Select Page

กลุ่มผู้ก่อการดี สถานีแม่ฮ่องสอน

กลุ่มผู้ก่อการดี สถานีแม่ฮ่องสอน

เห็นชื่อกลุ่มครั้งแรกนึกสงสัยอยู่ว่า ทำไมต้องเป็น “กลุ่มผู้ก่อการดี” และสถานีแม่ฮ่องสอนคืออะไร อยู่ที่ไหน กระทั่งได้พูดคุยกับ นิรันดร์ วิชัยสกุล หรือ คุณเก๋ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง จึงทราบว่าเป็นการรวมตัวของคนหนุ่มสาวที่อยากทำกิจกรรมดีๆ ให้แก่เมืองสามหมอก

 นิรันดร์เล่าว่า กลุ่มนี้เริ่มต้นจากกลุ่มแม่ฮ่องสอนสร้างสรรค์ สมาชิกนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขยายมาเป็นการรวมตัวของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน มาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น นำเงินรายได้จากการขายของ ทำร้าน เป็นวิทยากร มารวมกันและทำค่ายเด็กทุกปี กลุ่มนี้ตั้งมาได้สามปีแล้ว

“แม่ฮ่องสอนเมืองเล็ก ทุกคนรู้จักกัน อุดมการณ์เดียวกัน ชวนมาร่วมกันทำกิจกรรมตรงนี้ เป็นกิจการที่ไม่ได้หวังกำไร เรื่องความขัดแย้งทางธุรกิจไม่มี”  รูปแบบคือ ทำร้านขายของที่ระลึก ในชื่อ “สถานีแม่ฮ่องสอน” โดยเช่าบ้านซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ภายในร้านจำหน่ายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ โดยรับจากผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ด้อยโอกาส หรือเพื่อนในกลุ่มเดินทางไปสถานที่ต่างเห็นสินค้าน่าสนใจก็ซื้อติดมือกลับมาวางขายในร้าน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวและคนเมืองด้วย

ภาพคุณเก๋ "นิรันดร์ วิชัยสกุล" หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง กลุ่มผู้ก่อการดี และสถานีแม่ฮ่องสอน

ภาพคุณเก๋ “นิรันดร์ วิชัยสกุล” หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง กลุ่มผู้ก่อการดี และสถานีแม่ฮ่องสอน

ตัวอย่างสินค้าเช่น ผ้าเขียนสีจากดอกไม้จากผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจากลำพูน สมาชิกในกลุ่มรู้จักเป็นส่วนตัวก็รับมา, สบู่รกแกะ จากโครงการหลวงปางตอง, น้ำส้มควันไม้ จากธนาคาร ฟืน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าฝ้าย เป็นต้น

 นิรันดร์บอกว่า กิจการที่ดำเนินการอยู่นี้ ไม่ได้หวังกำไร เพราะจะนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปใช้เพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ ตามความตั้งใจของสมาชิก เช่น ทำ กิจกรรมกลุ่ม จัดค่ายและแจกของให้เด็ก ซึ่งเมื่อก่อนต้องขอสปอนเซอร์จากหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ แต่ปัจจุบันไม่ต้องแล้ว เพราะนำรายได้จากการขายของในร้านมาใช้แทน 

กลุ่มผู้ก่อการดีสถานีแม่ฮ่องสอน มีสมาชิก 28 คน ทุกคนต้องลงหุ้น และบำรุงร้านรายเดือน เดือนละ 500 บาท เป็นการให้เปล่าเพื่อนำเงินไปลงทุน และมีรายได้สำหรับทำกิจกรรมเพื่อสังคม

“เงินที่ลงไป ไม่ได้อะไรคืน เราลงเงินเพื่อทำกิจกรรมด้วยกัน ให้ร้านอยู่ได้ มีกิจกรรม เป็นเซ็นเตอร์ให้ทุกคนมารวมกัน ที่ตั้งร้านใกล้สนามบิน นักท่องเที่ยว มานั่งรอขึ้นเครื่องบิน ขอแวะอาบน้ำก็ได้ ไม่คิดเงิน เหมือนเป็นที่รับแขก”

แต่ระหว่างนั่งรอจะอุดหนุนกาแฟสดสักแก้ว คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง… นิรันดร์บอกว่า เมล็ดกาแฟที่ใช้หลักๆ ซื้อมาจากห้วยฮ่อม ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับกาแฟสตาร์บัคส์  เมนูกาแฟที่นี่ ชื่อเก๋ไก๋มาก อาทิ  “อยู่ดีกินหวาน” เป็นคำทักทายของไทยใหญ่ว่า “สบายดีไหม”  “ฮักโหมโจมต้อน” แปลว่า ยินดีต้อนรับ เป็นกาแฟผสมโค้ก  “แม่นางคำหล้า” เมนูนี้มาจากบ้านป้าหล้า ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันขายไอศกรีม ก็เอามาผสมด้วย  รสชาติเป็นอย่างไรมิทราบได้ เพราะไม่ได้ชิม (วันนั้นดื่มกาแฟเต็มลิมิตแล้ว หากดื่มมากไป หัวใจอาจเต้นแรงเกิน !)

กลับมาที่สถานีแม่ฮ่องสอน มีแนวทางในการทำงานคือ รวบรวมสมาชิกชมรมนิสิตเก่าทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในแม่ฮ่องสอนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ให้ความรู้แนะแนวเด็ก ม.5-ม.6 ที่กำลังจะตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโลกทัศน์ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแค่อาชีพ หมอ พยาบาล ครู เท่านั้น ยังมีสาขาวิชาอื่นๆ และโลกกว้างมาก จะทำงานหาทุนไปอยู่ต่างประเทศก็ได้ เหตุผลคือเด็กต่างจังหวัดมักมองอะไรใกล้ตัว

“เราใช้ที่นี่เป็นเซ็นเตอร์ มีเฟซบุ๊กกลุ่ม และเฟซบุ๊กสถานีเพื่อลงกิจกรรมต่างๆ จัดกิจกรรมเด็กปีละครั้ง มีกิจกรรมย่อยๆ ซึ่งไม่ได้ไปในนามกลุ่ม”

นิรันดร์ เป็นคนแม่ฮ่องสอน หลังเรียนจบชั้นประถม ก็ไปต่อระดับมัธยมศึกษาใน จ.เชียงใหม่ และเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเรียนต่อปริญญาโท ถึงจุดหนึ่งรู้สึกเบื่อกรุงเทพฯ จึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในปี 2547

ภาพร้านกาแฟและจำหน่ายของที่ระลึก "สถานีแม่ฮ่องสอน"

ภาพร้านกาแฟและจำหน่ายของที่ระลึก “สถานีแม่ฮ่องสอน”

คิดอย่างไรถึงย้ายออกจากเมืองหลวง?

  “ผมอยากเกษียณออกจาก กทม. ชีวิตตอนนั้นคือ ตื่นเช้า และเดินทางสองชั่วโมงไปทำงาน ทำงานเสร็จต้องรอให้คนกลับบ้านกันเยอะๆ ก่อน แล้วเราค่อยกลับ เดินทางกลับบ้านอีกสองชั่วโมง ถึงบ้านไม่ได้ทำอะไรแล้ว เข้านอนเพื่อตื่นเช้ามาทำงานอีก ชีวิตวน พอมาที่นี่ก็เริ่มทำอะไรที่เป็นของเราเองเต็มๆ สนุกครับ ได้ทำอะไรมากมาย”

เขาบอกว่าตอนแรกก็คุยกับพ่อแม่เยอะเหมือนกัน เพราะท่านก็สงสัยว่าทำไมจะกลับมาอยู่ต่างจังหวัด

“พอเราทำให้เห็นว่าเราอยู่ที่นี่สบายกว่า มีเงินเก็บมากกว่ากรุงเทพฯ เขาก็โอเค เราอยู่แม่ฮ่องสอนได้ ถ้าคิดว่าชีวิตไม่ต้องเข้าห้าง หรือดูหนังในโรงหนัง เราไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง มีเวลาทำอื่นๆ อยู่ที่นี่ยุ่งมากกว่ากรุงเทพฯ อีก เพราะมีเวลาทำกิจกรรมอื่น ปกติใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน ปีนี้เลยมีจักรยานให้เช่าที่นี่และหน้าร้านปาด็อง และทำแผนที่ท่องเที่ยวด้วยจักรยานให้ ททท. เราปั่นจักรยานใช้เองก็เป็นตัวอย่าง ทำเพื่อส่งเสริมให้คนแม่ฮ่องสอนใช้” และว่าจากบ้านปั่นจักรยานมาที่ร้านสถานีแม่ฮ่องสอน ระยะทางไม่เกิน 300 เมตร ในบริเวณเทศบาลไม่เกิน 5 กิโลเมตร เวลาต้องไปติดต่องานที่ศาลากลางจังหวัด ก็ปั่นจักรยานไป โดยแต่งตัวเรียบร้อยในชุดพร้อมเข้าประชุม ซึ่งก็ได้ผล มีหลายคนบอกอยากซื้อจักรยานมาใช้บ้าง และให้ช่วยจัดหาให้

หนุ่มผู้ก่อการดีเล่าว่า เขาเริ่มปั่นจักรยานเป็นจริงเป็นจังประมาณปี 2549 และรอบรู้เส้นทาง ขนาดที่ว่าทำแผนที่ให้เพื่อนนักปั่นได้แล้ว

นิรันดร์หยิบแผนที่ทำให้แก่ ททท.เป็นคู่มือการปั่นจักรยานเที่ยวในเมืองให้ดูและอธิบายว่า

เวลานักท่องเที่ยวมาเช่าจักรยานจากทางร้าน เราก็ให้แผนที่ไป หากปั่นครึ่งวันเที่ยวได้ 6 จุด ในแผนที่มีจุดแยกย่อยว่าสามารถแวะพัก แวะกินที่ไหน เมื่อผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน บอกว่า อยากได้จุดสำหรับไหว้พระ 9 วัด ก็ลงไว้ให้ในแผนที่ด้วย ทั้งยังมีจุดผจญภัย ซึ่งต้องปั่นออกนอกเขตเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อไปสะพานไม้ยาวสุดในภาคเหนือ

ภาพป้ายบอกทางระหว่างทางไปแม่ฮ่องสอน และอ.ปาย

ภาพป้ายบอกทางระหว่างทางไปแม่ฮ่องสอน และอ.ปาย

ปัจจุบันทางร้านมีจักรยานให้เช่า 9 คัน คิดค่าเช่าจักรยานวันละ 80 บาท เป็นจักรยานหกเกียร์มือสองญี่ปุ่น ซึ่งซื้อจากแม่สอด

กับความคาดหวังในอนาคต นิรันดร์ตั้งใจว่า จะทำกิจกรรมให้บ่อยขึ้น และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการให้เช่าจักรยาน และทำโฮมสเตย์ที่ชั้นบนของร้าน ซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ (มีห้องเล็กๆ หนึ่งห้อง) คิดค่าใช้จ่ายคืนละ 180 บาทต่อคน มีผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว และสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ไม่รวมอาหารเช้า

ลืมบอกไปว่า บ้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านโบราณ ประตูหน้าต่าง และมีหิ้งพระโบราณแบบซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่ ตั้งอยู่บนชั้นสองบริเวณที่จัดเป็นโฮมสเตย์นั่นแหละ

   ส่วนเรื่องอาหารการกินก็ไม่ต้องกังวล เพราะทำเลที่ตั้งของร้านอยู่กลางเมือง เดินไปหน่อยก็พบตลาดเย็น-ตลาดเช้า หรือเดินสัก 5 นาที ก็เจอร้านอาหารพื้นเมืองเจ้าอร่อย-ร้านอาหารไตป้าศรีบัวอยู่หัวมุมถนน เดินต่อไปอีกนิดก็เป็นร้านขนมหวานของคนไต (หรือไทยใหญ่) ร้านป้ามณี ที่ยังใช้ส่วนผสมและวิธีทำตามตำรับเดิมที่ได้รับจากพ่อแม่ เพื่ออนุรักษ์วิธีการทำขนมแบบไตดั้งเดิมให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก โดยใช้เตาฟืนและเตาถ่าน

ชื่อขนมก็ชวนชิม (อีกแล้ว) มี อาละหว่า-จุ่ง ส่วยทะมิน เป็งม้ง ฯลฯ ร้านนี้เขาทำชนิดละหนึ่งถาดต่อวัน หากหมดแล้วแต่อยากชิม ก็ต้องรออีกวัน

อย่าถามเรื่องทิศทางตอนนี้ เพราะผู้เขียนเป็นพวกหลงทิศ เอาเป็นว่า หากมีโอกาสไปพักแถบนั้นค่อยถามชาวบ้าน หาไม่ยากหรอกค่ะ

“คุณมาพักกับเรา เช่าจักรยาน ซื้อของ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมให้แก่เด็ก เราเช่าบ้านจนพี่เจ้าของสถานที่เห็นความตั้งใจ ปัจจุบันมาร่วมเป็นสมาชิกด้วย”
สำหรับอาชีพส่วนตัวเขาและภรรยาทำร้านชื่อ “ปาด็อง” ซึ่งขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

   “รายได้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่แม่ฮ่องสอน แต่คิดว่าอยู่สบายๆ อยู่ได้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนห้าพันบาทสบายๆ ไม่ต้องเช่าบ้าน แต่จะหวังรวยเยอะๆ คงไม่ได้ ผมมาอยู่ที่นี่รายได้รวมแล้วมีเงินเก็บมากกว่าอยู่กรุงเทพฯ อีก เราค้าขายมีโอกาสก็ขยายธุรกิจได้”

“นอกจากร้านปาด็อง เรายังมีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติทำขายและส่งออก มีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเปิดมานานแล้ว เราให้ชาวบ้านทำ ใช้สีธรรมชาติ มีกลุ่มลูกค้า เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ลูกค้าเป็นคนทางภาคใต้ที่เป็นตลาดบนหน่อย เน้นการใช้สีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์มีผ้า กระเป๋าที่ทำจากผ้าฝ้าย ก่อนนี้ออกนิทรรศการ และทำตามออเดอร์ เราทำคู่กับร้านปาด็อง”

ภาพทิวทัศน์ จ.แม่ฮ่องสอน เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

ภาพทิวทัศน์ จ.แม่ฮ่องสอน เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

“ผ้าฝ้ายทอมือเป็นภูมิปัญญากะเหรี่ยง เราทำให้เป็นมาตรฐาน ดีไซน์แบบ และจัดระบบให้ ชาวบ้านต้องเข้ารับการอบรมกับเราก่อน แต่เขาย้อมสีเก่งกว่าเรานะ ปัจจุบันมีเครือข่าย 7-8 หมู่บ้าน ในเขต อ.เมือง ยอดผลิตยังไม่ค่อยแน่นอน ช่วงหลังการตลาดลงพอสมควร”

ถามว่าเศรษฐกิจไม่ดี มีผลต่อยอดขายไหม เขาตอบว่า  แม่ฮ่องสอนอยู่ได้ ปาด็องอยู่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันไม่มากนัก

        “ตอนย้ายกลับมาบ้านอายุ 30 ปี ผมไม่รอจนอายุ 60 ปี เอาเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เรามาตอนนี้เหมือนไม่ค่อยมีอะไร แต่เรายังล้มและลุกใหม่ได้ ส่วนทัศนคติที่หลายคนชอบพูดว่า รอให้รวยก่อนค่อยทำบุญ สมาชิกกลุ่มผู้ก่อการดีรายนี้มีความเห็นว่า  “หากมีแรง มีไอเดียรีบทำเถอะ ถ้ารอรวยก่อน อาจไม่มีวันนั้น เพราะความรวยไม่สิ้นสุด ถ้ามีพอประมาณก็แบ่งให้คนอื่น” หลายคนคงคิดได้ แต่อาจทำ (ใจ) ยากหรือเปล่า?

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2556 หน้า5

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.