Select Page

“หุ่นยนต์”ฝีมือคนไทย ศักยภาพเทียบชั้นทั่วโลก!

“หุ่นยนต์”ฝีมือคนไทย ศักยภาพเทียบชั้นทั่วโลก!

เมื่อโลกพัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ “เทคโนโลยี” ที่คิดว่าสุดยอดแล้วในห้วงเวลาหนึ่ง จะเริ่มล้าหลังและถูกแทนที่ด้วยสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่นเดียวกับโลกของ “หุ่นยนต์” ในสังคมมนุษย์ที่ถูกพัฒนาให้ “ฉลาด” มากขึ้นทุกวัน แม้แต่ชาติกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็ยังมีนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ที่สามารถเทียบชั้นนักประดิษฐ์ของประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและอเมริกาได้ ขอเพียงแต่ผู้ใหญ่ช่วยหยิบยื่นโอกาสและเวทีแสดงความสามารถของพวกเขาเหล่านั้นอย่างเพียงพอ

  

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยล้ำหน้าไฮเทคไปไกลขนาดไหน สู้นานาชาติได้หรือไม่ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พร้อมอธิบายให้ความกระจ่างจากบรรทัดต่อไปนี้           รศ.ดร.วีระศักดิ์ เริ่มต้นบทสนทนาว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ถ้าว่ากันจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากต่างชาติมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าในเชิงพาณิชย์ เราเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้         ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นตอนนี้มีหุ่นยนต์คนไข้ให้หมอฟันทดลอง หรือหุ่นยนต์แมวน้ำ สามารถตอบสนองคนสูงอายุ มาเป็นเพื่อนเล่น เพราะคนแก่บางคนไม่อาจเลี้ยงสิ่งมีชีวิตจริงๆ ได้ ขณะนี้ในบ้านเราเอง โดยเฉพาะเอ็มเทค ได้สนับสนุนด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์อย่างเต็มที่ เรามีองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญที่ทำมานาน บวกกับห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ ซึ่งเราชำนาญด้านการทำแบบจำลองโดยคอมพิวเตอร์ก่อนนำมาใช้จริง เรามีความรู้ด้านระบบ และพร้อมจะนำความรู้มาสร้างให้มันเคลื่อนไหว และพร้อมสนับสนุนธุรกิจที่สนใจด้านนี้อย่างเต็มที่  

          “หลายคนอาจคิดว่า เมืองไทยยังล้าหลังมากสำหรับการเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ แต่ในความเป็นจริง หุ่นยนต์เป็นศาสตร์อนาคต ความห่างหรือช่องว่างในการพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศไทยกับประเทศ อื่นๆ จึงมีไม่มากนัก 

           ”  แม้เราไม่เก่ง แต่ก็ไม่ได้ห่างจากประเทศที่เก่งมากนัก แม้เราจะทำมาแล้วไม่กี่ปี เทียบกับประเทศที่พัฒนามาเป็นสิบๆ ปี ท้ายที่สุดด้วยเทคโนโลยีที่มันพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักเรียนไทยที่ได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศ ล้วนแต่ได้รับศาสตร์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้นอยู่แล้ว พอเขากลับมาทำงานในเมืองไทย ศาสตร์ความรู้ที่ได้มาก็เทียบเท่ากัน” รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว 

          ผอ.เอ็มเทค ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพความเชี่ยวชาญประดิษฐ์หรือออกแบบหุ่นยนต์ คือ การศึกษา เพราะหุ่นยนต์ไม่ได้สร้างปุ๊บแล้วใช้ได้ปั๊บ และไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญแค่ประดิษฐ์หุ่นยนต์ได้ แต่ต้องอาศัยหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกัน 

           ในต่างประเทศ บางมหาวิทยาลัยมีคณะหรือภาควิชา มีศาสตร์ “เมก้าทรอนิกส์” หรือบางแห่งมี “โรโบติกเอ็นจิเนียริ่ง” หรือ “วิศวกรรมหุ่นยนต์” ในเมืองไทยบางมหาวิทยาเริ่มมีหลักสูตรนี้ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองถึงแม้จะไม่ถึงโรโบติกเอ็นจิเนียริ่ง แต่มีรายวิชาที่คล้ายกัน การสนับสนุนการศึกษาถือเป็นการลงทุนระยะยาว 

“การศึกษาบ้านเรายังไม่ได้ส่งเสริมเด็กที่มีศักยภาพมากเป็นพิเศษให้ได้ใช้ศักยภาพนั้นอย่างเต็มที่ แต่จะดึงลงมาให้เท่ากัน จึงไม่มีใครเก่งโดดเด่น ไม่มีอัจฉริยะเหมือนในเมืองนอก ซึ่งที่นั่นจะมีห้องเรียนพิเศษ จะมีอาจารย์มาดูแลเด็กอัจฉริยะเหล่านี้ อย่างบ้านเราเด็กซนก็ว่าแอ๊กทีฟเกินไป ต้องนำมาอยู่เป็นกลุ่มก้อน  

          “การสร้างเวทีให้เด็กบ้านเราได้แสดงฝีมือและความสามารถจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยดึงศักยภาพพวกเขาออกมาให้เห็น เช่น “เวทีการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์” หรือ Robot Design Contest ของเอ็มเทค ปีนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 3 ที่เราสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมชิงชัยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ช่วงเดือนสิงหาคม 

           “ผมคิดว่ายิ่งสนับสนุนเยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อยได้มากเท่าไหร่ สิ่งประดิษฐ์ก็จะล้ำหน้ามากขึ้นเท่านั้น ในอนาคตเราก็เตรียมสร้างเวทีการแข่งขันให้แก่เด็กในระดับมัธยมปลาย ให้มีโอกาสได้ร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน”  

          “เด็กไทยทั้งเก่งและเฮง เพราะนอกจากจะร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์จนชนะเลิศ เขายังทำงานกับเพื่อนร่วมงานชาวต่างประเทศได้ดี แต่จุดอ่อนของเด็กไทยยังคงเป็นเรื่องภาษา และการนำความคิดที่ได้มาประดิษฐ์ให้เป็นรูปธรรมยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะความเข้าใจทฤษฎีพื้นฐานทางฟิสิกส์ เราได้ให้เด็กๆ ไปฝึกอบรมกับอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ของจุฬาฯ กับเอ็มเทคก็พอช่วยทำให้เด็กๆ นำสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาเป็นรูปแบบได้ 

          “เด็กที่ชนะเลิศระดับโลกเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้เขาเรียนอยู่ปี 4 และได้มีโอกาสเข้าแข่งขันในเวทีสิ่งประดิษฐ์ที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเวทีประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัย ระดับโลก หรือหุ่นยนต์แข่งขันฟุตบอล ซึ่งความสามารถเหล่านี้ของเด็กๆ ล้วนต่อยอดจากการแข่งขันในระดับพื้นฐานของเราแทบทั้งสิ้น” ผู้นำเอ็มเทค ระบุ 

          นอกจากการสนับสนุนเยาวชนไทยแล้ว เอ็มเทคยังร่วมสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจศาสตร์ด้านหุ่นยนต์มาร่วมงานด้วย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้มาจ้างทำงานวิจัยเทคนิคพ่นเคลือบสเปรย์โดยใช้ความร้อนสูง หรือการพัฒนาหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในการทำอุตสาห กรรมกระเบื้อง โดยให้หุ่นยนต์มาช่วยจับ กระเบื้องร้อนๆ แทนคน 

                                                                                    “ผมว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องอนาคต นอกจากเก่งแล้วเรายังต้องทำนายเก่งด้วยว่าเทคโนโลยีไหนกำลังจะมา คาดเดาถึงความน่าจะเป็น สำหรับยุคนี้ต้องยกให้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิ่งประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์ก็ต้องมาร่วมกันช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกับเราด้วย” รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว 

          สำหรับหัวข้อการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ของเอ็มเทคในปีนี้ คือ “Save the Beach” หรือ “หุ่นยนต์รักษ์โลกสดใสชายหาด” 

           กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีม ต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถทำหน้าที่เก็บขยะในสนามแข่งขันที่ถูกจำลองเป็นชายหาด 

          การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นวันที่ 15 พฤษภาคม ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ชั้น 1 

           แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าแพ้หรือชนะ การแข่งขั้นครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าสำหรับนิสิตนักศึกษา ผู้จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป 

  

 ที่มา : ข่าวสดรายวัน วันที่ 6 เมษายน 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.