ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ ‘ซ้ำรอยอีก’ 3 อุบัติเหตุเด็กต้องระวัง!!
จากกรณีของ “น้องพอตเตอร์” ที่ “ซ้ำรอย” น้องเอยที่ถูกลืมอยู่ในรถโรงเรียนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ข่าวร้ายรับเปิดเทอมที่อยากขอให้เป็นอุทาหรณ์เคสสุดท้ายที่จะไม่มีเหตุการณ์สุดสะเทือนใจเกิดขึ้นอีก ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย ถ้าต่อจากนี้ไปพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งครูอาจารย์ จะหันมาตระหนักและระมัดระวังอย่างยิ่งยวด
รศ.ดร.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ได้มีเฉพาะเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น ยังมีอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นทุกครั้งที่เด็กอยู่นอกสายตาผู้ใหญ่ เพราะจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของเด็กที่ได้รวบรวมไว้ในแผนการดำเนินงาน เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยสำหรับเด็กไทย พบว่า
เริ่มจาก “จมน้ำ” เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ คิดเป็นร้อยละ 47 หรือเสียชีวิต 1,500 รายต่อปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของผู้ปกครองรวมไปถึงการจมน้ำภายในบ้าน ที่พ่อแม่ชอบให้เด็กเล็กเล่นน้ำในกะละมังเพียงลำพัง ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิต
“เมื่ออนุญาตให้เด็กไปเล่นน้ำกับเพื่อนๆ ต้องอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เสมอ ไม่ปล่อยให้เล่นน้ำโดยลำพัง สำคัญที่สุด ควรฝึกหัดเด็กว่ายน้ำให้เป็น จะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้าย การอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ย่อมดีที่สุด”
อันดับ 2 “อุบัติเหตุ” คิดเป็นร้อยละ 23 หรือเสียชีวิต 750 รายต่อปี อาทิ ตกรถ โดนรถชน หรือไม่สวมหมวกนริภัยของเด็ก ปัญหาอุบัติเหตุมาจากความละเลยของผู้ปกครองที่ประมาทต่อการขับขี่ รวมถึงครูที่ปล่อยให้เด็กซ้อนรถกลับบ้านไป โดยที่ไม่สวมหมวกกันน็อก
“นอกจากการสวมหมวกนิรภัยให้เด็กทุกครั้งที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์แล้ว ขนาดของหมวกต้องมีความพอดีกับศีรษะและอย่าลืมล็อกสายรัดคางให้กระชับพอดีใบหน้าเด็กด้วย ส่วนในรถยนต์ การใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยวัยไม่เกิน 9 ขวบ เพราะสามารถลดอัตราเสี่ยงตายได้”
นพ.อดิศักดิ์ อธิบายต่อว่า ในโรงเรียนยังมีจุดล่อแหลมอีกมากที่อาจทำให้เด็กได้รับอันตราย โดยเฉพาะ “สนามเด็กเล่น” ที่มีเครื่องเล่นน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม ทางโรงเรียนควรติดตั้งเครื่องเล่นให้ปลอดภัยต่อการเล่นของเด็ก เครื่องเล่นบางชนิดต้องยึดฐานรากให้มั่นคง แต่โรงเรียนในบ้านเราร้อยละ 80-90 ไม่ได้ยึดติดรากฐานของเครื่องเล่น ทำให้เกิดเหตุการณ์เครื่องเล่นล้มทับเด็กอยู่บ่อยครั้งในทุกๆปี อันดับหนึ่งเกิดจากกระดานลื่น รองลงมาคือ ชิงช้า และเครื่องปีนป่าย
“การป้องกันอุบัติเหตุ ต้องเริ่มจากผู้ที่รับผิดชอบในการติดตั้ง ที่ต้องมีการฝังรากติดตรึงอย่างมั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญคืออันตรายจากสนามเด็กเล่นนั้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเด็กพลัดตกหกล้ม ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะหัวกระแทกพื้น สภาพของเครื่องเล่นแต่ละชิ้นจะต้องไม่โยกเยกคลอน หรือสนิมเขรอะ แม้แต่น็อตแต่ละตัวก็จะต้องไม่หมดสภาพจุดเชื่อมต่อต่างๆ ก็ต้องไม่หมิ่นเหม่เหมือนจะหลุดจะร้าวได้” นพ.อดศักดิ์ ทิ้งท้าย
อย่าละเลยเพียงเพราะความเคยชินหรือประมาท เพราะเราคงไม่อยากเสียใจเหมือนสองเหตุการณ์ที่พรากชีวิตเด็กน้อยไปจากพ่อแม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2556 หน้า 25