Select Page

ความรุนแรงต่อเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็กของสังคมไทย

ความรุนแรงต่อเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็กของสังคมไทย

สังคมไทย เป็นสังคมพุทธ ซึ่งไม่ยอมรับการทำร้ายกัน และไม่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ด้วยหลักศาสนา ศีลธรรม จรรยาบรรณ ที่ปลูกฝังกันมารุ่นสู่รุ่นให้เป็นคนดี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ความอาทรเหล่านี้ก่อตัวเป็นความรัก ความอบอุ่น  ซึ่งถือเป็นเกราะอย่างดี ที่คอยกำบังความรุนแรงทั้งปวงให้ครอบครัว สังคมไทยสมัยก่อน จึงมีปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อเด็กน้อยกว่าในปัจจุบัน 

 เรื่อง: วิรงรอง  พรมมี

ภาพ: พงษ์พันธ์  พงษ์พิลา

      สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส (สท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก’ และ ‘นโยบายและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา’ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในวันที่ 29 –31สิงหาคม 2554 เพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะของผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในมิติต่างๆ มีบุคลากรจากหลายองค์กรที่สำคัญเข้าร่วมงานถึง 31 จังหวัดจากทั่วประเทศ ได้แก่ ชลบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บึงกาฬ อุบลราชธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ พังงา สงขลา นครสวรรค์ พะเยา ตาก เชียงใหม่ และเชียงราย  ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วันนี้ดิฉันได้สัมภาษณ์บุคลากรผู้ที่ทำงานในการแก้ปัญหาด้านความรุนแรงท่านหนึ่ง ท่านมาจาก จ.เชียงราย เรามาฟังท่านพูดถึงประเด็นต่างๆ ในทรรศนะของท่านกันนะคะ

 คุณฉวีวรรณ  แจ่มหมวก ผู้อำนวยการองค์กรสานสายใยชุมชนเข้มแข็ง จ.เชียงราย กล่าวว่า “มุมมองของความรุนแรงต่อเด็ก ในตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า สังคมมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะโดยวิธีฆ่า หรือทำร้ายด้านร่างกายและจิตใจ คราวนี้พอย้อนกลับไปดู ก็จะพบว่า สถิติเด็กที่ได้รับความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เห็นว่า ความรุนแรงต่อเด็กทุกวันนี้มันมากขึ้นๆ จนเราต้องมากันถามว่าเกิดอะไรขึ้น และเราจะจัดการอย่างไร”

“งานวิจัยชิ้นนี้เห็นว่าเป็นการเก็บข้อมูลเด็กประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวนหนึ่ง เป็นการเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด และก็เป็นประโยชน์ต่อการหาข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน  ด้วยต้องใช้งบประมาณสูง กว่าจะได้ตรงนี้มา เพื่อว่าจะได้ต่อยอดในการทำงาน ให้บังเกิดผลต่อไป และเห็นด้วยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการแบบนี้ เป็นประโยชน์มากๆ”

      “ดิฉันทำงานเกี่ยวกับเรื่องของความรุนแรงเหมือนกัน การป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อเด็ก ต้องทำตั้งแต่เด็กเกิดมา สิ่งแรกที่จะเจอคือคนในบ้านคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง พอไปโรงเรียนก็เจอครู ครูต้องดูแลเด็ก เพราะเด็กจะใช้เวลาอยู่กับครู เพราะฉะนั้น ความรุนแรงจากที่ทำงานมา ปรากฎว่าเด็กที่ได้รับความรุนแรง เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะทำความรุนแรงต่อลูกหลานต่อไป ฉะนั้นเวลาเราจะแก้ไข เราต้องมาแก้ไขที่ต้นตอสาเหตุ การแก้ไขปัญหามันจึงจะถูก เพราะว่าไม่ตามหลังปัญหา ต้องไปอยู่ตรงนั้น ต้องแก้ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ พ่อแม่ ผู้ปกครองได้รับความรุนแรงมาแล้ว ต้องหาทางแก้ไขคือ เยียวยา ให้ความรู้ ให้ความตระหนัก ที่สำคัญก็คือในเวลานี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดูเด็กตามช่วงวัย อันนี้ขาดมากๆ และจริงๆแล้ว คนที่เป็นพ่อแม่ ต้องเลี้ยงดูเด็กจริง หรือพูดง่ายๆว่าเป็นพ่อแม่มืออาชีพ แต่ปัจจุบันไม่ใช่มืออาชีพ ซึ่งเขาไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ตรงนี้สำคัญมาก”

      “ปัญหาความรุนแรงอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากความไม่พร้อมที่จะมีบุตร แต่พอมีแล้วก็ต้องเลี้ยงกันไปตามยถากรรม  เรื่องนี้ก็นำไปสู่ความรุนแรงต่อเด็กด้วย จากวัฒนธรรมของเรา พอพูดถึงรื่องเพศ เราก็จะนึกถึง แต่เรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งมันไม่ใช่ คำว่าเพศคือชาย หญิง ซึ่งมีความแตกต่างกันทางความคิด ฉะนั้นเราสอนเรื่องเพศต้องสอนอย่างถูกต้อง ในเรื่องความสัมพันธ์ พัฒนาการทางร่างกาย และก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติ ว่าเพศไม่ใช่หมายถึงการร่วมเพศอย่างเดียว ตอนนี้เราต้องสอน พอสอนแล้ว เขาจะเข้าใจ รู้เรื่องความสัมพันธ์ การวางตัวที่ถูกต้อง  การเตรียมความพร้อมที่จะมีครอบครัวในอนาคต  เราจะเห็นเลยว่า พ่อแม่ก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เมื่อโตเขาก็จะกลายเป็นครอบครัวใหม่ที่มีคุณภาพ ฉะนั้นตรงนี้สำคัญมากในเรื่องการเตรียมความพร้อมของคน เหมือนจะออกสนามรบก็ต้องฝึกเตรียมความพร้อมก่อน”

       “แนวโน้มความรุนแรงในปัจจุบัน จากที่เคยรับราชการมาประมาณ 30 ปีที่แล้ว พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก็ยังมีการวิจัยอื่นๆ ออกมามากมายในเชิงวิชาการ แต่ในเชิงนำไปปฏิบัติใช้จนเกิดผล มันเกิดเพราะว่าเราต้องทำงานหลายๆด้าน มันมีปัจจัยหลายอย่างเช่น ต้องทำในส่วนคนที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆกัน”

      “นอกจากนี้ความรุนแรงต่อเด็ก ยังรับจากสื่อได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เด็กเล่นเกม เกมส่วนมากก็จะเป็นที่เกมรุนแรง เมื่อก่อนเราเคยเห็นในต่างประเทศ เด็กยิงเพื่อนในโรงเรียน ผลปรากฎว่า เด็กดูมาจากเกม ตอนนั้นเราก็มีความวิตกกังวลว่าจะเกิดในประเทศไทย จากนั้นเพียงปี สองปี ก็เกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริงๆ ส่วนประเด็นที่ว่าปัญหาที่เกิดกับเด็กมาจากคนใกล้ตัว ก็ควรจะแก้ไขโดย เข้าไปหาเขา เข้าไปให้ความรู้ และสร้างความตระหนักให้เขารู้ว่า นี่คือเรื่องสำคัญนะ ใกล้ตัวด้วย พอเข้าใจแล้วก็อบรม และฝึกทักษะให้เขา ให้เป็นพ่อแม่มืออาชีพ ให้เป็นครูมืออาชีพ นอกจากวิธีการสอนแล้ว วิธีการสอดที่สอดคล้อง ตามช่วงวัยของเด็กจะทำให้เด็กไทยดีมากขึ้น มาตรฐานที่เราเคยประเมินเด็กด้านการศึกษา ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกัน”

       “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งเป็นวัยที่เขากำลังซนจะได้รับความรุนแรงมากที่สุด(ผลวิจัยบอกว่า ช่วงอายุ 6-11 ปีพบความรุนแรงมากที่สุด) อยากให้หน่วยงานที่มีบทบาท หรือเกี่ยวข้อง อย่างทางด้านพ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครูอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสองกระทรวงนี้ต่างคน ต่างทำงานไม่ได้ ต้องหันหน้ามาคุยกัน โดยมีภาคประชาสังคม ช่วยผลักดันและช่วยขับเคลื่อน หากทำงานเชื่อมกันน่าจะได้ผลที่ดีกว่า”

      “คนที่สร้งความรุนแรงต่อเด็กมากที่สุดในความคิดของดิฉันคือ โรงเรียน เพราะมองจากเวลาที่เด็กอยู่ อย่างบ้าน เขาก็จะอยู่แค่เช้ากับเย็น แต่ตลอดทั้งวันเขาอยู่โรงเรียน  แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนก็เป็นที่บ้าน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก หากเป็นทางกายย่อมรักษาได้ แต่หากเป็นทางใจ มันย่อมฝังลึกลงไปที่จิตใต้สำนึก ซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอด ต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยเยียวยา”

       “สุดท้ายขอฝากเรื่องความรุนแรงต่อเด็กว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายๆฝ่าย และก็มีการเผยแพร่งานวิจัย เพื่อต่อยอดงานวิจัย เราคิดว่าการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ ถ้ากำหนดแล้วปฏิบัติมันก็เกิด แต่ถ้าเรากำหนดแล้วไม่ปฏิบัติมันก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดันไปถึงว่า กำหนดแล้วนำสู่การปฏิบัติจริง ได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก”

      ในวันนี้สังคมไทยกำลังเสื่อมโทรม ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากคนไทยด้วยกัน สองมือของคนไทยทุกคน  ต้องช่วยกันโอบอุ้ม ประคับประครองให้สังคมไทย ดำเนินต่อไปบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรู้เท่าทัน สังคมไทยจึงจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ตราบนานเท่านาน

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.