Select Page

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เลิกใช้แล้ว…ไปไหน?

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เลิกใช้แล้ว…ไปไหน?

ข้อมูลจาก กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ โดยในแต่ละปีจะมีมากถึง 20-50 ล้านตันว่ากันว่า…ของใช้ไฟฟ้า เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น หลายชิ้น หลายสิ่ง หลายยี่ห้อ เมื่อใช้ไปจนถึงกาลเวลาที่ต้องเสียนั้น การเอาไปให้ร้านซ่อม ค่าซ่อมที่จะควักกระเป๋าจ่ายไม่คุ้มค่า ซื้อชิ้นใหม่คุ้มค่ากว่า ราคาถูกกว่า และยังได้ของใหม่มาใช้ด้วย ของเก่าที่ไม่อยากจะเอาไปซ่อมจึงต้องทิ้งไปโดยปริยาย

                ปรากฏการณ์เช่นนี้ ยิ่งสร้างให้สถานการณ์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์รุนแรงยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 5 ของขยะแข็งในเขตเทศบาลทั่วโลก เทียบเท่ากับปริมาณขยะวัสดุห่อหุ้มที่เป็นพลาสติกทั้งหมด แต่มีอันตรายมากกว่ามาก และไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นที่เป็นต้นตอของขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ในเอเชียเองก็มีการทิ้งขยะแบบนี้ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี

                ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะแข็งในเขตเทศบาลที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ในปัจจุบัน เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ อุปกรณ์เครื่องเสียง และพรินเตอร์บ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตต่างทยอยเปิดตัวรุ่นใหม่กันเป็นว่าเล่น

               อย่างไรก็ตาม พบว่าโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด เพราะมีการเปลี่ยนใหม่บ่อยที่สุด สำหรับในยุโรปขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าขยะอย่างอื่นถึง 3 เท่า และคาดการณ์กันว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีกถึง 3 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน

                 ส่วนประเทศไทย นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) บอกว่า แต่ละปีมีประมาณ 3.6 แสนตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะประเภทโทรทัศน์ 2 ล้านเครื่องต่อปี ที่เหลือเป็นขยะอย่างอื่น อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ วิทยุ ฯลฯ

                     และดูเหมือนว่าสถานการณ์การจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ดูน่าจะเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังจะเปลี่ยนระบบการดูโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล จะทำให้โทรทัศน์ที่คนไทยมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเครื่อง ต้องถูกโละทิ้งในที่สุด

                     แม้ว่าการโละทิ้งจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ถึงกับเอาไปทิ้งทีเดียว 20 ล้านเครื่อง เพราะยังมีระยะเวลา และทางเลือกให้กับคนที่ยังไม่อยากทิ้งโทรทัศน์ระบบอนาล็อกแบบเก่า โดยการใช้กล่องแปลงสัญญาณ ก็สามารถยืดระยะเวลาการใช้งานโทรทัศน์ออกไปได้ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โทรทัศน์แบบอนาล็อกจะหมดไปในที่สุด หมดไปจากการใช้งาน แต่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์แทน

                      ที่น่าหนักใจก็คือ ภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนรองรับเรื่องนี้เลย ไม่มีกฎหมายควบคุม และจัดการเรื่องนี้เลย ทุกคนยังใจเย็นกันอยู่มาก ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แถมยังกระจายอยู่ตามบ้านผู้ใช้ โดยไม่มีใครรู้ว่าปล่อยสารพิษออกมามากน้อยแค่ไหนแล้ว

                       เวลานี้เราได้อาศัยแค่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2550 ได้ให้ความเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ

                       ยุทธศาสตร์นี้เปรียบเสมือนแผนแม่บทของนโยบายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฉบับแรกของประเทศไทย ที่ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ เพื่อความยั่งยืนโดยมีสาระสำคัญ คือการดำเนินการภายใต้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle : PPP) นั่นคือ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค ต้องมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบ ในผลกระทบที่เกิดขึ้น

                     สำหรับในส่วนภาคเอกชนหลายแห่งนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ มารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สินค้าประดับบ้าน หรือรับไปกำจัดแบบรับใส่กล่อง แล้วนำไปกำจัดตามวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ก็ทำได้ไม่ทั่วถึง และเพียงพอสำหรับจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน

                    ที่น่ากังวลอีกอย่างคือ บ้านเรามีโรงงานที่จะรีไซเคิลขยะน้อยมาก ไม่เพียงพอกับของที่รอการนำไปรีไซเคิล อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้ก็ว่าได้ ของหลายอย่างที่พร้อมจะรีไซเคิลยังหาโรงงานไม่ได้

                     ไปๆ มาๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากๆนั้น ตอนนี้ยังไม่ได้ไปอยู่ไหน หากแต่ยังกองอยู่ภายในบ้านแต่ละหลังเป็นส่วนใหญ่

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 หน้า 13

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.