Select Page

วิกฤตเพิ่งเริ่มต้น!

วิกฤตเพิ่งเริ่มต้น!

วท.จับสัญญาณเตือนภัยธรรมชาติเอาคืนทำ”แผนที่น้ำท่วม” รับมือลานีญา รุนแรงและหนักหนาสาหัสที่สุด สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม 2553 ที่ประวัตศาสตร์ด้านพิภัยพิบัติว่าด้วยการเกิดอุทกภัยต้องบันทึกไว้อีกครั้ง

        

        กระแสน้ำที่ถาโถมพัดกระหน่ำเข้าท่วมพื้นที่กว่า 30 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง โดยเฉพาะภาคอีกสาน ที่ จ.นครราชสีมา หลายอำเภอต้องกลายสภาพเป็นเมืองบาดาลไปในพริบตาชาวบ้านต้องเผชิญความทุกข์อย่างแสนสาหัส ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

          นับเป็นวิกฤติการณ์อุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีที่สำคัญไม่ใช่ปรากฏการณ์น้ำท่วมธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

          หากลองนึกย้อนไปไม่ต้องไกลแค่ช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีร่องรอยที่ชี้ให้เห็นถึง “ความผิดปกติ” นั่นคือ ถนนสายแม่สรวย-ดอยวาวี จ.เชียงราย ถูกน้ำป่าพัดขาด ถนนทรุดตัวยาวนับร้อยเมตร ถัดมาไม่กี่วันฝนถล่มหนัก น้ำท่วม ถนนขาด ทำให้นักท่องเที่ยว 30 กว่า คนติดค้างอยู่ในรีสอร์ตที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และตามมาติดๆด้วยเหตุการณ์น้ำป่าและโคลนถล่มรีสอร์ตบนเกาะช้าง จ.ตราด โดย 1 ชีวิตต้องสังเวยภัยธรรมชาติครั้งนี้ และวันเดียวกันนั้นเอง อ่างเก็บน้ำของสนามกอล์ฟวังจันทร์ จ.ระยอง พังทลายท่วมสำนักสงฆ์ธรรมรสและบ้านเรือนประชาชนยับเยิน มีแม่ชีเสียชีวิตไปอีก 1 คน

          ล้วนแล้วแต่เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ก่อนเกิดหายนภัยน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ นครราชสีมา ประตูสู่ที่ราบสูง และลุกลามต่อไปยังอีกหลายจังหวัดใกล้เคียง

          ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนสภาวะน้ำท่วมใหญ่ยังไม่ยอมยุติง่ายๆ แถมมีแนวโน้มจะท่วมยาวไปถึงปลายปี 2553 จากอิทธิพลของ “ลานีญา” ที่ทำให้ฝนตกหนักกระทั่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่

          แน่นอน หายนภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ทุกองคาพยพในประเทศไทยตระหนักถึงภัยจากการคุกคามโยภัยธรรมชาติ และเร่งหาแนวทางที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือโดยเฉพาะการทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัด

          ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดเพื่อประเมินสถานการณ์ ทำให้ทราบว่าน้ำท่วมยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค.ไปจนถึง พ.ย. โดยมี “วันวิกฤติ” 2 ช่วงเวลา คือ วันที่ 8 พ.ย. และ วันที่ 26-27 พ.ย. จากสภาวะระดับน้ำทะเลหนุน ขณะที่น้ำจากภาคเหนือไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปัจจัยจากพายุในทะเลอันดามันและพายุดีเปรสชันในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะอิทธิพลของ พายุ W16 ซึ่งอยู่บริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง

          “กระทรวงได้พตั้งวอร์มรูมรับมือน้ำท่วมใหญ่ในวันที่ 8 และ 26-27 พ.ย. โดยได้สั่งการให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ที่มีดาวเทียมธีออส ใช้ถ่ายภาพบอกลักษณะภูมิประเทศได้ภาพถ่ายดาวเทียมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งแปลสภาพเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยส่งภาพถ่ายดาวเทียมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งสามารถนำไปคำนวณปริมาณน้ำและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อไรน้ำจะไปที่ไหน และมอบให้ ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) วิเคราะห์ ข้อมูลน้ำ การเกิดพายุ ระดับน้ำทะเล มาที่วอร์รูมต่อเนื่อง รมว.วิทยาศาสตร์ ระบุ

          นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สทอภ.เตรียมทำแผนที่น้ำท่วมทั่วประเทศโดยใช้ดาวเทียมเพื่อความถูกต้องแม่นยำ เพราะภาพถ่ายไม่สามารถโกหกได้ และจะเป็นแผนที่น้ำท่วมฉบับแรกของประเทศไทย เพราะจากนี้ไปไทยจะต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงขึ้น

          ขณะที่ ดร.รอยล กล่าวว่า “โชคดีที่พายุไต้ฝุ่นเมกีเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ และพายุไซโคลนกีรีที่เคลื่อนขึ้นฝั่งพม่า ไม่ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรง ไม่เช่นนั้นสถานการณ์อาจวิกฤติกว่านี้แต่ที่น่ากลัวคือ จากข้อมูลทางอากาศพบว่าตอนนี้ยังมีพายุที่ก่อตัวอยู่ในทะเลอีกลูกหนึ่งคือ พายุ W16 บริเวณกลางมหาสมุทรแปฟิก ซึ่งมีโอกาสที่จะกระทบกับไทยโดยตรง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงช่วงปลาย ต.ค.-พ.ย. โดยเฉพาะวันที่ 8 พ.ย. น่ากลัวมาก”

          ส่วน ดร.อานนท์ ระบุว่า ประเทศไทยมีฝนมากกว่าปกติ เพราะอิทธิพลของลานีญาที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี เนื่องจากภูมิอากาศสลับขั้ว โดยรอบสุดท้ายเกิดระหว่างปี 2520-2550 ซึ่งเป็นวงรอบที่มีปรากฏการณ์เอลนิโยมาก ส่งผลให้ไทยมีปริมาณฝนน้อย แต่เมื่อวงรอบตามธรรมชาติเปลี่ยนวัฏจักร ทำให้ระหว่างปี 2551-2581 จะเกิดปรากฏการณ์ลาะนีญาแทน ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นของไทย

          “คงามผิดปกติเกิดขึ้นในระบบบรรยากาศและมหาสมุทรตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรบิรเวณตอนกลางและด้านตะวันออก ต่ำกว่าค่าปกติมากกว่า 2 องศาฯ และขยายมาด้านตะวันตกมากขึ้น ในขณะที่ด้นตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิก อุณหภูมิสูงกว่าปกติ 1-2 องศาฯ ความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรที่รุนแรงขึ้นเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญ่า และลานีญาคือตัวการหลักที่ทำให้ฝนตกหนักกระทั่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่” ดร.อานนท์ ระบุ

          ว่ากันว่า ปรากฏการณ์แปรปรวนทางธรรมชาติที่เริ่มจากอุทกภัยครั้งนี้ เป็นเพียงบททดสอบเริ่มต้นของประเทศไทยเท่านั้น!

          ทีมข่าววิทยาศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่ผู้คนต้องหันมาใส่ใจการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ สวิงกลับหัวกลับหางจาก “เอลนิโญ” สู่ “ลานีญา” ให้มากขึ้น

          ที่สำคัญที่สุดคือ การต้องตระหนักและใส่ใจทุกปัจจัย ซึ่งสามารถเป็นต้นเหตุแห่งความปรวนแปรของธรรมชาติแบบฉับพลันที่แสดงให้เห็นว่า ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงโดยที่มนุษย์ตั้งตัวไม่ทัน

          เพราะหายนภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเก่งกาจแค่ไหน ก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ซ้ำร้ายยังมีสิทธิ์ที่จะโดนธรรมชาติลงโทษอย่างรุนแรง

          ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ตรัสว่า “อย่ารังแกธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะโกรธและลงโทษเราเอง”.

 

 

         ที่มา–ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 ต.ค. 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.