Select Page

วรวุฒิ ชุมวรฐายี แพทย์ตัวอย่างภาคใต้’ความกลัวไม่ใช่อุปสรรคทำหน้าที่’

วรวุฒิ ชุมวรฐายี แพทย์ตัวอย่างภาคใต้’ความกลัวไม่ใช่อุปสรรคทำหน้าที่’

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศผลรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2553 ปรากฏชื่อของ นายแพทย์วรวุฒิ ชุมวรฐายีแพทย์ประจำโรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี
         จะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการ ในการประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 26 “จากวิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่งานเวชปฏิบัติ” (From Basic Science to Clinical Practice) วันที่4 สิงหาคมนี้ ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ (มอ.)
เรื่องราวของหมอหนุ่มผู้นี้เริ่มต้นขึ้นหลังเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เมื่อปี 2547 ซึ่งตามธรรมเนียมหลังการเรียนจบต้องเลือกโรงพยาบาลที่จะไปเป็นแพทย์ประจำ


          นายแพทย์วรวุฒิ ตัดสินใจเลือก “โรงพยาบาลกะพ้อ”ซึ่งอยู่ถึง จ.ปัตตานี เพราะขณะนั้นอำเภอกะพ้อ มีข่าวการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบจะไม่มีใครกล้าเลือกที่จะเดินทางไปปฏิบัติงาน การตัดสินใจครั้งนั้นได้รับการขอร้องจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อและแม่ ขอร้องให้ไปเป็นหมอที่อื่น แต่คำตอบกลับของหมอหนุ่มผู้นี้เป็นคำตอบที่ไม่มีใครทัดทานได้


        “โรงพยาบาลอื่นมีหมอหลายคนอยากไปแล้ว แต่โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงอันตรายมีน้อยคนนักที่อยากไป ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยงจะเป็นอย่างไร เมื่อเขาเจ็บป่วยจะทำอย่างไรถ้าพวกเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น”
          คุณหมอวรวุฒิ เป็นคนจังหวัดชุมพรโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วเข้าเรียนต่อแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จบการศึกษาเมื่อปี 2547 หลังเรียนจบเริ่มปฏิบัติงานเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรกที่โรงพยาบาลปัตตานี ใช้ทุนปีที่ 2 ที่โรงพยาบาล “กะพ้อ” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง มีประชากรประมาณ 16,000 คน อยู่ในพื้นที่ อำเภอกะพ้อจังหวัดปัตตานี
          คนส่วนใหญ่ที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรม นับถือศาสนาอิสลามคือ ร้อยละ98 ส่วนร้อยละ 2 เป็นไทยพุทธ ปกติจะมีผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเฉลี่ย 160 คนต่อวัน มีแพทย์ประจำ 2 คน ทันตแพทย์2 คน พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งหมด 86 คน ทุกคนเต็มที่กับการทำงาน ร่วมแรงร่วมใจพัฒนางานจนทำให้โรงพยาบาลกะพ้อ ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล (HA)ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยเน้นให้บริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
          “ผมถือเป็นคนแรกที่เลือกไปทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อ ซึ่งเหตุการณ์ในพื้นที่ขณะนั้นค่อนข้างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา ผมรู้จักอำเภอกะพ้อก็จากข่าวยิงถล่มโรงพัก ตามด้วยเหตุการณ์ยิงคนสวนของโรงพยาบาลจนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วันก่อนถึงวันกำหนดเลือกสถานที่ใช้ทุนของผม”เสียงบอกเล่าเนิบนาบเป็นเรื่องธรรมดา
          “ครั้งแรกที่เลือกมาทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อ ยอมรับว่ามีความกังวลพอสมควร ว่าจะทำงานใช้ทุนครบ 2 ปี ได้หรือไม่ ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และความแตกต่างด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของอำเภอกะพ้อนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังมีความอุ่นใจว่ามีพี่ผู้อำนวยการ คือ นายแพทย์เดชา แซ่หลี นับถือศาสนาพุทธท่านทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อนานหลายปี ที่สำคัญคือได้รับความไว้วางใจและยอมรับจากชาวกะพ้อเป็นอย่างดี ผมได้ยึดแบบอย่างที่ดีมาใช้ในการทำงาน เช่น ความเสียสละ การดูแลผู้ป่วยด้วยยึดหลักความเป็นมนุษย์ผมยึดหลักนี้ในการทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อตลอด 6 ปี”
          คำบอกเล่าของคุณหมอทำให้ทราบว่าวันแรกที่เข้าทำงานในโรงพยาบาล สิ่งที่ผมสัมผัสได้ คือ ความอบอุ่นและความจริงใจคุณหมอเล่าว่าถึงแม้มาอยู่ที่นี่ จะต่างกันด้านภาษา ศาสนา แต่ก็ช่วยเหลือและคอยเป็นกำลังใจให้กัน ให้ความเป็นกันเอง คอยช่วยเหลือทุกอย่าง โดยเฉพาะการตรวจผู้ป่วยในช่วงแรก
          “ส่วนใหญ่ชาวมุสลิมพูดภาษายาวี ทำให้การสื่อสารติดขัด แต่ก็ได้พี่ๆพยาบาลและเจ้าหน้าที่คอยเป็นล่ามแปลให้ ซึ่งความรู้ภาษายาวีของผมนั้นแค่งูๆ ปลาๆ ซักถามได้แค่อาการเบื้องต้น พอลงรายละเอียดในแต่ละโรคบรรดาเมาะ (ยาย-ย่า) และเปาะจิ (ตา-ปู่) ต่างสรรหาคำพูดมาให้เรานั่งสับสน ต้องให้พี่พยาบาลมาช่วย แต่ผมพยายามจำคำศัพท์ให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ไม่ต้องรบกวนคนอื่นแปล อีกทั้งยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างผมกับผู้ป่วยอีกด้วย”
ที่สำคัญคุณหมอบอกว่า ต้องขอบคุณบรรดาพี่ๆ ที่เป็นหมอหลายคนและคุณหมอศิริพรที่มอบมรดกล้ำค่า”ตำราภาษายาวีอย่างง่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์”ไว้ให้ก่อนไปเรียนต่อ ทำให้ได้หัดอ่าน หัดพูดคุณหมอวรวุฒิ เล่าถึงการทำงานในวันวาน ว่าระยะแรกๆ หลังเลิกงานแล้ว เงียบมาก ร้านอาหารก็ไม่มี น้องๆ พยาบาลที่หอพักคงเข้าใจ มาชวนไปกินข้าวมื้อเย็น ซึ่งทำให้มีโอกาสทำความรู้จักกับทุกคนไปด้วย และทำให้คลายความเหงาได้บ้าง
        “การอยู่กับเพื่อนร่วมงาน ทั้งขณะทำงาน รวมทั้งชีวิตหลังเลิกงานล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานอย่างมีความสุข ท่ามกลางการทำงานในพื้นที่สีแดง” คำกล่าวของหมอหนุ่มเพราะครอบครัวของคุณหมอนั้นไม่เห็นด้วยที่จะไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ทุกคนลงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงถึงขนาดนั้นและขอให้ย้ายกลับไปทำงานที่จังหวัดชุมพร
        “ทุกครั้งที่เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นและปรากฏในสื่อต่างๆ พ่อกับแม่จะนอนไม่หลับทุกครั้ง แต่สำหรับผมแล้วคนในพื้นที่ไม่ได้น่ากลัว หรือโหดร้ายอย่างที่ว่ากัน ถึงแม้เขาจะแตกต่างทั้งภาษา ศาสนา และวิถีชีวิต แต่เป็นคนไทยเหมือนกัน อีกทั้งพวกเขายังขาดโอกาสในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นความตั้งใจของผมตั้งแต่เลือกเรียนแพทย์แล้วว่าอยากดูแลรักษาผู้ป่วยที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้”
          โดยปกติแล้วทุกวันนี้ ผู้คนมักจะคิดว่าถ้าเลือกทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ๆมีชื่อเสียง จะมีโอกาสก้าวหน้าทางด้านการงาน แต่สำหรับหมอวรวุฒิแล้ว เขาเห็นว่าโรงพยาบาลเล็กๆ ทำให้ได้รับโอกาสต่างๆมากมาย ทั้งเรื่องการทำงาน การเรียนรู้งานหลายอย่าง นอกจากการตรวจรักษาผู้ป่วยเพราะการเป็นแพทย์ประจำเพียงคนเดียวต้องรับงานด้านคลีนิคเกือบทุกคลีนิค ทำให้ต้องค้นคว้าหาความรู้เข้าร่วมประชุมวิชาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำความรู้ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ ต้องทำงานพัฒนาคุณภาพอย่างอื่น เช่น งานควบคุมการติดเชื้องานวิชาการ และประชาสัมพันธ์ งานเวชระเบียน ซึ่งไม่ได้มีในตำราแพทย์
อีกด้าน คือ การทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งงานด้านนี้ได้ให้ประสบการณ์ที่ล้ำค่ามากมายและหาไม่ได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น ได้รับการยอมรับและความศรัทธาจากชาวบ้าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมในงานสำคัญทางศาสนาอย่างเทศกาลถือศีลอด วันฮารีรายอ งานเข้าสุหนัต งานแต่งงาน งานบุญในหมู่บ้าน ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยและสร้างความเป็นกันเอง ยอมรับถึงความแตกต่างที่มีต่อกันอย่างกลมกลืน
         “โรงพยาบาลกะพ้อมีหมอสองคนมาตลอด ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ ผู้ป่วยนอก 80 คนต่อวัน ถือว่าเยอะแล้ว แต่วันนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มเป็นทวีคูณ เฉลี่ย 160 คนต่อวัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องมาช่วยตรวจตลอดทั้งวัน และบ่อยครั้งที่หมอวรวุฒิต้องตรวจคนเดียว “มีคนเคยถามผมว่าเหนื่อยไหม? ที่ต้องตรวจผู้ป่วยทั้งวันผมจะตอบว่าเหนื่อยแค่กาย นอนพักตื่นมาก็หาย แต่หมอไม่เคยเหนื่อยใจเลย ซึ่งความรู้สึกนี้ผมว่าคงไม่ต่างกับผู้อำนวยการที่ต้องอยู่คนเดียวเวลาที่ผมไปประชุม และสิ่งที่ทำให้ผมอยากทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อ คือความผูกพัน ไม่ว่าความผูกพันกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ความผูกพันระหว่างญาติกับผู้ป่วย
          “มีตัวอย่างคนไข้มาเล่าให้ฟังเป็นประสบการณ์ที่ผมประทับใจทุกวันที่มาทำงาน ผู้ป่วยติดเชื้อระยะสุดท้ายเป็นผู้ป่วยชาย มีลูกชายวัย 5 ขวบ ที่ไม่ได้รับเชื้อ และภรรยาเป็นคนมารับยาตลอด ผมดูแลครอบครัวนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงาน จนวันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เขาพูดว่า ‘ถ้าลูกชายโตขึ้นและมีบุญได้เรียนสูงๆ อยากให้ลูกเรียนแพทย์เหมือนกับหมอ ที่ดูแลและเข้าใจเขามาตลอด’ ผมยิ้มทั้งน้ำตาแล้วบอกว่า ถึงแม้ว่าจะทำงานอะไร ขอให้เขาโตขึ้นเป็นคนดีและรับผิดชอบต่อสังคมก็เพียงพอแล้ว”
          ยังมีเรื่องเล่าอีก ว่าครั้งหนึ่งคุณหมอได้เป็นผู้ป่วย เพราะเป็นโรคไข้เลือดออก แต่ต้องมาอยู่เวรที่โรงพยาบาล และต้องตรวจคนไข้ไปด้วย ขณะที่ตัวเองนั้นมีสายน้ำเกลือคาอยู่ที่มือ หลังจากนั้นช่วงบ่าย มีหมออีกคนช่วยอยู่เวรแทน ทำให้ได้พักผ่อนที่ห้องพิเศษ ระหว่างนั้นมีผู้ป่วยรายหนึ่งป่วยด้วยโรคหัวใจวายชนิดรุนแรง มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ขาบวม ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา เมื่อผู้ป่วยรายนี้ทราบว่าหมอวรวุฒิไม่สบายได้พูดกับพยาบาลว่า “ถ้าผมเดินไหว ผมจะเดินไปเยี่ยมหมอ””พยาบาลมาเล่าเรื่องของผู้ป่วยรายนี้ให้ฟัง ผมจึงเกิดคำถามว่าทั้งๆ ที่เรายังพอมีแรงเดินได้ ทำไมเราไม่ไปเยี่ยมเขา จึงตัดสินใจไปเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่สบายอยู่ ทำให้เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นว่าความเจ็บป่วยนั้นมันทรมานเหลือเกิน ขนาดเราไม่สบายด้วยโรคไข้เลือดออก ยังรู้สึกทรมานมากขนาดนี้ แล้วผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องนอนรอความตาย เขาต้องทนทรมานกับความเจ็บปวดมากกว่าอีกกี่ร้อยพันเท่า”
           หมอวรวุฒิบอกถึงความรู้สึก ว่าหากถามว่าคิดจะออกนอกพื้นที่หรือไม่?คงมีเหตุผลเดียวที่ต้องย้าย คือกลับไปดูแลครอบครัวที่จังหวัดชุมพรเนื่องจากพ่อแม่อายุมากแล้ว ซ้ำยังมีโรคประจำตัว แต่โชคดีที่ขณะนี้ พี่ๆน้องๆ ช่วยกันดูแล ทำให้สามารถทำงานที่โรงพยาบาลกะพ้อได้อย่างเต็มที่
        “ในความคิดของผม การทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชน ต่างมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน ส่วนรางวัลตอบแทนที่ได้มา ก็เป็นกำลังใจให้มุ่งมั่นทำงานในพื้นที่ต่อไป แม้จะต้องมาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายแต่ไม่เคยคิดว่านั่นเป็นอุปสรรคในการทำงาน”
          คุณหมอเจ้าของรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ตบท้ายว่า…”คุณค่าของวิชาชีพแพทย์ คือ การได้ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ และเป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างความดีได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องดิ้นรนหรือแสวงหาโอกาส”–จบ–

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.