีคือว่าเมื่อคนซื้อ เงินมันเข้าคุณลุงก่อน         วันนี้เขาขายหนังสือได้ 2 เล่ม เขามีเงิน 90 บาท สามารถซื้ออาหารให้อิ่มสองคนได้  นี่คือ โจทย์ ที่ว่าทำยังไงก็ได้ให้คนช่วยคน ผมยังตอบไม่ได้ว่าอนาคตต่อไปจะเป็นยังไง นี่คือ หลักการที่ผมลงทุนไป หากระบบสำเร็จเนี่ย มันสามารถต่อยอดไปได้หลายอย่าง
 
 

 

สายสวรรค์ : ระบบเรื่องของในเชิงรูปแบบหรือว่าการกระจายสินค้าก็ส่วนหนึ่ง รูปแบบในการที่จะไปบริจาคต่อตามความประสงค์ของผู้ซื้อ หรือของสมาชิกนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่หนังสือทุกหัวต้อง       บริหาร ซึ่งก็คือ เรื่องเนื้อหา เนื้อหานี่ให้ความสำคัญยังไง ละเอียดลออประณีตขนาดไหน
 
 

 

อารันดร์ : เนื้อหาผมก็จ้าง บก. ที่มีประสบการณ์ มาทำเนื้อหาเหล่านี้ขึ้นมา คนซื้อที่ผ่านมาเจอ เขาซื้อเพราะสงสารมากกว่าเนื้อหาหรือซื้อเพราะเนื้อหามากกว่าสงสารหรือเปล่า คุณจะวัดยังไง ผมก็จะตอบว่า ผมไม่จำเป็นต้องวัด หลักการของผมก็พัฒนาเนื้อหามันไปเรื่อยๆแหละอีกสุดท้ายก็ต้องซื้อเพราะเนื้อหาเอง 100 เปอร์เซ็นต์
 
 

 

สายสวรรค์ : ค่ะ แต่เท่าที่ดูเนี่ยที่ประทับใจคือว่า เนื้อหามันไม่ธรรมดาด้วยจริงๆแล้วก็ ตรงกับใจที่อยากจะทำเว็บไซต์ ก็คือว่า อยากจะให้มีเนื้อหาที่สื่ออะไรสักอย่าง คือเปิดเข้ามาแล้วได้อะไรบ้าง
 
 

 

อารันดร์ : คือ สิ่งที่ผมทำก็คือว่า ทำยังไงให้ความดีไม่น่าเบื่อนี่เป็นโจทย์ของเรา ทำให้มันไม่น่าเบื่อแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจด้วย นี่คือโจทย์ที่เราพยายามจะแก้
 

 

สายสวรรค์ : แล้วค้นพบหรือยัง
 

 

อารันดร์ : ก็ยังต้องค่อยๆพัฒนาต่อไป
 

 

สายสวรรค์ : แต่อย่างน้อยเลือกตั้งแต่คนที่ขึ้นปก ก็ต้องมีอะไรในตัวเองพอสมควร

 

อารันดร์ : คนที่ขึ้นปกนี่ จริงๆคือ เขาเลือกเราด้วย มันเป็นอย่างนี้นะ เราไม่ได้มีค่าตัวให้คุณ ที่ขึ้น(ปก)เขาก็ขึ้นให้ด้วยใจ
 

 

สายสวรรค์ : แต่ก็ต้องเป็นปกที่ดึงดูดคน
 

 

อารันดร์ : ใช่ เราก็ต้องทำให้ออกมาดีทำภาพเขาให้ออกมาโอเคเพื่อให้เขาไม่อายใครเราไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงเขาเสียหาย นี่คือ ที่เราพยายามจะทำ
 

 

สายสวรรค์  : แล้วก็ต้องมีแฟนพอสมควรที่เขาเห็นปกปุ๊บอุ๊ยอยากซื้อขนาดไม่รู้จัก BE Magazine เลย แต่ว่ารู้จักคนนี้ก็ต้องอยากหยิบก่อนนอกจากนั้นก็ต้องมีเนื้อหาข้างในที่น่าสนใจ คือว่า พยายามส่งเสริมคนดี คนรุ่นใหม่คนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม คนที่รู้จักคุณค่าของการให้อันนี้ชอบมาก

 

(คลิกชมวีดีโอการสนทนา)

 

 

About The Author

aof

1 Comment

  1. Chai

    พี่ต้นพูดเก่งมากเลยครับ ได้แนวคิดดีๆจากพี่เขาเยอะมาก

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.