
“ป่วน” ชื่อนี้มีแต่ปัญหา

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ดังที่เห็นในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ลองมาเรียนรู้อารมณ์ 5 แบบที่เกิดขึ้นกับเราไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งความอยาก ความโกรธ ความเหงา ความฟุ้งซ่าน และความลังเลใจ ซึ่งหากรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านี้แล้วสามารถจัดการกับมันได้อย่างดี ก็จะช่วยกันลดปัญหาในสังคมได้
เรื่อง : วิรงรอง พรมมี
อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมากมาย แต่ครั้นจะให้ทุกคนเข้าวัดนั่งฟังพระเทศนาสั่งสอนธรรมะเหมือนคนสมัยก่อนก็คงเป็นไปไม่ได้ เครือข่ายพุทธิกา จึงได้จัดโครงการ “มหกรรมป่วน 2” ขึ้น ณ ห้องโถงกิจกรรมชั้น 1 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ เพื่อให้วัยรุ่นและผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้อารมณ์ของตนเอง รวมถึงรู้วิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นด้วยตัวเองผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จากฐานกิจกรรมต่างๆที่ทั้งสนุกและให้ข้อคิด
ตัวป่วนเหล่านั้น แท้จริงแล้วก็คือ “นิวรณ์ 5” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดี ได้แก่
1.อยาก (กามฉันทะ) หมายถึง อยากได้ อยากเอา ในรูปรส กลิ่น สัมผัสที่น่าปรารถนา ความอยากที่เน้นเรื่องการติดใจ พอใจ ในสิ่งต่างๆโดยเฉพาะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ชอบและใหม่เสมอๆ อยู่นิ่งกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่ได้ ต้องวิ่งไปหาอารมณ์แบบอื่นๆ อยู่เรื่อย ไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่เรื่อยไป
วิธีจัดการเพื่อนตัว “อยาก” : พิจารณาถึงความจำเป็นในสิ่งที่อยากได้ , มีสติรู้เท่าทันความอยากที่เกิด , จำกัดเงินในการซื้อของ , รู้จักความพอเพียง , เห็นความไม่ยั่งยืนในทุกสิ่ง
2.โกรธ (พยาบาท) หมายถึง ความกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง อารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจชีวิต เห็นคนอื่นเป็นศรัตรู ขี้โมโห ขัดใจไปหมด ทำใจเย็นได้ยาก
วิธีการจัดการเพื่อนตัว “โกรธ” : เลี่ยงออกจากสถานการณ์นั้น , ร้องเพลงปลดปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงเพลง , ดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำลดอุณหภูมิความร้อนในใจ , ส่องกระจกให้เห็นตัวโกรธของเรา , หาเพื่อนรับฟังระบายความโกรธของเรา
3.เหงา หรือเซ็งและซึม (ถีนมิทธะ) หมายถึง อาการเซ็งและซึมๆ แยกเป็นทางกายกับใจ อาการทางกาย คืออาการเซื่องซึม ง่วง อืดอาด มึนๆ อาการทางใจ คือความหดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ เหงาและหงอย อาการทั้งสองอย่างทำให้ขาดความเพียรพยายาม
วิธีจัดการเพื่อนตัว “เหงา” : อยู่กับโลกแห่งความจริง , ไม่สร้างบรรยากาศให้ยิ่งเหงา , สร้างแรงบันดาลใจกับสิ่งที่ทำ , ยินดีพอใจกับสิ่งที่ทำ , ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมจะได้ไปเจอเพื่อนใหม่ๆ
4.ฟุ้งซ่าน และวุ่นวายใจ (อุทธัจจกุกกุจจะ) หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่ตรงกันข้าม กับความเหงา ความฟุ้งซ่านแบบที่ใจมันวิ่งพล่าน ไม่หยุดนิ่ง คิดเห็นอะไรก็ไม่ชัดเจน กับความวุ่นวายใจ ที่รู้สึกมันมีอะไรทำให้ใจมันรำคาญ ระแวง กลุ้มกังวล ทั้งสองอย่างทำให้ใจมันหมุนไปมาไม่รู้จักหยุด
วิธีจัดการเพื่อนตัว “ฟุ้งซ่าน” : อย่าเอาแต่คิด ลงมือทำเลย , เลิกตั้งคำถาม , อยู่กับปัจจุบัน ,คิดทีละเรื่อง , เอาใจจดจ่อ , ตะโกนคำว่าหยุดในหัว
5.ลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) หมายถึง ความสงสัยหรือไม่แน่ใจกับเรื่องต่างๆ ที่เขาว่าดีมีคุณค่า (ให้คุณค่ากับเรื่องดีๆไม่ได้) ลังเลไม่รู้จะเชื่อตามดีหรือไม่ ลังเลไม่รู้จะปฏิบัติตามดีหรือเปล่า อันนี้ดีไหม อันนั้นดีไหม ต้องตกอยู่บนทางแยกอยู่ตลอดเวลา
วิธีจัดการเพื่อนตัว “ลังเล” : กล้ายอมรับผลของการตัดสินใจ , สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง/กล้าลอง , อย่าคิดมาก/อย่าคิดนาน/ทำเลย , หาข้อมูลให้ชัดเจน
หากทุกคนกำจัด “ตัวป่วน : อยาก โกรธ เหงา ฟุ้งซ่าน ลังเล” เหล่านี้ออกจากชีวิตได้ รับรองว่าชีวิตของทุกๆคนจะมีปัญหาน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน จากนั้นก็แนะนำคนในครอบครัว เมื่อครอบครัวดี สังคมก็จะดีตามไปด้วย