Select Page

ผู้สูงอายุเสาหลักของสังคมและวัฒนธรรมไทย

ผู้สูงอายุเสาหลักของสังคมและวัฒนธรรมไทย

สงกรานต์เป็นประเพณีของคนไทยหลายเชื้อชาติ ที่เชื่อมร้อยคนต่างเพศต่างวัยให้มาร่วมชุมนุมทำกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามด้วยกัน นอกจากจะเป็นวันเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แล้ว วันสงกรานต์ยังมีความหมายยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะได้เห็นลูกหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันมากที่สุดก็ในวันนี้ แต่โอกาสอย่างนี้เริ่มหายากมากขึ้นเพราะลูกหลานมักจะออกไปทำงานต่างถิ่นไกลบ้าน นานๆ จึงจะกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ความรู้สึกในวันคืนอันยาวนานและโดดเดี่ยวที่ผู้สูงอายุหลายท่าน

          วันสงกรานต์เทศกาลปีใหม่ไทยย่างใกล้เข้ามาแล้ว เด็กๆ และหนุ่มสาวคงจะนึกถึงการเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานกันตามท้องถนน ชาวพุทธทั้งหลายมักจะไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระที่วัดที่บ้านก็จะมีการรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ สงกรานต์จึงเป็นประเพณีของคนไทยหลายเชื้อชาติ ที่เชื่อมร้อยคนต่างเพศต่างวัยให้มาร่วมชุมนุมทำกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามด้วยกัน นอกจากจะเป็นวันเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แล้ว วันสงกรานต์ยังมีความหมายยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะได้เห็นลูกหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันมากที่สุดก็ในวันนี้

          แต่โอกาสอย่างนี้เริ่มหายากมากขึ้นเพราะลูกหลานมักจะออกไปทำงานต่างถิ่นไกลบ้าน นานๆ จึงจะกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ความรู้สึกในวันคืนอันยาวนานและโดดเดี่ยวที่ผู้สูงอายุหลายท่าน

          สะท้อนเรื่องราวให้ฟัง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากสังคม ขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มแรงงานสตรีที่ถูกเลิกจ้างแรงงานเมื่ออายุยังไม่

          มากนัก หลายคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้เช่น ผู้สูงอายุยังเป็นเสาหลักค้ำจุนสังคมและวัฒนธรรมไทยอยู่หรือ บทบาทผู้สูงอายุในสังคมไทยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวันควรจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้กำหนด

          พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดว่า บุคคลที่มีอายุ 60 ปี

          บริบูรณ์เป็นผู้สูงอายุ จากการคาดประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนผู้สูงอายุในปี 2552 มีประมาณ 7.4 ล้านคน หรือร้อยละ 11.93 และจะมีสัดส่วนสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15.3 ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งสูงกว่าอัตราเพิ่มของผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีอัตราเพิ่มในปีพ.ศ.2543 เท่ากับร้อยละ 8 ขณะที่ภูมิภาคยุโรปมีอัตราเพิ่มมากสุดเท่ากับร้อยละ 19 ในปี พ.ศ.2543 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 34 ในปีพ.ศ.2593

          ความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุของไทยยังมีค่อนข้างน้อย เท่าที่ศึกษารายงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สรุปผลการสำรวจในปี 2550 พบว่าผู้สูงอายุไทยมีรายได้ต่ำมากเพราะความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุมีไม่มากนัก จากการประเมิน

          คร่าวๆ มีผู้สูงอายุที่ยากจนอยู่ราว 1 ใน 3 ในแง่การสร้างรายได้ ผู้สูงอายุดูจะกลายเป็นภาระของสังคมเพราะเป็นผู้มีรายได้ต่ำมาก เลี้ยงตัวเองไม่ได้ แหล่งรายได้สำคัญจึงมาจากบุตรถึงร้อยละ 52 และมาจากทำงาน บำนาญและเงินออมเพียงร้อยละ 39 ซึ่งหมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังขาดความพร้อมในด้านการสร้างหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อยามชราภาพ เมื่อเข้าสู่วัยชราจึงต้องพึ่งบุตร

          หลานและความช่วยเหลือจากรัฐซึ่งได้มาจากการเก็บภาษีคนทำงานจึงเป็นภาระหนักมากสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องจ่ายภาษี และรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น

          แต่ในมุมมองทางสังคม ผู้เขียนเห็นว่าผู้สูงอายุมีคุณค่าสูงเกินกว่าที่จะประเมินค่าเป็นตัวเงิน เพียงแค่ยังอยู่ คอยช่วยปลอบใจลูกหลานยามทุกข์ยากและแสดงความชื่นชมให้กำลังใจยามประสบความสำเร็จก็เป็นคุณค่าทางจิตใจที่หาที่เปรียบมิได้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุที่ยังพอมีเรี่ยวแรงทำอะไรได้ ส่วนใหญ่ก็มักจะช่วยเหลือครอบ

          ครัวและสังคม เช่นการดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับทุกคนในครอบครัว ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เฝ้าบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ปลูกผักสวนครัวไว้กิน ปลูกสมุนไพรไว้ใช้ ทำสารพัดทำด้วยความรัก ประสาคนมีจิตวิญญาณของผู้ให้และมีเวลา

          อีกทั้งยังเป็นผู้สืบต่อศาสนาและวัฒนธรรม วันพระและวันสำคัญทางศาสนาก็ไปวัดหรือศาสนสถานเพื่อทำบุญทำทาน ไม่มีผู้สูงอายุเหล่านี้การสืบต่อศาสนาและวัฒนธรรมไทยก็อาจจะขาดตอนไปสิ่งเหล่านี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ผู้สูงอายุจึงเป็นผู้อุทิศตนให้กับครอบครัวและสังคมโดยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนมากกว่าผู้เป็นภาระของสังคม

          แล้วเราซึ่งเป็นลูกหลานทำอะไรให้กับผู้สูงอายุที่มีพระคุณแก่ครอบครัวและสังคมเราบ้าง เราดูแลผู้สูงอายุกันแค่ไหน หรือแค่รดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันผู้สูงอายุอยู่แค่นั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า จะดูแลผู้สูงอายุก็ต้องเข้าใจผู้สูงอายุให้รอบด้าน เพราะในความเป็นจริงผู้สูงอายุก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า นอกจากการถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวแล้วผู้สูงอายุมักเป็น 6 โรคหลัก คือ เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคข้อโดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อม และภาวะสมองเสื่อม โรคเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการกินอยู่และการดูแลสุขภาวะทางกายและจิตใจในชีวิตประจำวันซึ่งมักถูกละเลยมองข้าม เมื่อปัญหาสะสมมากขึ้นจนออกอาการโรคให้เกิดทุกข์เวทนา และเกิดภาระกับครอบครัวและสังคมในที่สุด

          ประเด็นผู้สูงอายุ จึงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปแทบทุกเรื่องทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ และจิตวิญญาณด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กัน แนวความคิดที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระไร้ประสิทธิภาพเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับคนหนุ่มสาว ก็มักจะนำไปสู่การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นหลัก ซึ่งจะต้องใช้เงินมาก โดยไม่ใช้ศักยภาพและความสามารถของผู้สูงอายุ แต่จะหาเงินจำนวนมากๆ จากไหนมาสงเคราะห์ผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนเป็นสัดส่วนสูงขึ้นทุกวัน และที่สำคัญคือผู้สูงอายุมีปัญหาช่วยเหลือตนเองไม่ได้จนต้องให้รัฐสงเคราะห์ไปเสียทุกอย่างจริงหรือ

          แต่ถ้ามีแนวความคิดว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีคุณค่าซึ่งคนกลุ่มอื่นไม่มีและต้องการ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงานและร่วมกิจกรรมทางสังคมได้ตามปกติตามความสามารถและศักยภาพที่เขามี ในแง่นี้ผู้สูงอายุก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ  โดยรัฐให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น

          ถ้าเราจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุได้ถูกต้อง ก็เชื่อว่าจะสามารถรับมือสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นมุมมองค่อนข้างลบให้กลายเป็นสังคมวัยวุฒิที่ผู้สูงอายุมีคุณค่าต่อสังคม เป็นมุมมองที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้

          คำถามสำคัญต่อไปคือจะช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมวัยวุฒิได้ได้ทันกับสถานการณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้อย่างไร

          ผู้เขียนเสนอว่าจะต้องใช้ความพยายามใน 3 ระดับไปพร้อมๆ กันคือ

          ระดับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวควรจะต้องประพฤติปฏิบัติกับผู้สูงอายุให้ถูกต้องและเหมาะสม สมาชิกในครอบครัวต้องมีความสำนึก ความกตัญญู และความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องอาหารอารมณ์ และเรื่องการดูแลสุขภาวะ ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นหลักแก่สถาบันครอบครัวได้อย่างมั่นคง

          ระดับชุมชน ชุมชนมีความสำคัญต่อการสร้างสังคมวัยวุฒิ ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพิงเพราะครอบครัวขาดศักยภาพและความสามารถในการดูแล ชุมชนจึงต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รวมตัวเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและช่วยเหลือสังคมอย่างพ้นข้อจำกัดเรื่องวัย องค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องช่วยกันสร้างและพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือยามที่ผู้สูงอายุตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง

          ระดับชาติต้องช่วยกันพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองดูแลสิทธิของผู้สูงอายุไม่ให้ถูกละเมิด ช่วยสร้างเสริมโอกาสการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองตลอดจนโอกาสทำงานประกอบอาชีพตามความสามารถ ความถนัดสามารถสร้างผลผลิตให้กับสังคมไปตลอดชีวิต และดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีของมนุษย์

          การปรับแนวคิดมุมมองผู้สูงอายุให้เป็นบวกเชิงสร้างสรรค์ และมีความพยายามจัดการความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับสังคมทั้งระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับชาติ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรู้เท่าทัน เป็นสังคมผู้สูงอายุที่สูงด้วยวัยวุฒิที่คนทุกเพศทุกวัยมีความเท่าเทียมกัน

          ขอให้สนุกสนานเล่นน้ำคลายร้อนในช่วงสงกรานต์ และอย่าลืมดูแลสร้างความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุให้ดีทั้งก่อนและหลังสงกรานต์นะครับ

         

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.